.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาชื่อจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่มาชื่อจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ





ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 20 จังหวัด โดยมีรายชื่อจังหวัดดังนี้


1. จังหวัดนครราชสีมา

สมัยประวัติศาสตร์ ได้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้าง เมืองโคราช หรือ นครราช อยู่ในบริเวณเดียวกัน และ มีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญของขอมในบริเวณนี้
มีผู้เสนอว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ เมืองนครราช คือเมืองเดียวกันกับเมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองพระนครหลายประการ นอกจากนี้รูปสลักกองทัพชาวสยามบนระเบียงด้านหนึ่งของ นครวัด อาจเป็นชาวสยามจากลุ่มแม่น้ำมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราช และยังมีการกล่าวถึงเมืองนครราชสีมาในพงศาวดารของกัมพูชาหลายครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีมุมมองอีกด้านหนึ่งก็ว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร, ราช และ สีมา หมายความว่า "เมืองใหญ่อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร" (ราช+สีมา) ส่วนคำว่า โคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หฺราด , ไทยกลาง: โค-ราด, เขมร: โก-เรียช ) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก นครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หฺราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมาแบบย่อ ๆ ของชาวบ้าน) หรือ อังกอร์เรียจ ต่อมาลดรูปเป็น กอร์เรียจ และเพี้ยนเป็นโคราช ในที่สุด และไม่ได้เพี้ยนมาจากชื่อเมืองโคราฆปุระ (Gorakhpur) ที่เป็นชื่อเมืองสมัยใหม่ในแคว้นเดียวกับเมืองอโยธยา (Ayodhya) ในอินเดีย ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เนื่องจากตั้งอยู่เป็นบริเวณที่เป็นชายขอบระหว่างรัฐที่มีอำนาจ เป็นรัฐกันชน นครราชสีมาจึงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอยู่เสมอ เช่น ระหว่างสยามกับกัมพูชา หรือ ระหว่างสยามกับล้านช้าง หรือ ในบางครั้งได้มีความพยายามที่จะตั้งตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด เฉกเช่นเดียวกับบรรดาเมืองใหญ่อื่น ๆ
             ในสมัยเจ้าสามพระยา อยุธยาสามารถเอาชนะกัมพูชาได้ รวมทั้งได้ทำการรวบรวมหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำมูลเข้ามาอยู่ในอำนาจ เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้สืบราชสมบัติต่อมามีการจัดระดับเมืองพระยามหานคร 8 หัวเมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองสำคัญในขอบขัณฑสีมา และได้ดำรงความสำคัญสืบต่อมาในประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตามระบบระบบบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย เจ้าเมืองนครราชสีมานับเป็นขุนนางระดับสูงมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ มีศักดินา 10,000 ไร่
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพเมืองนครราชสีมาได้ถูกมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการโจมตีเมืองเสียมราฐ และภาคตะวันออกของทะเลสาบจนได้ชัยชนะเหนือพระยาละแวก ในที่สุด
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่านคราชสีมา เป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาติดกับพรมแดนลาว (เข้าใจว่าเลยลำสะแทด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย) จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมี เดอ ลามาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า "เมืองนครราชสีมา" โปรดให้พระยายมราช (สังข์)เป็นเจ้าเมือง ในคราวเดียวกันกับที่แต่งตั้ง เจ้าพระยารามเดโช เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
เดอ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานและบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ ว่า เมืองโคราชสีมา(Corazema) เป็นหัวเมืองใหญ่ 1 ใน 7 มณฑล ตั้งอยู่ติดชายแดนของราชอาณาจักรสยามกับเมืองลาว มีเมืองบริวาร 5 เมือง

2. จังหวัดอุบลราชธานี



เมื่อปีพุทธศักราช 2228 เกิด วิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เพราะกลุ่มจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้น เมืองเจ้านครเชียงรุ้งคือ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำ ได้อพยพไพร่พลมาขอพึ่งบารมีพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ของเวียงจันท์ จึงโปรดให้นำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า “นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน”
ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดาได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอซึ่งมีความสำคัญต่อเมืองอุบลราชธานีอย่างยิ่ง เพราะต่อมา ปีพุทธศักราช 2314 เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเวียงจันท์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ ขอบุตรธิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ เจ้าสิริบุญสาร จึงส่งกองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้ และกองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปหลายครั้ง
         การรบระหว่างเวียงจันทร์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กินเวลายาวนานถึง 3 ปี ไม่มีผลแพ้ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยมีเงื่อนไขเวียงจันทร์ยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสารรบ เมื่อฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วยโดย แรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) และการสู้รบในครั้งสุดท้าย เจ้าพระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตรชายคนโต พร้อมด้วยพี่น้องคือ นางอูสา นางสีดา นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ “ดอนมดแดง” พร้อมขอพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการตั้งเมืองใหม่ จึงให้อัคฮาดหำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีเจ้าพระวอสู้ไม่ได้ และเสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องจึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม พร้อมมีใบบอกลงไปที่เมืองนครราชสีมา และกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งให้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพมาช่วยเจ้าคำผง ด้านพญาสุโพรู้ข่าวศึกของเจ้ากรุงธนบุรี จึงสั่งถอยทัพกลับเวียงจันท์ แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เดินทัพติดตามทัพเวียงจันทร์ จนสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พร้อมคุมตัวเจ้าสิริบุญสารไปกรุงธนบุรี ส่วนเจ้าคำผงหลังเสร็จศึกได้กลับไปตั้งเมืองอยู่ที่ดอนมดแดงเหมือนเดิม กระทั่งปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เจ้าคำผงจึงอพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนห้วยแจระแม (ปัจจุบัน คือบ้านท่าบ่อ) รอจนน้ำลด แล้วจึงหาทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ที่ที่ตำบลบ้านร้าง เรียกว่า ดงอู่ผึ้งริมฝั่งแม่น้ำมูลอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2320 พร้อมกับได้สร้างพระอารามหลวงขึ้นเป็นวัดแรก
       ต่อมาปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งเป็น  เมืองอุบลราชธานี พร้อมให้เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองในราชทินนาม “พระประทุมราชวงศา” เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร โดยเป็นคณะอาญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบลราชธานี จนถึงกาลเปลี่ยนแผ่นดินปีพุทธศักราช 2334 สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ สามารถจับอ้ายเชียงแก้วได้ และทำการประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ
ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช แต่งตั้งให้พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมือง “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช”

3. จังหวัดขอนแก่น


    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2340 หลังจากนั้นเมืองขอนแก่นได้โยกย้ายที่ตั้งไปมาอยู่หลายครั้งภายในบริเวณ พื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 มีการย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น (ซึ่งก็คือศาลากลางหลังเก่าในปัจจุบัน) และเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำเรียก "เมือง" เป็น "จังหวัด" และในปี พ.ศ. 2507

ที่มาชื่อขอนแก่น
     เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก
             ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์ แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี
          ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้



4. จังหวัดบุรีรัมย์


      ชื่อเมืองบุรีรัมย์ไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา และธนบุรีเฉพาะชื่อเมืองอื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เมืองนางรอง เมืองพุทไธสง และเมืองประโคนชัย
     พ.ศ. ๒๓๑๙ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี กรมการเมืองนครราชสีมา มีใบยอกเข้ามาว่าพระยานางรองคบคิดเป็นกบฏร่วมกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบจับตัวพระยานางรองประหารชีวิตและสมทบเจ้าพระยาสุรสีห์
(สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตปอ ได้ทั้ง ๓ เมือง ประหารชีวิต เจ้าโอ เจ้าอิน อุปฮาด เมืองจำปาศักดิ์ แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุบ สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้นในเขตขอมร้า เรียกว่า เมืองแปะ แต่งตั้งบุรีรัมย์บุตรเจ้าเมืองผไทสมัน ( พุทไธสง ) ให้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครภักดี ประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือต้นราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็น " บุรีรัมย์ "ปลว่า  " เมืองที่น่ารื่นรมย์ " ด้วยปรากฎว่าได้มีการแต่งตั้ง พระสำแดงฤทธิรงค์เป็นพระนครภักดีศรีนครา ผู้สำเร็จราชการเมืองบุรีรัมย์ขึ้น เมืองนครราชสีมาใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมืองบุรีรัมย์และเมืองนางรองผลัดกันมีความสำคัญเรื่อยมา
            พ.ศ. ๒๔๓๓ เมืองบุรีรัมย์โอนขึ้นไปขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีหนองคายเป็นศูนย์กลาง และเมืองบุรีรัมย์มีเมืองในสังกัด ๑ แห่ง คือเมืองนางรอง ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๔๑ เมืองบุรีรัมย์ได้กลับไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาเรียกว่า
" บริเวณนางรอง " ประกอบด้วย เมืองบุรีรัมย์ นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง
           พ.ศ. ๒๔๔๒ มีประกาศเปลี่ยนชื่อมณฑลลาวเฉียงเป็น มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลลาวเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลเขมร เป็นมณฑลตะวันออกและในคราวนี้เปลี่ยนชื่อ บริเวณนางรองเป็น " เมืองนางรอง " มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองบุรีรัมย์ แต่ตราตำแหน่งเป็นตราผู้ว่าการนางรอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น " บุรีรัมย์ " และเปลี่ยนตราตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นต้นมา

5. จังหวัดอุดรธานี

 จังหวัดอุดรธานีเดิมชื่อบ้านเดื่อหมากแข้ง มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2436 เนื่องจากกรณี ร.ศ. 112 ไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 ไทยยอมสละกรรมสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะทั้งหลายในแม่น้ำโขงและตามความในสัญญาข้อ 3 ในสัญญาอาณาเขตริมฝั่งแม่น้ำโขง บรรดาป้อมค่ายคูจะต้องรื้อถอนให้สิ้น ภายในหนึ่งเดือน ห้ามมิให้ประเทศสยามตั้งกองทหาร ในรัศมี 25 กิโลเมตร จากฝั่งแม่น้ำโขงไทยจะส่งคนที่มิใช่คนท้องถิ่น (Local Man) เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ มิได้ให้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นย่านการค้าเสรี จะเก็บภาษีขาเข้าใดๆ ไม่ได้ แม้กระทั่งจะตกปลา ถ้าฝ่าฝืนก็ถูกเอาตัวเข้าไปขังคุกที่เวียงจันทน์ด้วยเหตุผลดังกล่าว
             ในปี พ.ศ. 2436 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ซึ่งเดิมตั้งอยู่เมืองหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขงมาตั้งอยู่ริมหนองนาเกลือตั้งอยู่บ้านเดื่อหมากแข้ง (มะเขือพวง) ขนาดใหญ่กว่าปกติธรรมดาอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดมัชฌิมาวาสปัจจุบัน จึงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหมากแข้ง” ส่วนหนองนาเกลือในสมัยต่อมาเรียกว่า “หนองประจักษ์” และเรียกค่ายทหารว่า “ค่ายหมากแข้ง” จากหนังสือประวัติวัดมัชฌิมาวาส กล่าวไว้ว่า การย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวน มายังบ้านเดื่อหมากแข้งนั้น ผู้เฒ่า ผู้แก่เล่าไว้ว่าต้องใช้เกวียนประมาณ 200 เล่ม เป็นพาหนะได้ออกเดินทางรอนแรมมาโดยลำดับถึงน้ำสวย (ซวย หมายถึง ปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า น้ำสวย) เสด็จในกรมฯ ได้ให้ตรวจดูพื้นที่ เพื่อจะได้ตั้งกองบัญชาการ แต่เมื่อตรวจดูโดยถ้วนถี่แล้วเห็นว่ามีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ สูงๆ ต่ำๆ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ในโอกาสข้างหน้า และตั้งอยู่จากฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น เสด็จในกรมฯ ท่านให้เดินทางจนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง จึงได้พักกองเกวียน อยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่ตั้งที่ทำการสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี จึงได้ให้ออกสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง ในบริเวณใกล้เคียงทางทิศตะวันออก มี หนองบัวกลอง หนองเหล็ก ทางทิศใต้มี หนองขอนขว้าง ตะวันตกมี หนองนาเกลือ หนองวัวข้อง หนองสวรรค์ และทิศเหนือมี หนองสำโรง หนองแด และมีลำห้วยหมากแข้ง ซึ่งมีต้นน้ำจากภูพาน มีน้ำใสสะอาดมีป่าไผ่ปกคลุม มีปลา เต่า จระเข้ ชุกชุมมาก ลำน้ำนี้ไหลผ่านจากทิศใต้สู่ทิศเหนือลง ลำห้วยหลวง เสด็จในกรมฯ จึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการ สร้างบ้านแปลงเมืองลง ณ พื้นที่ดังกล่าวนี้
         อย่างไรก็ตามว่า "อุดร" มาปรากฎชื่อเมือง พ.ศ.2450 (พิธีตั้งเมืองอุดรธานี 1 เมษายน ร.ศ. 127พ.ศ. 2450 โดยพระยาศรีสุริยราช วรานุวัตร "โพธิ์ เนติโพธิ์") พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้งอยู่ในการปกครองของมณฑลอุดร
       หลังการเปลื่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาคยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่านั้นมณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียงจังหวัด "อุดรธานี" เท่านั้น

6. จังหวัดศรีสะเกษ


       จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยขอม จะเห็นได้จากโบราณสถานสมัยขอมที่ยังปรากฏอยู่ แต่ต่อมาขอมได้เสื่อมอำนาจลงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวไทยพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ได้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๒๕๖ และได้แยกย้ายกันออกไป ๖ กลุ่ม กลุ่มที่มี “ตากะจะ” และ”เชียงขัน” ได้มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโคกลำดวน
     ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้โปรดเกล้าฯ ยกบ้านโคกลำดวนหรือบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดี ศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ต่อมาเมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองขุขันธ์” ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยพระเจ้าธนบุรี หลังจากเสร็จสงครามกับเวียงจันทน์ มีความชอบจึง โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนและในปีเดียวกันนั้น เจ้าเมืองขุขันธ์ถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปราบ (เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ ต่อมาเมืองขุขันธ์กันดารน้ำ จึงอพยพย้ายไปตั้งเมืองอยู่บ้านแตระ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน
      ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขอตั้งบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ขึ้นเป็น “เมืองศรีสะเกษ” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีภูธรสงครามเป็นพระยารัตนวงศา เจ้าเมืองศรีสะเกษ ขึ้นกับเมืองขุขันธ์
        ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ได้ย้ายที่ทำการเมืองขุขันธ์มาตั้งอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ (ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ) แต่ยังคงใช้ชื่อว่าเมืองขุขันธ์ และยุบเมืองขุขันธ์เดิมเป็นอำเภอห้วยเหนือ (อำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน) ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนชื่อ
มณฑลอีสาน เป็นมณฑลอุบล มีเมืองขึ้นตรงต่อมณฑลนี้ ๓ เมือง คือ อุบลราชธานี ขุขันธ์ และสุรินทร์ จึงรวมเมืองศรีสะเกษ ขุขันธ์ และเดชอุดม เป็นเมืองขุขันธ์ โดยมีศาลากลางอยู่ที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ
      ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลได้เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์เป็นจังหวัดขุขันธ์ และในปี พ.ศ.๒๔๘๑ได้เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์เป็น จังหวัดขุขันธ์ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์เป็นจังหวัดศรีสะเกษมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ศรีสะเกษ มีที่มาจาก

ตามตำนานพระนางศรีสระผม (ชื่อเดิม)  เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้)  ตามสันนิษฐานเข้าใจว่าเป็นราชธิดาของท้าวสุริยวรมันกับพระนางพิณสวัณคราวดี   ตำแหน่งเป็นอุปราชครองพิมานมงคลในแคว้นโคตรบูร   พระนางศรีสระผมเป็นผู้อำนวยการสร้างปราสาทสระกำแพง  เป็นผู้รู้วิชานาฎศิลปะ  ชำนาญการฟ้อนรำ ทรงเป็นครูฝึกหัดการฟ้อนรำ  ทรงเป็นประธานในพิธีถวายเทวาลัยปราสาทสระกำแพง พระนางศรีฯ ได้เข้าพิธีสรงสนานลงอาบน้ำสระผมในสระกำแพง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศสวยงาม  มีดนตรีบรรเลง   ทรงฟ้อนรำบวงสรวงเดี่ยวหน้าเทวรูปพระวิษณุ  อัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ศักดานุภาพมารับมอบเทวาลัยเป็นที่สิงสถิต คนทั่วไปได้ซาบซึ้งและระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงได้เรียกขานว่าพระนางศรีสระผม ต่อมาพระบาท-สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าพระราชทานให้ตั้งเมืองใหม่   แยกจาก เมืองขุขันธ์  ชื่อว่า เมืองศรีสะเกษ   เพื่อเป็นการให้เกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระนางศรีสระผม


7. จังหวัดสุรินทร์



   สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่แน่นอน ว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอด จนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมาโดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปี ล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้างจน กลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2306 จึงปรากฏหลักฐานว่าหลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่ หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้ง เมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มี น้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมา หลวงสิรินทรภักดีได้กระทำความดีความ ชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น "เมืองประทายสมันต์" และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง

8. จังหวัดร้อยเอ็ด


       เมืองร้อยเอ็ด เคยเป็นแหล่งอารยธรรมยุคประวัติศาสตร์ตามหลักฐานทางโบราณคดี ตำนาน อุรังคธาตุได้เล่าว่ามีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่ออาณาจักร กุลุนฑะนคร มีเมืองหลวงชื่อ สาเกตุ มีเจ้าผู้ครองนคร ชื่อพระเจ้ากุลุนฑะ เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมีเมืองขึ้น 11 เมือง เมืองนี้มีกุศโลบายทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ คือ ขุดคูน้ำคันดินเป็นกำแพงสูงรอบเมืองตลอดแนว ตัดถนนเจาะช่องทางเข้าเมืองเท่ากับ จำนวนเมืองขึ้น 11 เมือง เป็น 11 ประตู (เดิมเขียน 10, 1 หรือสิบหนึ่ง) สมัยผาแดง เกิดศึกชิงนางไอ่ จนถึงพระขอมธรรมาธิราช ทำลายอาณาจักรกุลุนฑะลงได้ สาเกตุนครจึงกลายเป็นเมืองร้าง มีต้นกุ่มขึ้นทั่วไปในเมือง และตามคูเมืองจนได้ชื่อ เรียกว่า “เมืองกุ่มฮ้าง”
        ปี 2256 พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์ครองเมืองจำปาศักดิ์ ได้ให้ “จารย์แก้ว” คุมไพร่พลมาครอบครองอยู่ “เมืองทุ่ง”(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ) และได้เป็นเจ้าเมืองต่อมาจนถึงสมัย “ท้าวทน” จึงย้ายเมืองไปตั้งที่ “เมืองคงท้าวสาร” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเมือง “สุวรรณภูมิ”
     สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ยก “บ้านกุ่มฮ้าง”ขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ดและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ท้าวทน” เป็น “พระขัติยะวงษา” เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ต่อมาได้มีเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรมฤค เมืองธวัชบุรี เมืองจตุรพักตรพิมาน 

ปี 2433 มีการจัดการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น 4 บริเวณ ร้อยเอ็ดเป็นบริเวณหนึ่งที่ขึ้นต่อเมืองอุบลและนครจำปาศักดิ์
ปี 2434 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แบ่ง เป็น 2 มณฑล คือ มณฑลลาวพวน กับมณฑลลาวกาว
ร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑล “ลาวกาว” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือและมณฑลอีสาน ตามลำดับ
ปี 2455 มณฑลอีสาน แยกเป็น 2 มณฑล ได้แก่ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
ปี 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง การปกครอง ยุบมณฑลต่างๆ มณฑลร้อยเอ็ด จึงถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบัน

9. จังหวัดชัยภูมิ

    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมืองเวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามา ประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยา เส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า ชัยภูมิ เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด

“เมืองชัยภูมิ” ปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปีพ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก

10. จังหวัดสกลนคร

คำว่า "สกลนคร" มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต สกล (สะ-กะ-ละ) หมายความว่า โดยรวม ครอบคลุม หรือทั้งหมด และ คำว่า "นคร" (นะ-คะ-ระ) หมายถึงแหล่งที่อยู่ หรือเมือง ดังนั้นชื่อที่แท้จริงของเมืองหมายความว่า "นครแห่งนครทั้งมวล" (City of cities)
สกลนครเดิมชื่อ เมืองหนองหานหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โดยขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ซึ่งได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่มาจากเมืองเขมร มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหานหลวง บริเวณท่านางอาบ ปัจจุบันเรียกว่าท่าศาลา อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีเจ้าปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เมื่อเกิดฝนแล้งทำให้ราษฎรอพยพไปเมืองเขมร เมืองหนองหานหลวงจึงร้างอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสกลนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เชียงใหม่หนองหาน" หรือเมืองสระหลวงหลังจากนั้นเมืองสกลนคร คงอยู่ใต้การปกครองกันไปมา ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรสุโขทัย และไม่ค่อยมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นนัก จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้คนกระจัดกระจายเป็นชุมชนเล็กๆทำมาหากินตามริมหนองหาน จ่ายส่วย อากรให้เจ้าแขวงประเทศราชศรีโคตรบอง เพื่อถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองให้แก่ราชธานีกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น
จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปี โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง ปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำไปเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีบ้าง เมืองประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาองค์พระธาตุเชิงชุมแต่เพียงพวกเพี้ยศรีคอนชุม ตำบลธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยาง และบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น
ในสมัยต่อ ๆ มาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์คำเป็นพระยาประเทศธานี (คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น เมืองสกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึง พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองเมืองสกลนคร จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคมณฑลเทศาภิบาล โดยส่วนกลางส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก และมีพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก


11. จังหวัดกาฬสินธุ์



                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” หรือ “เมืองน้ำดำ” ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล “กาฬ” แปลว่า “ดำ” “สินธุ์” แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์จึงแปลว่า “น้ำดำ” 
          สมัย กรุงธนบุรีประมาณ พ.ศ.2310 พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสนได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์และได้สถาปนา ขึ้นเป็น พระเจ้าแผ่นดินสืบแทน ทรงพระนามว่า    "พระเจ้าศิริบุญสาร" พ.ศ. 2320 ท้าวโสมพะมิตร และ อุปราชเมืองแสนฆ้องโปง เมืองแสนหน้าง้ำเกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร จึงรวบรวมผู้คนอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาตั้งบ้านเรือนบริเวณลุ่มน้ำก่ำแถบบ้านพรรณา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) ต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา ท้าวโสมพะมิตรจึงอพยพต่อไปโดยแยกเป็น 2 สาย คือ
            สายที่ 1 มี เมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า อพยพไปทางทิศตะวันออกสมทบกับพระวอหลบหนีไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ขอพึ่งบารมี ของ   พระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ และตั้งบ้านเรือน ณ ดอนค้อนกอง ต่อมาเรียกว่า   "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าศิริบุญสาร  ให้เพี้ยสรรคสุโภย ยกกองทัพมาปราบ พระวอตายในสนามรบ ผู้คนที่เหลือจึงอพยพไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูล ชื่อว่า "ดอนมดแดง"   (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี) 
            สายที่ 2 มีท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า ได้อพยพข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ต่อมาท้าวโสมพะมิตร  ได้ส่งท้าวตรัยและคณะ ออกเสาะหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ใช้เวลาประมาณปีเศษจึงพบทำเลที่เหมาะสม คือบริเวณลำน้ำปาวและเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือยมีดิน น้ำอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและได้จัดตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง 
              พ.ศ. 2336 ท้าวโสมพะมิตรได้ นำเครื่องบรรณาการ คือ กาน้ำสัมฤทธิ์ เข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี และขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง ได้รับพระราชทานนามว่า "กาฬสินธุ์" และได้แต่งตั้งให้ ท้าวโสมพะมิตรเป็น  "พระยาชัยสุนทร"
           พ.ศ. 2437 สมัยพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล มี มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และให้เมืองกาฬสินธุ์ เป็น "อำเภออุทัยกาฬสินธุ์" ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด
           วันที่ 1 สิงหาคม 2456 ได้ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" ให้มีอำนาจปกครอง อำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอ กมลาไสย และอำเภอยางตลาด โดยให้ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด
            วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2474 จังหวัดกาฬสินธุ์ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และ 1 ตุลาคม 2490 ได้ยกฐานะเป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" จนถึงปัจจุบัน


12. จังหวัดมหาสารคาม


     มหาสารคามได้รับการแต่งตั้งเป็นเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2408 แต่ก่อนจะตั้งเป็นเมืองมหาสารคามนั้น บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์มานาน บางยุค บางสมัยก็รุ่งเรือง บางยุคสมัยก็เสื่อมโทรม ตามบันทึกของหลวงอภิสิทธิ์สารคาม (บุดดี) ตลอดจนประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคาม ของ บุญช่วย อัตถากร ระบุว่า ท้าวมหาชัย (กวด) พาผู้คนออกจากเมืองร้อยเอ็ดมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1,000 เส้น จึงหยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงย้ายมาตั้งระหว่างกุดยางใหญ่กับหนองท่ม ซึ่งเป็นที่ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว คือ บ้านจาน ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อยก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับว่าเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ เมืองมหาสารคามเมื่อแรกตั้งอยู่ในความดูแลบังคับบัญชาของพระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทาน “บ้านลาด กุดยางใหญ่” ขึ้นเป็นเมือง มหาสารคาม และให้ท้าวมหาชัย (กวด ภวภูตานนท์) เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง มีท้าวบัวทองเป็นผู้ช่วยขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด
         ราชสำนักได้มีสารตรามาถึงพระขัติยวงษา (จัน) ลงวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 ซึ่งตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม 2408 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธราภัย ฯ พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้าน แก่เมืองใดแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ขนานนามบ้านลาดกุดยางไย เป็นเมืองมหาษาร ตามพระราชทานนามสัญญาบัติ ประทับพระราชลัญจกอร ตั้งท้าวมหาไชยเป็นที่พระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาไชย ผู้เป็นที่พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม"

       พระเจริญราชเดช ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุลอันมีอนุชนสืบเนื่องมาหลายสาขา  คือ  ภวภูตานนท์  ณ มหาสารคาม, เจริญศิรฺ,อัตถากร  และ  สุวรรณเลิศ
     ชื่อมหาสารคาม สันนิษฐานว่า  หมายถึง เมืองต้นยางใหญ่ หรือหมายถึงบริเวณที่เต็มไปด้วยต้นยางใหญ่ (เสมือนไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในชมพูทวีป ที่พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพานใต้ร่มไม้สาละหรือต้นรัง)

13. จังหวัดนครพนม
             จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในดินแดนที่ราบสูง อดีตเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์อันรุ่งเรือง แรกทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้าย ของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับอำเภอพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีพุทธทำนายว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วเมืองศรีโคตรบูรณ์จักย้ายไปตั้งที่ “ป่าไม้รวก” มีนามว่า “เมืองมรุกขนคร” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าหมายถึง เมืองที่อยู่ในดงไม้รวก ตามสภาพภูมิประเทศที่สร้างบ้านแปงเมืองนั้นเองประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร เป็นกษัตริย์ผู้มีจิตศัรทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุง ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบมีงานฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร ซึ่งพระอุรังคธาตุได้แสดงปาฎิหารย์อัศจรรย์ยิ่ง ทำให้พญาสุมิตรธรรมบังเกิดความปิติโสมนัสมาก นอกจากถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 7 แห่งในเขตแดนนั้น เป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ หลังจากพญาสุมิตรธรรม มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ จนกลายเป็นเมืองร้าง
     
        กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขกบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ใน พ.ศ. 2057 สมัยพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น เมืองศรีโคตรบรูณ์ ตรงตามชื่ออาณาจักรเดิม ในสมัยนี้ยังมีการบูรณปฎิสังขรณ์พระธาตุพนมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2280 พระธรรมราชาเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือแล้วขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนคร จากนั้นมีการโยกย้ายชุมชนเมืองอีกหลายครั้ง พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร
         ในปี พ.ศ. 2333 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่ขึ้นว่า นครพนม ชื่อนครพนมนั้น มีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า เมืองนครเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้ใช้ชื่อว่า นคร ส่วนคำว่า พนม ก็มาจากพระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เดิมเมืองมรุกขนครตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า พนม ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ นครพนม จึงหมายความถึง เมืองแห่งภูเขา นั้นเอง

14. จังหวัดเลย


    ดินแดนซึ่งเป็นที่ก่อตั้งของจังหวัดเลย มีหลักฐานและประวัติความเป็นมาว่าก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้อพยพผู้คนจากอาณาจักรโยนกที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันจนถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย จากนั้นได้อพยพขึ้นไปตามลำน้ำและได้สร้างบ้านหนองคูขึ้น พร้อมกับนำชื่อหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่เป็นเมืองด่านซ้าย และอพยพไปอยู่ที่บางยางในที่สุด 

ต่อมามีชาวโยนกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ ของอาณาเขตล้านช้างอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้ง เมืองเซไลขึ้น จากหลักฐานสมุดข่อยที่มีการค้นพบเมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็น มาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัยขึ้นจึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลและได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น ขนานนามว่า "ห้วยหมาน"

ในปี 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 4 อำเภอ อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ในปี พ.ศ.2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และในปี 2450 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหืองให้คงเหลือไว้เฉพาะเมืองเลย โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น อำเภอเมืองเลย จนถึงปัจจุบัน 



15. จังหวัดยโสธร

     ประมาณปีพุทธศักราช 2314 พระเจ้าตา เจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวและบริวารหนีมาเพื่อตั้งรกรากใหม่ เนื่องจากไม่พอใจเจ้านครคนใหม่ โดยใช้ชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองหนองบัวลุมภู ขณะเดียวกัน พระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งเป็นเจ้านครเวียงจันทน์อยู่เกิดหวาดระแวงจึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระเจ้าตาถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธปืน และฟันด้วยดาบจนถึงแก่พิราลัยในที่รบ เจ้าพระวอ เจ้าคำผง และเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องทั้ง 2 ของเจ้าพระวอ อีกทั้งเจ้าก่ำ เจ้าทิดพรมได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากเมืองหนองบัวลุมภูไปพึ่งพาเจ้านครจำปาศักดิ์ ขบวนทัพของเจ้าพระวอได้เดินทางตามลุ่มน้ำชีมาพักกับเจ้าคำสูผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร ) ภายหลังต่อมาเจ้าพระวอดำริว่าหากอยู่กับเจ้าคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบาก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่ดอนวังกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวงเจ้านครจำปาศักดิ์ โดยเจ้าพระวอให้ขุดคูสร้างค่ายขึ้นเรียกว่าค่ายบ้านดู่บ้านแก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกจนเจ้าพระวอถึงแก่ความตาย เจ้าคำผงน้องเจ้าพระวอ และบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลเรียกว่าดอนมดแดง แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสม ที่จะสร้างเมืองจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูล ถึงห้วยแจระแมแล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง เมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่าเมืองอุบล เพื่อเป็นการรำลึกถึงเมืองเดิมของตน(เจ้าคำผง) คือเมืองหนองบัวลุมภู จากนั้นเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล และได้รับพระราชทินนามว่าพระปทุมสุรราช หลังจากนั้นต่อมา เจ้าฝ่ายหน้าน้องพระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบล พร้อมกับนางอูสา ไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ บ้านสิงห์ท่าซึ่งเจ้าคำสูปกครองอยู่ พระปทุมสุรราชไม่ขัดข้องจึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรือง

พ.ศ. 2325 หลังจากที่เจ้าฝ่ายหน้าได้ไปช่วยปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วเขาโองที่นครจำปาศักดิ์ ตามใบบอกของพระปทุมสุรราช เจ้าฝ่ายหน้าก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ตามบัญชาของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในปี พ.ศ. 2334 ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลฯ จึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้ ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศาเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน

พ.ศ. 2354 เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เจ้าหนู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์ ครองนครจำปาศักดิ์สืบไป ฝ่ายเจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาอยู่บ้านเดิมคือบ้านสิงห์ท่า และได้นำเอาอัฐิของเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาด้วย แนะนำมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ซึ่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน

พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองและพระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมืองมีราชทินนามว่า พระสุนทรราชวงศา เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร

(คำว่า ยศสุนทร ต่อมากลายเป็นยะโสธร มีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งยศ แต่การเขียนหรือการเรียกสั้น ๆ ว่า ยะโส ไม่เป็นที่ไพเราะหูและไม่เป็นมงคลนาม ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยะโสธร (พ.ศ. 2500 - 2513) ได้มีหนังสือขอให้เขียนชื่อเสียใหม่เป็น "ยโสธร" และได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของราชบัณฑิตยสถานให้เปลี่ยนได้ และใช้มาจนบัดนี้
พ.ศ. 2443 ได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรได้รวมเข้ากับเมืองอุบล โดยแยกออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอ คำเขื่อนแก้ว และอำเภอประจิมยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอยโสธร

ใน ปี พ.ศ. 2456 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธร เป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร เมืองยโสธร จึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2494 กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มขอตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัด จนกระทั่งถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 จึงได้มีประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515



16. จังหวัดหนองคาย

       ตัวจังหวัดหนองคายตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นป่าดงริมแม่น้ำโขง เรียกบ้านไผ่ ชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็ก มีป่าไผ่ขึ้นปกคลุมแน่นหนาอยู่ห่างไกลคนละฝั่งแม่น้ำโขงกับเมืองเวียงจันราชธานี

      แต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ พื้นที่บ้านไผ่และใกล้เคียงโดยรอบเป็นที่ลุ่มกว้างใหญ่ริมแม่น้ำโขง มีหนองบึงหลายแห่งกระจัดกระจายไป เช่น หนองกอก, หนองบัว, หนองบ่อ, ฯลฯ แต่มีแห่งหนึ่งชื่อ หนองคาย(จากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14 พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2542 หน้า 4915) ชาวบ้านไผ่ครั้งกระโน้นอาศัยหนองคายเป็นแหล่งน้ำและข้าวปลาอาหาร

    ต้น ปี พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์กบฏ ไม่ยอมขึ้นกับไทยอีก และได้ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนในเขตแดนไทยกลับไป ในการปราบกบฏดังกล่าว ท้าวสุวอธรรมาได้ยกทัพจากเมืองยโสธรมาช่วยกองทัพที่ยกไปจากกรุงเทพฯ จนสามารถมีชัยเหนือเจ้าอนุวงศ์และจับกุมตัวลงมากรุงเทพฯ ได้สำเร็จ รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทาน บำเหน็จให้ท้าวสุวอธรรมาเลือกทำเลที่จะสร้างเมืองขึ้นรวม 4 แห่ง ซึ่งในที่สุดท้าวสุวอธรรมา ได้เลือกสร้างเมืองที่บ้านไผ่ เรียกชื่อว่าเมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2370

พ.ศ.2434 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ให้เมืองหนองคายเป็นที่ตั้งมณฑลลาวพวน
พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ปกครองเมืองเวียงจัน เลยต้องย้ายที่ทำการมณฑลลาวพวนไปอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง เป็นมณฑลอุดรธานี
พ.ศ.2459 เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด แล้วยกเมืองหนองคายเป็นจังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ.2476

หนองคาย มาจาก หนองหมากคาย หมายถึง หนองน้ำที่มีต้นหมากคาย เป็นคำประสมของคำว่า หนอง กับ คาย
หนอง หมายถึง แอ่งน้ำมีน้ำขังเหมือนบึง(หรือบุ่ง) บางทีก็เรียกรวมกันว่า หนองบึง
คาย หมายถึง ลูกไม้ชนิดหนึ่งคล้ายลูกเงาะ กินได้ เรียก หมากคาย หรือ หมากคายเข้า



17. จังหวัดหนองบัวลำภู

        หนองบัวลำภูหรือในอดีตเรียกว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ตามตำนานพระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2302 โดยได้สร้างกำแพงเมือง มีค่ายคูประตูหอรบครบครันเพื่อป้องกันข้าศึก โดยเฉพาะข้าศึกจากทางเวียงจันทน์ คือ ได้สร้างกำแพงหิน หอรบขึ้นที่เชิงเขาบนภูพานคำ ซึ่งเป็นเส้นทางหน้าด่านใกล้กับบริเวณน้ำตกเฒ่าโต้ ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร
        ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้ส่งกองทัพมาปราบปราม เกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ สู้รบกันอยู่สามปียังไม่แพ้ชนะกัน ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วยเหลือจนสามารถตีเมืองนคร เขื่อนขันธ์ฯ ได้ พระวอ-พระตาจึงได้อพยพผู้คนหนีไปพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักร ล้านช้างจำปาสัก ในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอ-พระตาขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญ สารออกไป แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ครั้งนั้นได้ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมือง เชียงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้มาขึ้นอยู่กับไทย
        ในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชาเมืองใหญ่ 16 เมือง เมืองขึ้น 36 เมือง เรียกว่า เมืองลาวฝ่ายเหนือ และเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้ขึ้นอยู่กับเมืองหนองคายนั้น เจ้าเมืองหนองคายได้แต่งตั้งให้พระวิชโยคมกมุทเขตมาครองเมืองนครเขื่อน ขันธ์ฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองกมุทธาสัย จนในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอุดรเป็น 5 บริเวณ 
เมืองกมุทธาสัยถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้ง และในปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ
เมืองกมุทธาสัย เป็น เมืองหนองบัวลำภู ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ได้ถูกลดฐานะลงเป็น อำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุธกิจเป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอหนองบัวลำภูมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งยกระดับเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู ในปี พ.ศ. 2536


18. จังหวัดบึงกาฬ


         อำเภอบึงกาฬ เดิมเป็นตำบลหนึ่งในเขตการปกครองของอำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ซึ่งมีที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำสงคราม ต่อมาไม่ทราบชัดว่าปีใด ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บึงกาญจน์ริมฝั่ง ตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปี พ.ศ.2459 ทางราชการ ก่อสร้าง ที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่และโอนการปกครองอำเภอชัยบุรีมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย ส่วนบริเวณที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอชัยบุรีเดิมนั้น ทางราชการยุบมาเป็นตำบลอยู่ในเขตการปกครอง ของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 

       ปี พ.ศ.2475 ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอชัยบุรี พบว่า หมู่บ้านบึงกาญจน์ มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 160 เมตร ยาวประมาณ 3,000 เมตร 
ชาวบ้านได้อาศัยน้ำในบึงบริโภคและใช้สอย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป  ชาวบ้าน เรียก "บึงกาญจน์" เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทางการจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอชัยบุรีเป็น "อำเภอบึงกาญจน์" ตั้งแต่นั้นมา 

     ต่อมาปี พ.ศ.2477 ทางการเห็นว่าชื่อ “บึงกาญจน์” ที่แปลว่า น้ำทอง หรือบึงทอง นั้น ไม่เข้ากับสีของน้ำจริงที่ออกสีคล้ำ จึงคิดชื่อให้ใหม่ เป็น “บึงกาฬ” ที่แปลว่า น้ำดำ หรือ บึงดำ (กาฬ แปลว่า ดำ) แล้วใช้กันมาถึงปัจจุบันจึงเปลี่ยนชื่อ อำเภอบึงกาญจน์ เป็น"อำเภอบึงกาฬ" เพื่อความสะดวกและ เข้าใจง่าย 

19. จังหวัดอำนาจเจริญ


        เมืองอำนาจเจริญ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ โดยท้าวอุปราชเจ้าเมืองจำพรแขวงสุวรรณเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ได้อพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บ้านค้อใหญ่ ซึ่งก็คือบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ กิ่งอำเภอลืออำนาจปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองลืออำนาจ มีฐานะเป็นเมืองในความปกครองของนครเขมราฐ

   พ.ศ. ๒๔๑๐ พระอมรอำนาจ (เสือ อมรสิน) ผู้ครองเมืองอำนาจเห็นว่า ถ้าย้ายเมืองอำนาจมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จะสะดวกในการติดต่อราชการมากจึงได้มีใบบอกกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าตามที่ขอ ให้เมืองอำนาจขึ้นต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่นั้นมา

   สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามแบบอย่างยุโรป เมืองอำนาจได้เปลี่ยนฐานะเป็นเมืองอำนาจเจริญ อยู่ในความปกครองของมณฑลเทศาภิบาลปกครองท้องที่อุบลราชธานี ทางราชการได้แต่งตั้งท้าวพระยาในราชวงศ์มาปกครองเมืองอำนาจเจริญติดต่อกันมาโดยตลอด



20. จังหวัดมุกดาหาร



       เจ้าจันทรสุริยวงษ์และพรรคพวกได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรี ผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก

        เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก) เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)

        ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ(ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน (รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)

       ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระายาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร

      หลังจากนั้นได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบต่างๆ หลายครั้ง จนถูกยุบเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2525 ได้ให้อำเภอมุกดาหาร เป็นจังหวัดมุกดาหาร

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาชือจังหวัดทางภาคใต้

ที่มาชือจังหวัดทางภาคใต้



ภาคใต้ประกอบไปด้วยจังหวัดทั้งหมด 14 จังหวัด ดังนี้

1. จังหวัดกระบี่



จังหวัดกระบี่ ตั้งขั้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “แขวงเมืองปกาสัย” พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองฯ มาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาสัย และได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดเมืองฯ ได้ยกตำบลปกาสัยขั้นเป็น “แขวงเมืองปกาสัย” ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2443 สมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

ความหมายของคำว่า “กระบี่”
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางดาบหรือกระบี่ไขว้กัน ซึ่งลักษณะการวางดาบหรือกระบี่ไขว้ เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำจังหวัด คือรูปดาบไขว้ด้านหลังมีภูเขาและทะเล โดยบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่ใหญ่” บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่น้อย”
แต่มีอีกตำนานหนึ่ง สันนิษฐานว่า คำว่า “กระบี่” อาจเรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น “หลุมพี” จึงเรียกชื่อท้องถิ่นว่า “บ้านหลุมพี” ต่อมามีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายไดเรียกเพี้ยนเป็น “บ้าน-กะ-ลู-บี” หรือ “คอโลบี” นานๆ เข้าก็ได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า “กระบี่”

2. จังหวัดชุมพร


ชุมพร มีชื่อปรากฎมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองสิบ สองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง และเป็นเมืองหน้า ด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ในพุทธศักราช 1997 รัชสมัย แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฎในกฎหมายตราสามดวงว่าเมือง ชุมพร เป็นเมืองตรี อาณาจักรผ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครอง ระบอบมณฑลเป็นจังหวัด ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด

คำว่า "ชุมพร" มีผู้สันนิษฐานว่าจะมาจากคำว่า "ชุมนุมพล" เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านการเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือ หรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่าย ชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า "ชุมนุมพล" ต่อมาเพี้ยนเป็น "ชุมพร" อีกประการหนึ่งในการเดินทางไป ทำศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ตั้งแต่สมัยโบราณมา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพ โดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำ นี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า "ชุมนุมพร" เช่นเดียวกัน

แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นมากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจำจังหวัดชุมพร

3. จังหวัดตรัง



คำว่า “ตรัง” มีที่มาสรุป ได้ 2 ประการด้วยกัน คือ

1. บ้างก็ว่า ตรัง มาจากคำมลายู อ่านออกเสียง “เตอรัง” (Terang) หมายถึง ความสว่างสดใส เช่น เพลงไทยเดิมที่ชื่อ ตรังบุหลัน แปลว่า ความสว่างสดใสของแสงเดือน สาเหตุที่เรียกถิ่นดังกล่าวว่า ตรังหรือเตอรัง เนื่องจากในอดีตชาวมลายูคงแล่นเรือมาถึงลำน้ำตรังในยามท้องฟ้ารุ่งอรุณ หรือเริ่มสว่างพอดี
2. บ้างก็ว่า ตรัง มาจกคำบาลีสันสกฤต โดยเขียนเป็น “ตรังค์” หมายถึงลูกคลื่นหรือกระแสคลื่นนั่นเอง และในอดีตมีการนำมาตั้งเป็นชื่อบุคคลและสถานที่ในเมืองตรัง เช่น พระยาตรังคภูมาภิบาล วัดตรังคภูมิพุทธาวาส เป็นต้น

 จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีประวัติในสมัยโบราณก่อนหน้านั้น และเข้าใจว่าในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถครั้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มี เพราะพระธรรมนูญกล่าวถึงหัวเมืองฝ่ายใต้มีเพียง นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา เพชรบุรี กุย ปราณ ครองวาฬ บางสะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศี ทะวาย มะริด และสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมา น่าจะเป็นเพียงทางผ่านไปยังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้นจึงเกิดเมืองในตอนหลัง
     เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จารึกโดยพระเจ้าจันทรภาณุ หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๑๗๗๓ ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก ได้จารึกว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีหัวเมืองรายล้อมอยู่ถึง ๑๒ หัวเมือง ได้กำหนดใช้รูปสัตว์ตามปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง เรียกว่าการปกครองแบบ ๑๒ นักษัตร โดยเมืองตรังใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมือง แสดงว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๓ มีเมืองตรังแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งเมืองอยู่ที่ใด ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าว ว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓ พระยากุมารกับนางเลือดขาวไปลังกา ทั้งขาไปและขามาได้แวะที่เมืองตรัง เพราะเป็น เมืองท่า นางเลือดขาวยังได้สร้างพระพุทธรูปและวัดพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เมืองตรัง
     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองตรังมีชื่อเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้น ถึงปี พ.ศ.๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เนื่องจากผู้รักษาเมืองตรังเป็นอริกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นให้ไปขึ้นกับเมืองสงขลาระยะ หนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๕๔ จึงกลับไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ ควนธานี
     พ.ศ.๒๓๘๑ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทางเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง ต่อมาจึงได้โอนเมืองตรังมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองตรังจนถึง พ.ศ.๒๔๒๘ เมืองตรังจึงได้กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภูเก็ต และเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองตรังจึงถูกรวม เข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต
     ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสหัว เมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก 
     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

4. จังหวัดนครศรีธรรมราช


ชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช



จากประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช สามารถประมวลได้ว่า“นครศรีธรรมราช" ได้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆ หลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจที่สืบทอดกันมาและสำเนียงภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น “ตมฺพลิงฺคมฺ” หรือ “ตามฺพลิงฺคมฺ” (Tambalingam) หรือ “กมลี” หรือ “ตมลี” หรือ “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงการเดินทางของ นักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวยยังดินแดนต่าง ๆ อันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุเมืองท่าต่างๆ ในบริเวณนี้ไว้และในจำนวนนี้ได้มีชื่อเมืองท่าข้างต้น อยู่ด้วย

นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แต่บางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ก็ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในถ้อยคำของพระมหานาคเสน

ศาสตราจารย์ซิลแวง เลวี (Sylvain levy) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า “ตามพรลิงค์” ตามที่ ปรากฏในที่อื่นๆ๗ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรนะวิธานะ (Senarat Paranavitana) นักปราชญ์ชาวศรี-ลังกา(ลังกา) มีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) บวกกับ “คมฺ” (gam) หรือ “คมุ” (gamu-ซึ่งภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ครฺมะ” (grama) จึงอาจจะเป็น “ตมะลิงคมฺ” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu)ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำว่า “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) และเป็น “ตามพรลิงคะ”(Tambralinga) ในภาษาสันสกฤต๘

“ตัน-มา-ลิง” (Tan-Ma-ling) หรือ ตั้ง-มา-หลิ่ง”
เป็นชื่อที่เฉาจูกัว (Chao-Ju-Kua) และวังตาหยวน (Wang-Ta-Yuan) นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ เตา-อี-ชี-เลี้ยว (Tao-i Chih-lioh) เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๙ ความจริงชื่อตามพรลิงค์นี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อน ๆ ก็ได้เคยบันทึกไว้แล้วดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสุงชี (Sung-Shih) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปติดต่อทำไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ โดยจีนเรียกว่า “ต้น-เหมย-หลิว” (Tan-mei-leou) ศาสตราจารย์พอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า Tan-mei-leou” นั้นต่อมานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนชาวฝรั่งเศสและอังกฤษได้ลงความเห็นคำนี้ที่ถูกควรจะออกเสียงว่า “Tan-mi-liu” หรือ “Tan-mei-liu”


“มัทมาลิงคัม” (Madamalingam)
เป็นภาษาทมิฬปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียภาคใต้โปรดให้สลักขึ้นไว้ที่เมืองตันชอร์ (Tanjore) ในอินเดียภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกดังกล่าวนั้นมีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นชื่อ “มัทมาลิงคัม”

“ตามพฺรลิงค์” (Tambralinga)
เป็นภาษาสันสกฤต คือเป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓

“ตมะลิงคาม” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงโคมุ” (Tamalingomu)
เป็นภาษสิงหล ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ Elu-Attanagalu vam-sa ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕๑๗

นอกจากนี้ในเอกสารโบราณประเภทหนังสือของลังกายังมีเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu) ปราฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ ปูชาวลี (Pujavali), “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) ปราฏอยู่ในหนังสือเรื่องวินยะ-สนฺนะ (Vinay-Sanna)๑๘ และในตำนานจุลวงศ์๑๙(Cujavamsa) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “. . . พระเจ้าจันทภานุบังอาจยกทัพจาก “ตมฺพลิงควิสัย”(Tambalinga – Visaya) ไปตีลังกา . . .” เป็นต้น ชื่อเหล่านี้นักปราชญ์โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อ “ตามพรลิงค์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทย

“กรุงศรีธรรมาโศก”
ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓๕ คือศิลาจารึกดงแม่นางเมือง พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐

“ศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (วัดเวียง) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่าสลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินทรงมีอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของ “ตามพรลิงค์ (ตามพรลิงคศวร)”

ต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕

“สิริธรรมนคร” หรือ “สิริธัมมนคร”
      ชื่อนี้พบว่าใช้ในกรณีที่เป็นชื่อของสถานที่ (คือเมืองหรือนคร) เช่นเดียวกับชื่ออื่นๆ ที่กล่าวมาแต่หากเป็นชื่อของกษัตริย์มักจะเรียกว่า “พระเจ้าสิริธรรม” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมนคร” หรือ“พระเจ้าสิริธรรมราช”
     ชื่อ “สิริธรรมนคร” ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และเมื่อมีผู้อื่นแต่งต่ออีก จนแต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑๒๔

  ส่วนในหนังสือสิหิงคนิทานซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิสครองราชย์ในนครเชียงใหม่ แห่งลานนาไทย) เรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมราช”

โลแค็ก” หรือ “โลกัก” (Locae, Loehae)

เป็นชื่อที่มาร์โคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านจากปลายแหลมญวนตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายู แล้วกล่าวพรรณนาถึงดินแดนในแถบนี้แห่งหนึ่ง ชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช

“ปาฏลีบุตร” (Pataliputra)
เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลื่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “เมืองละคอน” (Muan Lakon)๒๗ในบางตอน เช่น
“. . . ในวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ในขณะที่เขากำลังมาถึงเมือง ละคอน (Muan Lakon) ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสยาม เรือก็อับปางลงแต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายและทุกคนได้ขึ้นฝั่งยังดินแดนที่เรียกกันว่าเมืองละคอน ในดินแดนนี้มีเมือง (City) ใหญ่เมืองหนึ่งเรียกกันว่า “ปาฏลีบุตร” (Pataliputra) ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ทุกด้าน . . .”
      ในโครงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน

“ลึงกอร์”
      เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ชื่อลึงกอร์นี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงใช้เช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่เคยเรียกชื่อตามพร-ลิงค์ว่า “นครศรีธรรมราช” เลยมาแต่สมัยโบราณยิ่งกว่านั้นแม้แต่คำว่า “นคร” เขาก็ไม่ใช้ เพราะเขามีคำว่า“เนการี” หรือ “เนกรี” (Nigri) อันหมายถึงเมืองใหญ่หรือนครใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัดยังคงเรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช
      “ลึงกอร์” อยู่บ้างด้วยเหตุนี้ชื่อ “ลิกอร์” ที่ชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และยุโรปชาติอื่นๆ ใช้เรียกชื่อตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช อาจจะเรียกตามที่ชาวมาเลย์และชาวพื้นเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้ง ๓ จังหวัดใช้ก็ได้ เพราะชาวยุโรปคงจะอาศัยชาวมาเลย์เป็นคนนำทางหรือเป็นล่ามในการแล่นเรือเข้ามาค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือหรือคาบสมุทรไทย

“ลิกอร์” (Ligor)
       เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และพบว่าที่ได้เรียกแตกต่างกันออกไปเป็น“ละกอร์” (Lagor) ก็มี
        นักปราชญ์สันนิษฐานว่า คำว่า “ลิกอร์” นี้ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร”อันเป็นคำเรียกชื่อย่อของ “เมืองนครศรีธรรรมราช” ทั้งนี้เพราะชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว“น” (N) จึงออกเสียงตัวนี้เป็น “ล” (L) ดังนั้นจึงได้เรียกเพี้ยนไปดังกล่าว แลัวในที่สุดชื่อ “ลิกอร์” นี้กลายเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี

ในจดหมายเหตุของวันวลิต (Jeremais Van Vliet) พ่อค้าชาวดัทช์ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฮอลันดา และเข้ามาประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ลิกูร์” (Lijgoor Lygoot)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จอห์น ครอวฟอร์ด (John Crawfurd) ฑูตชาวอังกฤษที่เป็นตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยก็เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”

แม้แต่ในปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกก็ยังใช้ชื่อนี้กันอยู่ อย่างชื่อศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ที่พบ ณ วัดเสมาชัย (คู่แฝดกับวัดเสมาเมือง ต่อมารวมกับบางส่วนเป็นวัดเสมาเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ชาวตะวันตกและเอเชียรู้จักกันในนาม “จารึกแห่งลิกอร์” (Ligor Inscription)นอกจากนี้ยังเรียกด้านที่ ๑ ของศิลาจารึกหลักนี้ว่า “Ligor A” และเรียกด้านที่ ๒ ว่า Ligor B “ ดังนั้นนอกจาก “ตามพรลิงค์” แล้ว ชื่อเก่าของนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง คือ “ลิกอร์”

“ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน”
คงจะเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อ “นคร” อันอาจจะเกิดขึ้นเพราะชาวมาเลย์และชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไป แล้วคนไทยก็กลับไปเอาชื่อที่เพี้ยนนั้นมาใช้ เช่นเดียวกันกับที่เคยมีผู้เรียกนครลำปางว่า“เมืองลคร” หรือ “เมืองละกอน” เป็นต้น และคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารโบราณของฑูตสิงหลที่รายงานไปยังลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในชื่อ “ปาฏลีบุตร” ข้างต้นนั้น

นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่าที่ได้เรียกเช่นนี้เพราะว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อเมืองหลวงต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครยังต้องเอาแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช

“นครศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรมราช”ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์ จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งได้ใช้เรียกขานกันมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยตราบจนปัจจุบันนี้




5. จังหวัดนราธิวาส



จังหวัดนราธิวาสเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงชื่อว่า    "มะนาลอ"  ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำบางนราติดชายทะเลอ่าวไทย  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  บ้านบางนราถูกจัดให้อยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในปกครองของเมืองระแงะ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลปัตตานี ปี พ.ศ. ๒๓๕๕ เกิดมีโจรร้ายปล้นสะดมมากมายในมณฑลปัตตานี เหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะจัดการลงได้  จึงขอความช่วยเหลือไปยังพระยาสงขลาให้ช่วยมาปราบปรามจนสำเร็จ พร้อมทั้งวางนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือเมืองปัตตานี  เมืองหนองจิก เมืองยะลา  เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง
            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกบฏใน ๔ หัวเมืองปักษ์ใต้ โดยมพระยาปัตตานี พระยาหนองจิก พระยายะลา และพระยาระแงะ สมคบร่วมกัน พระยาสงขลาจึงยกกำลังมาปราบปรามโดยมีพระยายะหริ่งเป็นกำลังสำคัญช่วยทำการปราบปรามจนสำเร็จ  ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะที่หลบหนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ที่ตำบลตันหยงมัส หรืออำเภอระแงะ ในปัจจุบัน
               ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่า ขณะเดียวกับบ้านบางนราได้เจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ จนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าขายทั้งทางบกและทางทะเล และเพื่อให้การดูแลและขยายเมืองเป็นไปด้วยดี ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมปีเดียวกันจึงมีประกาศพระบรมราชโองการให้แยก ๗ หัวเมืองออกจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงนี้ได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ
               ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านบางนราในวันที่ ๑๐ มิถุนายน  และพระราชทานชื่อว่า นราธิวาส ซึ่งมาจากคำประสมระหว่าง นร + อธิวาส อันมีความหมาย ว่าที่อยู่ของคนดี ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนราธิวาสนับแต่นั้นเป็นต้นมา


6. จังหวัดปัตตานี


เมืองปัตตานีตั้งเมื่อ  พ..  2444  ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์  อำเภอเมืองปัตตานี เป็นเมืองเก่าแก่  มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์เป็นอู่ข่าวอู่น้ำ  มีชาวยุโรป  หลายชาติ เข้ามาทำการค้าแต่โบราณ

คำว่า   "ปัตตานี"  เป็นชื่อเมือง  ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความเป็นมาอย่างไรเป็นเพียงคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา  ซึ่งมีหลักฐานในการเรียกเป็นทางการตั้งแต่สมัย  รัชการที่  โปรดเกล้า ฯ ให้แยกปัตตานี  เป็น หัวเมือง  คือ ปัตตานี  ยะลา  ยะหริ่ง  ระแงะ  รามัน  สายบุรี  และหนองจิก  ต่อมา  รัชการที่  5  ทรงโปรดเกล้า ฯ  ยกเลิกระบบหัวเมือง  โดยแบ่งเป็นมณฑล  คือ  ปัตตานี  ยะลา  สายบุรี  และราแงะ  และในปี  พ..  2475  ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแห่งราชอาณาจักรสยามจัดการปกครองขึ้นใหม่เป็นจังหวัด  คือ  ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  โดยได้ผนวก  หนองจิก  สายบุรี  และยะหริ่งให้อยู่ในจังหวัดปัตตานี  รามัน  ให้อยู่ในจังหวัดยะลา  และระแงะอยู่ในจังหวัดนราธิวาส

7. จังหวัดพังงา


จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เดิมที พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอำเภอตะกั่วป่า จนเมื่อช่วงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชการลที่ 1 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่ากับตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งและโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2352 ซึ่งในปีนั้น พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่นเป็นแม่ทัพนำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง(ในจังหวัดภูเก็ต) ได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่ายของตน และเผาเมืองถลางเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพมหานครมาช่วยและขับไล่ได้ทัน

ช่วงสงครามในขณะนั้นได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ "กราภูงา" (ภาษามลายูแปลว่า ป่าน้ำภูงา) ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำพังงา ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้นเสร็จศึก แล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลางทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลาง ข้ามฝากมาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลลำน้ำพังงา แขวงเมืองตะกั่วทุ่งและจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ "ถลาง" ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพ จากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบันต่อมา

สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้มแข็งจึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครและได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรก ในปี พ.ศ. 2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา

ในช่วงระยะเวลาทั้งหมดนี้เหมืองดีบุกกำลังเฟื่องฟูและเป็นแหล่งแร่ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ทำให้เป็นที่ดึงดูดและสนใจ จึงมีต่างชาติติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมากและรัฐบาลกลางเองด้วย เนื่องจากให้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและกลายเป็นช่วงฐานเศรษฐกิจไปทั่วโลกในช่วง ปี พ.ศ. 2473
ในช่วงปีพ.ศ. 2474 ได้มีการรวมตัวยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับจังหวัดพังงาเป็นต้นมา อาคารศาลากลางหลังเก่าที่สวยงามที่สุดของจังหวัดพังงาได้สร้างขึ้นที่บ้านชายค่าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 จึงได้สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้างและต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็ได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน


จังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกกันว่า "เมืองภูงา" ตามชื่อเขางาหรือเขาพังงา ซึ่งตั้งอยู่ในตัวจังหวัดพังงาในปัจจุบัน    ในสมัยก่อน เมืองภูงาขึ้นอยู่กับนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 2 ชื่อของ "เมืองภูงา" ได้ปรากฏอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งน่าจะเป็นเมืองขึ้นของพระสุรัสวดีฝ่ายซ้าย เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองกับเมืองภูเก็ต และเหตุที่เมืองภูงา
กลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะเนื่องมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ มีชาวต่างชาติมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และชาวต่างชาติเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง "พังงา" ไปเพราะแต่เดิมชาวต่างชาติเขียนชื่อเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่าภูงา หรือพังกาก็ได้



8. จังหวัดพัทลุง

ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็น จากหลักฐานพบว่า บนเหรียญอีแปะพัทลุง พ.ศ. 2426 เขียนว่า พัททะลุง และพัตะลุง ในเอกสาร ของไทย ใช้ต่างกันมากมาย ได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัฒลุง พัทลุง ในเอกสาร เบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 เ ขียนว่า Bondelun และ Merdelong ของนายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdelun

ความหมายของชื่อเมือง

เมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้าง ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัด-ท-พัทธ”ยังไม่อาจทราบได้ว่าคำเดิมเขียนอย่างไร คำไหน ทราบเพียงว่าเป็นคำขึ้นต้น ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตะลุง” แปลว่าเสาล่ามช้าง หรือไม้หลักผูกช้าง ชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุงที่เกี่ยวกับช้างมีมาก หรือจะเรียกว่าเป็น “เมืองช้าง” ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบชะรัด ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และในตำนานนางเลือดขาว ตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโม ยายเพชร เป็นหมอสดำ หมอเฒ่านายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทอง ทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง”

9. จังหวัดภูเก็ต


  " ภูเก็ต " ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ขุดพบเครื่องมือหินและขวานหินเป็นการแสดงให้ทราบว่ามี มนุษย์อาศัยในดินแดนแถบนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี มาแล้วและได้มีหลักฐานการ กล่าวถึงดินแดนในแถบนี้อีกครั้ง เมื่อปี พ .ศ.700 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 2 ในบันทึกของนักเดินเรือ ชื่อ คลอดิอุส ปโตเลมี กล่าวถึงผืนดินหรือแผ่นดินในส่วนนี้ว่า แหลมตะโกลา เป็นผืนดินที่ถูกดันออกมาทางใต้กลายเป็นแหลมยาวๆ อยู่ส่วนปลายสุดของจังหวัดพังงา อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ของเปลือกโลกขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมารุย (Klong Marui Fault) ซึ่งวางตัวเป็นแนวยาวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพังงา ลงมาทางทิศตะวันออกของภูเก็ต ต่อมาได้ถูกคลื่นลมในทะเลกัดเซาะ และตัดพื้นที่ดังกล่าวนี้ ออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นเกาะโดยเกิดร่องน้ำระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพังงาขึ้น ที่เรียกว่า ช่องแคบปากพระ (เป็นร่องน้ำแคบ ๆ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกเพียง 8-9 เมตร ) ในปัจจุบัน
      สำหรับการเรียกขานภูเก็ตของชาวต่างประเทศ ในอดีตนอกจากจะมีปรากฎในบันทึก เมื่อปี พ .ศ.700 ของนักเดินเรือ คลอดิอุส ปโตเลมี ที่เรียกผืนดินในบริเวณนี้ว่า แหลมตะโกลา แล้ว ได้มีปรากฎหลักฐานการกล่าวถึง ผืนดินในบริเวณนี้อีกครั้ง จากบันทึก และแผนที่การเดินเรือมาเอเชียตะวันออก ของชาติยุโรป ระหว่างพ.ศ.2054-2397 เรียกผืนดินนี้ว่า จังซีลอน นอกจากนี้ ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขาน ผืนดินนี้ของชาวทมิฬ์ในปี พ.ศ.1568 ว่า มณิคราม หมายถึง เมืองแก้ว ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ ภูเก็จ ที่ปรากฎในจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ .2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ภูเก็ต ซึ่งได้ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ.2450 เป็นต้นมา  โดยเริ่มเป็นที่รู้จักกัน ในฐานะ มณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต ในเวลาต่อมา

10. จังหวัดยะลา


เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา คำว่า “ยะลา” เป็นชื่อเรียกสำเนียงภาษามลายูพื้นเมือง มาจากคำว่า “ยาลอ” (جال) แปลว่า “แห” แต่ตามประวัติศาสตร์ซึ่งได้เขียนไว้ในสมัยเจ็ดหัวเมือง โดยเจ้าผู้ครองเมืองเดิมได้เขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์เป็นภาษามลายูว่า “เมืองยะลา” เป็นสำเนียงภาษาอาหรับ โดยชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในบริเวณเจ็ดหัวเมือง ซึ่งอยู่ในแหลมมลายูเป็นผู้ตั้งชื่อเมืองไว้

เมืองยะลาเดิมตั้งอยู่ใกล้ภูเขายาลอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ต่อมาเมืองยะลาได้ยกฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งของบริเวณเจ็ดหัวเมือง คำว่าเมืองยะลาหรือยาลอ ยังคงเรียกกันจนถึงปัจจุบันนี้

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ แต่เดิมจะเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งในเมืองปัตตานียังไม่ได้แยกออกมาเป็นเมือง  สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (แต่เดิมเมืองปัตตานีอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๓๓๔ และต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร จังหวัดยะลาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้


11. จังหวัดระนอง

   ระนอง หรือเมืองแร่นอง เดิมเป็นหัวเมืองเล็กๆ มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 เมือง คือ เมืองระนอง และเมืองตระ ซึ่งอยู่ในการปกครองของเมืองชุมพร

      เมืองระนองมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามาเพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น นอกจากนี้ในอดีตนอกจากจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในป่าดงรกร้างหาเป็นภูมิฐานบ้านเมืองไม่ ภูมิประเทศยังเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนแทบจะหาที่ราบสำหรับการเกษตรไม่ได้ มิหนำซ้ำการเดินทางไปมาติดต่อต่างเมืองก็ลำบากยากเข็น ถ้าไม่ใช่การเดินทางทางเรือ อันต้องผ่านปากอ่าวเข้ามาทางด้านมหาสมุทรอินเดียแล้ว ก็ต้องขึ้นเขาลงห้วย บุกป่าฝ่าดงกันเท่านั้นเองแต่ไม่ว่าทางใดก็ต้องเสียเวลาเดินทางกันเป็นวันๆ ทั้งนั้นจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง “สุดหล้าฟ้าเขียว” เอาทีเดียว ผู้คนต่างกันจึงไม่ค่อยจะได้ถ่ายเทเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองระนองพลเมืองระนองจึงมีอยู่น้อยนิดเรื่อยมาแต่ในท่ามกลางป่าเขาทุรกันดารนั้น ระนองได้สะสมทรัพยากรธรรมชาติไว้ใต้แผ่นดินเป็นเอนกอนันต์ นั่นคือวัตถุที่มีชื่อเรียกกันในสมัยโบราณว่า ตะกั่วดำ และในปัจจุบันเรียกว่า แร่ดีบุกนั่นเอง



12. จังหวัดสงขลา

ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร" แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู-เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า "เมืองสิงหลา" ส่วนคนไทยเรียกว่า "เมืองสทิง" เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา" ดังปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ เอกสารชิ้นนี้ยังอธิบายต่อถึงความเป็นไปได้อีกสาเหตุหนึ่งว่า คำว่าสงขลาน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่าภูเขา เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา และต่อมาเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา สอดคล้องกับสุภาวดี เชื้อพราหมณ์ ที่ได้บันทึกว่าสงขลาเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลีเนื่องจากชาวอินเดียล่องเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งสงขลาแลเห็นภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกว่า สิงขระ หรือ สิงขร ซึ่งคำไทยสิงขร หมายถึง ภูเขา ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกตาม และเพี้ยนเป็นคำว่า ซิงโกรา หรือ ซิงกอรา เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
เหตุผลสุดท้ายที่เอกสารในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คอน) แต่แขกชาวมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา
ในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึงสามร้อยปีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2228

13. จังหวัดสตูล


คำว่า สตูล มาจากภาษามาลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน อันเป็นต้นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่บริเวณเมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า “นครสโตยมำ-บังสการา”หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “สตูล” แห่งเมืองพระสมุทรเทวา

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ณ ที่ใดสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นไม่มีเมืองสตูลคงมีแต่ หมู่บ้านเล็ก ๆกระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุร ีดังปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ว่า

"ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้วทำให้เห็นว่าในเวลานั้นพวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวกคือพวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทรแต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ ของพระอภัยนุราช(ปัศนู)คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

สตูลยังเป็นเพียงตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สตูลได้ครอบครองดินแดนที่เป็นเกาะในทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้เป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2392 โดยให้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดการปกครองใหม่เป็นรูปมณฑลขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2440 และให้รวมสตูลเข้าไว้ในมณฑลไทรบุรีเมื่อไทยต้องยอมเสียดินแดนแคว้นไทรบุรีให้แก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.2452 ยังเหลือสตูลอยู่เพียงเมืองเดียว จึงต้องไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต และเมื่อเส้น ทางสายควนเนียงสตูลไปมาสะดวกทางราชการก็โอนสตูลไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชตามเดิม และเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลในปี พ.ศ.2475 สตูลก็ได้ยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


14. จังหวัดสุราษฎร์ธานี


จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า เป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งรกรากและเส้นทางสายไหมในอดีต พื้นที่อ่าวบ้านดอนเจริญขึ้นจนเป็นอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองในอดีต ภายหลังยังเชื่อว่า เมื่ออาณาจักรตามพรลิงก์หรือเมืองนครศรีธรรมราชมีความรุ่งเรืองมากขึ้นนั้น เมืองไชยาก็เป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ชื่อว่า "เมืองบันไทยสมอ"
นอกจากนี้ในยุคใกล้เคียงกันนั้นยังพบความเจริญของเมืองที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ได้แก่ เมืองเวียงสระ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองท่าทอง โดยเชื่อว่าเจ้าศรีธรรมาโศก ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชนั้นอพยพย้ายเมืองมาจากเมืองเวียงสระ เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รวมทั้งเกิดโรคภัยระบาด และเมื่อเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองนั้น ได้ยกเมืองไชยา และเมืองท่าทอง เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของตนด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งอู่เรื่อพระที่นั่งและเรือรบเพื่อใช้ในราชการที่อ่าวบ้านดอน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ย้ายที่ตั้งเมืองท่าทองมายังอ่าวบ้านดอน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน) พร้อมทั้งยกฐานะให้เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และพระราชทานชื่อว่า "เมืองกาญจนดิษฐ์" โดยแต่งตั้งให้พระยากาญจนดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองดูแลการปกครอง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า "เมืองไชยา" ภายใต้สังกัดมณฑลชุมพร
เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ อ่าวบ้านดอน ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า อำเภอไชยา และให้ชื่อเมื่องเก่าว่า "อำเภอพุมเรียง" แต่เนื่องด้วยประชาชนยังติดเรียกชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา" ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามเมืองใหม่ที่บ้านดอนว่า "สุราษฎร์ธานี" แปลว่า เมืองแห่งคนดี และให้ชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา" และพระราชทานนามแม่น้ำตาปี ให้ในคราวเดียวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามแบบเมืองและแม่น้ำในประเทศอินเดียที่มีแม่น้ำตาปติไหลลงสู่ทะเลออกผ่านปากอ่าวที่เมือง สุรัฎร์