.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กว่าจะเป็น ก เอ๋ย ก ไก่




กว่าจะเป็น ก เอ๋ย ก ไก่ 

 
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 720 ปี มาแล้วที่เราคนไทยมีอักษรไทยไว้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารแทนคำพูด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 1826 ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก โดยรูปแบบอักษรเป็นลายสือไทยที่ดัดแปลงมาจากอักษรขอมและมอญโบราณ ทั้งนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อกำกับในพยัญชนะภาษาไทย เป็นเพียงการออกเสียงพยัญชนะที่คล้ายคลึงกับปัจจุบัน เช่น กอ ขอ คอ เป็นต้น

สมัยแต่ก่อนการเรียนภาษาไทย เด็กจำเป็นที่จะต้องท่องจำพยัญชนะให้ได้ทั้ง 44 ตัว โดยท่องเป็น กอ ขอ คอ น่าจะคล้ายๆกับการท่อง เอ บี ซี แต่ด้วยพยัญชนะที่พ้องเสียงในภาษาไทยมีหลายตัวมาก ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะทำให้เด็กจำได้อย่างรวดเร็ว จึงได้มีผู้คิดชื่อหรือตัวอย่างในการใช้พยัญชนะแต่ละตัวขึ้นมา เพื่อจะได้ท่วงจำได้ง่ายๆ แล้วเราก็ท่องจนติดปากกันมาว่า ก ไก่ ข ไข่ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครกันแน่ที่คิดคนแรก แต่เราจะมาไล่ดูตามหลักฐานที่พอจะมีในปัจจุบัน
พ.ศ. 2378 ที่มีการเล่นหวยขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วมีการนำพยัญชนะไปกำกับตัวหวย เรียกกันว่า "หวย ก ข" ทำให้พยัญชนะภาษาไทยมีคำกำกับหวย ดังนี้


พ.ศ. 2420 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขณะนั้นเป็นครูสอนในโรงเรียนหลวงได้เขียนเรื่อง "วิธีสอนหนังสือไทย" ลงในหนังสือมิวเซียม เล่ม 2 จ.ศ. 1239 ได้คิดคำกำกับชื่อพยัญชนะขึ้นใหม่ เพื่อสอนนักเรียนให้สามารถออกเสียงพยัญชนะได้ง่าย โดยคิดเฉพาะพยัญชนะที่มีเสียงพ้องกัน 27 ตัว คือ ข ฃ ค ฅ ฆ ช ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น พ ภ ย ร ล ฬ เช่น ข ขัดข้อง, ฃ อังกุษ, ค คิด, ฅ กัณฐา, ฆ ระฆัง, ช ชื่อ, ฌ ฌาน เป็นต้น ส่วนพยัญชนะที่ยังไม่มีคำกำกับอีก 15 ตัว คือ พยัญชนะที่ไม่มีเสียงซ้ำซ้อนและพยัญชนะ ศ ษ ส

พ.ศ. 2442 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมธรรมการ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการคิดชื่อกำกับพยัญชนะครบทั้ง 44 ตัว และมีการใช้คำว่า ก ไก่ ข ไข่ จนถึง ฮ นกฮูก ขึ้นเป็นครั้งแรกและมีการใช้ภาพประกอบแต่ละพยัญชนะด้วย ข้อสังเกต ในหนังสือเล่มนี้ใช้ ฃ ฃวด และ ฅ ฅอ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือแบบเรียนเร็วขึ้นจำนวน 3 เล่ม  ซึ่งในการแต่งแบบเรียนเร็วนี้ เพื่อให้นักเรียนเรียนจบได้ภายใน 6 เดือนต่อปีการศึกษาหนึ่งๆ แทนการใช้แบบเรียนหลวง "มูลบทบรรพกิจ" ที่ต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีจึงจะจบหมดทั้งเล่ม

พ.ศ. 2453 ฟ. ฮีแลร์ พิมพ์หนังสือดรุณศึกษา โดยการจัดเรียงพยัญชนะตามกลุ่มเสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ และมีการใช้คำกำกับพยัญชนะบางคำที่แตกต่างจากหนังสือแบบเรียนเร็ว เช่น ฑ มณโฑ เป็น ฑ มณฑล
พ.ศ. 2458 โรงพิมพ์เจริญราษฎร์ ได้พิมพ์หนังสือมูลบทบรรพกิจ โดยมีตัวอย่างการใช้คำกำกับพยัญชนะว่า ก กบ, ข เขียด, ฮ อุปฮาด
พ.ศ. 2463 โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์ ได้จัดพิมพ์หนังสือมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหารขึ้นใหม่ โดยในฉบับนี้ใช้คำว่า ก มะละกอ, ข ขอทาน, ฮ จีนฮ่อ
พ.ศ. 2473 ครูย้อย ทันนิเทศ ได้จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนไว ซึ่งถือเป็นเล่มแรกที่มีการใช้กลอน คือ ก เอย ก ไก่ ข ไข่มาหา
พ.ศ. 2490 บริษัทประชาช่าง ได้พิมพ์หนังสือ แบบเรียน ก ไก่ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่มีกลอนและแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ นั้นก็คือ ก เอย ก ไก่ ข ไข่ ในเล้า แต่กลับหาตัวคนแต่ง คนวาดภาพประกอบ ก ไก่ อมตะชุดนี้ไม่ได้ และแบบเรียน ก.ไก่ นี้ติดปากกันมาและยังจำได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ว่า
       
 ก ไก่ในเล้า ข ขวดของเรา

ฃ ขวด ของเรา ค ควาย เข้านา

ฅ คน ขึงขัง ฆ ระฆัง ข้างฝา ง งู ใจกล้า จ จาน ใช้ดี

ฉ ฉิ่ง ตีดัง ช ช้าง วิ่งหนี ซ โซ่ ล่ามที ฌ เฌอ คู่กัน

ญ หญิง โสภา ฎ ชฎา สวมพลัน ฏ ปฏัก ปักไว้* (หุนหัน**) ฐ ฐาน เข้ามารอง

ฑ นางมณโฑ หน้าขาว ฒ ผู้เฒ่า เดินย่อง ณ เณร ไม่มอง ด เด็ก ต้องนิมนต์

ต เต่า หลังตุง ถ ถุง แบกขน ท ทหารอดทน ธ ธง คนนิยม

น หนู ขวักไขว่ บ ใบไม้ ทับถม ป ปลา ตากลม ผ ผึ้ง ทำรัง

ฝ ฝา ทนทาน พ พาน วางตั้ง ฟ ฟัน สะอาดจัง ภ สำเภา กางใบ

ม ม้า คึกคัก ย ยักษ์ เขี้ยวใหญ่ ร เรือพายไป ล ลิง ไต่ราว

ว แหวน ลงยา ศ ศาลา เงียบเหงา ษ ฤาษี หนวดยาว ส เสือ ดาวคะนอง

ห หีบ ใส่ผ้า ฬ จุฬา ท่าผยอง อ อ่าง เนืองนอง ฮ นกฮูก ตาโต



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น