.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปฏิทินไทย สงกรานต์



ปฏิทินไทย สงกรานต์



ถึงแม้ไม่อาจตอบได้ว่า ปฏิทินไทยสงกรานต์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อใดกันแน่ แต่ก็ยังมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะมีการคิดทำกันขึ้นมา ตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 แล้ว

เพราะหลักฐานเก่าแก่ที่สุด ก็คือ ปฏิทินไทยสงกรานต์ ของ บริษัทยาสูบอังกฤษ อเมริกา (ที่เป็นสมบัติอยู่ในการครอบครองของนักสะสมท่านหนึ่ง) แต่ว่าจะมีการทำกันมาก่อนหน้านั้นหรือไม่ ไม่สามารถที่จะตอบได้ ซึ่งแนวความคิดในการทำปฏิทินไทยแบบนี้ น่าจะได้แนวความคิดมาจาก "แผนประกาศสงกรานต์ของหลวง"

ด้วยในสมัยโบราณนั้น ประกาศสงกรานต์ไม่ใช่ของที่จะหาดูได้ง่ายๆ (เพราะยังไม่มีการพิมพ์ปฏิทิน) ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้เขียนภาพ "นางสงกรานต์" ปิดไว้ที่ประตูพระบรมมหาราชวัง

ถ้าใครอยากรู้เรื่องวันสงกรานต์ ก็ต้องดูจากคำประกาศวันสงกรานต์ ดังปรากฏหลักฐานใน "หนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ 4" ที่ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

"ประชาชนมักไต่ถามกันว่าปีนี้สงกรานต์ขี่อะไร ถืออะไร นั่งนอนอย่างไร กินอะไร เรื่องอย่างนี้จะบอกมาให้แจ้งก็ได้ แต่หาเป็นประโยชน์ไม่ ถ้าจะใคร่รู้ให้มาคอยดูรูปมหาสงกรานต์ ซึ่งเขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ" ซึ่งแผ่นประกาศสงกรานต์นี้ คงได้มีการจัดทำสืบต่อมาจนทุกวันนี้

"แผ่นประกาศสงกรานต์" ในลักษณะดังกล่าว จะว่าเป็นปฏิทินหรือไม่นั้น ก็สรุปได้ยาก แต่ในปฏิทินไทยสงกรานต์ที่ได้เริ่มมีการจัดพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 - 6 นั้น ก็ได้มีการนำเอาตารางบอกข้างขึ้น ข้างแรม วัน เดือน และปี ทางสุริยคติ ใส่เข้าไปด้วย แล้วก็ได้ยึดถือเป็นต้นแบบพิมพ์ตามอย่างกันมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนอีกแนวความคิดหนึ่ง ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดปฏิทินไทยสงกรานต์ ก็คือ ปฏิทินไทยแบบสุริยคติ ซึ่งพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2432 และได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยึดถือเป็นประเพณีของบ้านเมือง แล้วยังโปรดฯ ให้พิมพ์ปฏิทินแบบสุริยคติของพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ แจกในวันสงกรานต์อีกด้วย

ครั้นในเวลาต่อมา จึงได้มีการพิมพ์ปฏิทินไทยสงกรานต์ เพื่อการจำหน่าย และจ่ายแจกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เมื่อมาถึงในปัจจุบันนี้ กลับเป็นเรื่องยากที่จะตอบว่า มีโรงพิมพ์ใดบ้างที่รับจ้างพิมพ์ หรือพิมพ์เพื่อการจำหน่าย รวมทั้งจะมีห้างร้านใดที่พิมพ์ปฏิทินชนิดนี้ เพื่อแจกลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเช่นกัน

คงพบหลักฐานเพียงว่า ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งในยุคนั้น ชื่อ "โรงพิมพ์บุญครองพานิช" หลังวังบูรพา พระนคร เป็นโรงพิมพ์ที่รับจ้างพิมพ์ และพิมพ์ปฏิทินไทยสงกรานต์ออกจำหน่าย โดยมี นางเลื่อน บุญครอง เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ นายอาบ บุนนาค เป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ (อยู่ระยะหนึ่ง)

ส่วนช่างเขียนและหัวหน้าช่างพิมพ์หินได้แก่ นายสง่า มะยุระ ซึ่งในระยะแรกที่พิมพ์ปฏิทินไทยสงกรานต์และอื่นๆ จะใช้ระบบการพิมพ์ด้วยการพิมพ์หิน จนก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก ที่นี่ก็ได้สั่งเครื่องพิมพ์ออฟเซทเข้ามาใช้ แล้วหลังจากนั้นไม่นาน โรงพิมพ์ก็เลิกกิจการไป แต่ก็ไม่ทราบว่าได้ใช้เครื่องพิมพ์ออฟเชต ในการพิมพ์ปฏิทินไทยสงกรานต์หรือไม่ เอากันที่แน่ๆ ก็คือ ผู้ที่เขียนปฏิทินไทยสงกรานต์ของที่นี่ได้แก่ "นายสง่า มะยุระ" ช่างเขียนฝีมือเอกคนหนึ่งของเมืองไทย

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจว่า ในปัจจุบันนี้ เราแทบจะหาปฏิทินไทยสงกรานต์ของโรงพิมพ์บุญครองพานิช ที่เป็นผลงานของ นายสง่า มะยุระ ดูไม่ได้เลย รวมทั้งผลงานของโรงพิมพ์อื่นๆ ในยุคเดียวกัน ก็แทบจะไม่มีให้เห็นเช่นกัน

ในบรรดาปฏิทินไทยสงกรานต์ ดูเหมือนว่า "ปฏิทินสงกรานต์ของธนาคารออมสิน" จะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด คือ ปฏิทินสงกรานต์ในปีขาล พ.ศ.2493 เป็นปฏิทินสงกรานต์ของทางธนาคารออมสินที่ค้นพบ ปฏิทินภาพนี้เป็นของสมาคมโหรแห่งประเทศไทยซึ่งมีธนาคารออมสิน สำนักแพทย์โยคีสถานเป็นผู้อุปถัมภ์ ซึ่งจากจุดนี้เป็นแนวคิดให้กับธนาคารได้จัดทำปฏิทินสงกรานต์ขึ้นต่อเนื่องมา ซึ่งในการจัดทำปฏิทินปีแรกนั้น น่าจะเป็นปี พ.ศ. 2494 โดยมีอาจารย์ประสงค์ ปัทมานุช ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติได้เขียนภาพปฏิทินเรื่อยมาท่านได้ เขียนอยู่ยาวนานกว่ายี่สิบปี
กระทั่งเกษียณ จากนั้นบุคลากรกลุ่มงานศิลปกรรมธนาคารได้หมุนเวียนกันสร้างสรรค์

ในขั้นตอนการจัดทำปฏิทินสงกรานต์นั้นจะเริ่มจากการอ่านคำทำนายของโหรจากสำนักพระราชวัง หรือที่เรียกว่า ประกาศสงกรานต์ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของนางสงกรานต์ จากนั้นศิลปินจะนำเนื้อหามาแปลความหมาย สร้างสรรค์เขียนภาพจิตรกรรมไทยด้วยลายเส้นประณีต

"ปฏิทินสงกรานต์จะเขียนตามประกาศสงกรานต์ปีนั้นๆ จะบอกปี อย่างปีขาล ปีฉลู นางสงกรานต์ แต่งกาย อย่างไร ทัดดอกไม้อะไร มีเอกลักษณ์อย่างไร ทรงพาหนะอะไร อาวุธเป็นอย่างไร ฯลฯ ภาพในปฏิทินสงกรานต์ศิลปินจะเป็นผู้วางตำแหน่งภาพต่างๆ ตามจินตนาการ สร้างภาพอยู่ในกรอบลายไทยที่มีความแตกต่างกันในแต่ละปี"

"การเขียนจะเป็นไปตามจินตนาการของช่างเขียนภาพนางสงกรานต์ พาหนะ อากัปกิริยา ฯลฯ องค์รวมในภาพเป็นไปตามจินตนาการของช่างเขียน ขณะที่การให้สีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโทนสีที่ใช้กับภาพซึ่งช่างเขียนจะกำหนดให้มีความสวยงามตามจินตนาการของศิลปินตามสภาพความเป็นจริง"

ส่วนการกำหนดขนาดของตัวอักษรและการให้สีที่ตัวอักษรข้อความต่างๆ จะเน้นความชัดเจน และจากการจัดทำต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบันยังคงมุ่งเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย เป็นความภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของประเพณีดีงามของไทย

นอกจากวัน เดือน ปีที่ปรากฏในปฏิทินสงกรานต์ ยังบอกถึงวันมงคล วันที่ควรละเว้นทำการมงคล คำพยากรณ์ที่บอกกล่าวถึงนาคให้น้ำบันดาลฝน เกณฑ์ธัญญาหาร ฯลฯ เหล่านี้ ยังมีความหมายถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญาไทยเกี่ยวเนื่องผูกพันกับน้ำ การเกษตรกรรม อ.พลา ดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการอิสระให้ความรู้เพิ่มเติมของปฏิทินไทยว่า ปฏิทินที่มีรูปนางสงกรานต์เป็นปฏิทินที่มีความเป็นไทยมีเอกลักษณ์ที่พร้อมให้ศึกษา ทั้งวิธีการใช้ มีภาพจิตรกรรม ถ่ายทอดเรื่องราวนางสงกรานต์ บอกข้างขึ้น ข้างแรม ฯลฯ อีกทั้งยังแสดงถึงสภาพสังคม อาชีพเกษตรกรรม การดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยทรงคุณค่าที่ไม่ควรละทิ้ง

จากปัจจุบันปฏิทินมีพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ปฏิทินสงกรานต์เป็นอีกปฏิทินที่ไม่เพียงมีความหมายเพียงแค่การบอกบันทึกวัน เดือน ปีให้ได้ล่วงรู้ หากแต่ยังคงไว้ด้วยเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ของไทยให้ประจักษ์

ในปัจจุบัน นอกจากปฏิทินไทยสงกรานต์ของธนาคารออมสินแล้ว ปรากฏว่ายังมีโรงพิมพ์บางแห่ง ยังพิมพ์ปฏิทินแบบนี้ออกมาจำหน่ายอยู่ แม้ว่าคุณภาพในเรื่องกระดาษ การพิมพ์และฝีมือทางการเขียนภาพ จะสู้ของธนาคารออมสินไม่ได้ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น