.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรือไทย ตอนเรือต่อ

ชนิดของเรือ : เรือต่อ

 เรืออีแปะ





เป็นเรือต่อคล้ายเรือสำปั้น แต่หัวท้ายเรือสั้นกว่า และถากตรงเสริมกราบรอบตลอดลำเรือ ท้องแบน มีตำนานเล่าว่า เดิมเป็นเรือสำปั้นหลุดลอยตามลมพายุฝนมา มีผู้เก็บเรือได้ และไม่รู้ว่าเรือลำนี้เป็นของใคร มีการสอบถามหาเจ้าของเรือ มีผู้อ้างเป็นเจ้าของหลายคน และตกลงไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ผู้เก็บเรือได้ จึงทำการดัดแปลงเรือเสียใหม่ ให้แตกต่างจนจำไม่ได้ว่าเคยเป็นเรือสำปั้นมาก่อน ต่อมาเรืออีแปะเป็นที่นิยมของพ่อค้าชาวจีนนำไปใช้เป็นเรือขายโอเลี้ยง กาแฟ 

      เรืออีแปะ สร้างจากไม้กระดานหลายๆ ชิ้น มี กงเรือ หัวและท้ายเรือมีลักษณะคล้ายกันโดยหัวเรือแหลมทรงเตี้ย มีขนาดกว้างไม่เกิน 1 เมตร ใช้พายแจวไม่ได้ ท้องเรือกว้างบรรจุสิ่งของได้มาก ด้านหัวและท้ายเรือที่มีกระดานปู และบางลำมีกระดานปูท้องเรือ


เรือสำเป๊ะ เรือเช้าเป๊ะ เรือผีหลอก



รูปร่างเพรียวกว้างประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ วา ๒ ศอก(ประมาณ ๙ เมตร ) หัวเรือเรียวเล็ก ท้องเรือแบนราบจึงแล่นในน้ำตื้นได้สะดวก คล่องตัวในการแจวหรือพายทวนน้ำ พื้นตอนท้ายเรือใช้ไม้กรุปิดและเปิดได้ยาว ๑ เมตร สำหรับให้คนยืนแจวเรือ พายเรือ ภายในมีที่ว่างสำหรับขังปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ ตลอดลำเรือมีกงขึ้นห่างเป็นช่วง ๆ ท้องเรือปล่อยโล่งไม่มีไม้ปิดแต่ใช้ทางมะพร้าวตัดปลายใบเล็กน้อยป้องกันมิให้ปลาที่กระโดดเข้ามาหนีออกไปได้
                สาเหตุที่เรียกชื่อว่า “ เรือผีหลอก “ ก็เพราะด้านข้างลำเรือมีไม้กระดานสีขาวหรือสังกะสีแผ่นสี่เหลี่ยม ผูกติดไว้กับแคมเรือมีความสูงเรี่ย ๆ น้ำ เมื่อแล่นผ่านสายน้ำก็จะสะท้อนเป็นเงาวาววับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ทำให้ปลาที่อยู่บนผิวน้ำตกใจกระโดดลอยสูงและตกลงมาบนแผงได้ เลยเข้าสู่ท้องเรือ
การหาปลาจะหาในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นฤดูที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปลาก็ชุกชุมและมีขนาดใหญ่ ปลาที่เข้าเรือผีหลอกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาที่หากินน้ำตื้นเช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาซิว ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลากระดี่ ปลากระบอก ปลากะพง (กะพงขาว และกะพงข้างลาย ) เป็นต้น เวลาที่เหมาะสมในการใช้เรือผีหลอกออกจับปลา คือ เวลากลางคืนตั้งแต่ ๓ ทุ่ม ไปจนรุ่งสาง เมื่อฟ้าสว่างในตอนเช้า ผู้ที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ จะได้เห็นเรือผีหลอกพายกลับมาพร้อม ๆ กันหลายลำ



เรือบด 





เรือบดเป็นเรือที่พระหลาย ๆ วัด นิยมใช้พายเรือบิณฑบาตตามริมน้ำเพราะพายง่ายเป็นเรือต่อแบบฝรั่งทำด้วยไม้สักต่อกระดาน 4 แผ่น มีรูปร่างหัวเรียว ท้ายเรียว เพรียวบาง บางลำหัวเรือเรียวแต่ท้ายตัดเป็นเหลี่ยมแบบเรือทหาร ต่อจากไม้หรือสังกะสี คล้ายกับเรือกรรเชียงของชาวตะวันตก บางลำมีลักษณะเป็นเกล็ด คือใช้ไม้แผ่นเล็ก ๆ หรือใช้แผ่นสังกะสีเรียงซ้อนกันเป็นเกล็ด ส่วนตัวโครงเรือทำด้วยไม้.
ถ้าเรือบดแบบเพรียวหัวเพรียวท้าย ต่อด้วยไม้แผ่นตัดเป็นรูปโค้งปีกกา ปิดส่วนหนึ่งของด้านบนหัวและท้ายเรือ ซึ่งเรียกว่า ตะปิ้ง เอาด้านใดเป็นหัวเรือก็ได้

ชาวเรือมีไว้ใช้พายออกจากเรือใหญ่ เรือของชาวบ้านใหญ่กว่า และมีไว้ติดบ้าน เข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า โบต กล่าวกันว่าเข้ามาในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 4



เรือเจ๊กขายหมู



      
    เป็นเรือต่อ ที่นำเอาแผ่นไม่มาประกอบ กับกระดูกงู เสริมกาบ และใช้ชันยารอยต่อของไม้เพื่อไม่ให้น้ำเข้าสู่เรือได้ หัวเรือท้ายเรือตัดเป็นเหลี่ยมความยาวของเรือตลอดลำมากจึงเหมาะกับการบรรทุกสิ่งของ จำนวนมากๆ เนื่องจากท้องเรือแบนและกว้าง ความกว้างตลอดหัวจรดหางเกือบเท่าๆกัน สอบหัว และท้ายลำเรือเล็กน้อย ชาวบ้านในจังหวัดพิจิตรนิยมใช้เรือชนิดนี้ในการทำประมง และค้าขายสิ่งของ


เรือป๊าบ






       เรือมีลักษณะหัวท้ายเรียวมนลำกว้างท้องแบน พัฒนามาจากเรือแตะของภาคกลาง ช่างต่อมักใช้ไม้สักต่อจากภาคเหนือ อาจส่งไม้มาต่อแถวย่านรังสิต โดยใช้กงเรือ มีพื้นส่วนหัวและส่วนท้ายเรือ กลางลำลดพื้นลงต่ำ ใช้เป็นเรือบรรทุกของเล็กๆน้อยๆ โดยสารได้ไม่เกิน 3-4 คน ความยาวเรือประมาณ 2 วา ใช้สอยทั่วไปตามริมหนอง คลองบึง มักจะเป็นเรือต่อสำเร็จรูปจากจังหวัดที่มีไม้สักมากและลำเลียงลงมาขายในภาคกลาง
      เรือป๊าบ เป็นเรือต่อลักษณะคล้ายเรือเจ๊กขายหมู แต่มีขนาดสั้นกว่าและหัวเรือ ท้ายเรือเชิดสูงกว่าท้องเรือ เป็นเรือที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด ชาวบ้านจึงนิยมใช้เป็นพาหนะยามน้ำท่วมสัญจรไปในที่ต่างๆ และใช้ในการประมงด้วย ในอดีตพระสงฆ์ก็ใช้เรือนี้บิณฑบาตรในแม่น้ำน่านด้วย

เรือแตะ




เป็นเรือที่ต่อด้วยไม้ทั้งลำเรือ โดยใช้ไม้สักและไม้ตะเคียน ห้วท้ายมน ท้องเรือเป็นเหลี่ยม ใช้ไม้กระดาน 5 แผ่น เสริมกาบเรือทั้งสองข้าง มีความยาวตลอดลำเรือประมาณ 3เมตร  นั่งได้ประมาณ 4-5 คน ใช้ในสวน เพื่อบรรทุกผลผลิตจากสวน หรือใช้ตกปลา หรือใช้ติดตอ่ภายในหมู่บ้าน


เรือเข็มหรือเรือโอ่






- เรือเข็มเป็นพาหนะทางน้ำที่ใช้แรงคนพาย มีขนาดเล็กและเร็วที่สุด ปกติเรือเข็มจะทำด้วยไม้กระดาน 3 แผ่น แผ่นกลางเรียกว่าท้องเรือ อีก 2 แผ่น เรียกว่าข้างเรือ ยึดติดกันด้วยกงเรือขนาดเล็กอาจจะมีการยกขอบเรือด้วยไม้กว้างประมาณ 5 นิ้วอีกด้านละแผ่น ไม้ทั้งสามแผ่นจะไปรวมกันที่บริเวณหัวและท้ายของเรือ ดังนั้นหัวเรือเข็มจึงมีลักษณะแหลมไม่ต้านน้ำ เรือเข็มยาวประมาณ 4-5 เมตร บริเวณกลางเรือค่อนข้างไปทางหัวเรือทั้งสองมีไม้กระดานวางคล้ายเป็นที่นั่งเรียกว่ากระทงเรือ กลางเรือปูด้วยไม้กระดานที่บางและเบาบนกระดานเรือมีม้านั่งที่นำด้วยไม้เป็นที่นั่งสำหรับคนพายเรือ เรือเข็ม มีน้ำหนักเบาสามารถยกได้ด้วยมือข้างเดียว
        พายสำหรับที่ใช้พายเรือเข็มมีทั้งแบบใบพายเดียวกับใบพายคู่ พายเดี่ยวมีใบพายเพียงใบเดียวส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะเป็นด้ามยาวประมาณ 2 เมตร พายมีขนาดเล็กเรียวน้ำหนักเบา การพายเรือเข็มแตกต่างกับการพายเรือธรรมดา เพราะเรือเข็มมีขนาดเล็กผู้พายจะใช้วิธีการคัดท้ายเรือกับลำเรือไม่ได้เพราะจะทำให้เรือคว่ำผู้พายจะต้องใช้ข้อกำลังแขนและพายให้เรือเข็มวิ่งไปข้างหน้าตามทิศทางที่ต้องการ ผู้พายจะต้องไม่ยกพายขึ้นเหนือผิวน้ำ พายจะเป็นตัวประคองไม่ให้เรือคว่ำ ดังนั้นการพายเรือเข็มจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวกับแรง พายอีกชนิดหนึ่งคือพายคู่มีขนาดเล็กเช่นเดียวกับพายเดียวแต่จะยาวกว่าพายเดียวประมาณ 1 เมตร มีใบพาย 2 ใบ ที่ปลายทั้งสอง ผู้พายจับพายบริเวณกลางพาย แล้วใช้ใบพายทั้งซ้ายและขวาพายเรือพาเรือเข็มวิ่งไปข้างหน้า โดยปกติจะบรรทุกผู้โดยสารคือคนพายเรือไปเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าผู้โดยสารมีน้ำหนักน้อยก็สามารถโดยสารมาได้ 2 คน แต่ทั้งสองคือคนพายและผู้โดยสารจะต้องหันหลังชนกัน และหลังจะต้องติดอยู่ด้วยกัน ผู้ที่โดยสารจะต้องนั่งตัวตรง ผู้พายจะทำหน้าที่จับสมดุลไม่ให้เรือคว่ำโดยใช้พายและลำตัวของ ผู้พาย
    
         เรือเข็มเป็นพาหนะชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมของหนุ่มสาวในสมัยนั้น เรือประเภทนี้สามารถแล่นไปในน้ำตื้นได้ ในฤดูแข่งเรือมีผู้นิยมนำเรือเข็มไปพายแข่งกันมีทั้งการแข่งทางตรงและการพายอ้อมสิ่งกีดขวางที่อยู่ในลำน้ำหรือพายลอดราวไม้ที่ขวางอยู่ตามลำน้ำ ในบางครั้งมีการนำปีบไปวางไว้ตามลำเรือแทนม้านั่งแล้วพายแข่งกันเป็นการทดสอบการสร้างสมดุลของผู้พาย บางครั้งมีการแข่งขันกันโดยให้ผู้พายคว่ำเรือกลางแม่น้ำแล้วให้กู้เรือจากกลางแม่น้ำ แล้วปีนขึ้นมาบนเรือแล้วพายต่อไปยังเป้าหมาย วิธีการกู้เรือกลางน้ำผู้กู้เรือยืนไม่ถึงพื้นดินแต่นำกระดานเรือมาหนีบไว้ที่หว่างขาทั้งสองข้างแล้วใช้มือทั้งสองยกเรือพ่นน้ำ โดยกระดานเรือจะช่วยต้านน้ำไว้ในขณะกู้เรือ จากนั้นคนกู้เรือจะนำกระดานไปวางไว้ในเรือเข็มแล้วปีนขึ้นไปบนเรือโดยใช้มือทั้งสองข้างกดบนกระดานกลางลำเรือพยุงตัวพ่นจากน้ำลงไปในเรือนั่งในเรือพายเรือไปยังเป้าหมาย โดยปกติเจ้าของเรือมักจะไม่จอดเรือเข็มไว้ในน้ำเมื่อเลิกใช้ก็จะยกเรือขึ้นเก็บ เมื่อจะใช้ก็จะยกเรือลงน้ำ

- เรือเข็มนี้เหมาะสำหรับแม่น้ำลำคลองที่ไม่มีคลื่น มักใช้เป็นเรือสำหรับพระออก บิณฑบาตเพราะเรือมีความเร็วสูงจึงใช้เรือโปรดญาติโยมในระยะไกลได้ รวมทั้งเป็นการฝึกอารมณ์ของพระภิกษุให้มีสมาธิแน่วแน่อยู่กับการพายเรือ การพายเรือเข็มของพระภิกษุมีความยากลำบากเพราะมีเครื่องแต่งกายที่ไม่รัดกุมเหมือนชาวบ้าน ตามชนบทก่อนที่จะมีงานบวชลูกชายญาติ ๆ จะช่วยกันต่อเรือเข็มเพื่อผู้ที่จะบวชเป็นพระได้ใช้เรือเข็มในการบิณฑบาตร ดังนั้นผู้ที่จะบวชเป็นพระจึงจำเป็นที่จะต้องหัดพายเรือเข็ม นับว่าเป็นการสร้างสมาธิการเตรียมตัวที่จะเป็นพระภิกษุ หากพระภิกษุองค์ใดพายเรือเข็มรับบาตรแล้วเกิดเหตุเรือร่มหลายครั้งหรือไม่สามารถพายเรือเข็มได้ก็จะถูกตำหนิว่าเป็นคนที่ไม่มีสมาธิ เรือเข็มจึงมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานสำหรับชุมชนแม่น้ำท่าจีน

                                                                        เรือเข็มโบราณ



เรือโป๊ะ 




เป็นทั้งเรือต่อและเรือที่ใช้ลูกมาดแล้ววางกง ตั้งโขนทั้งหัวและท้ายเหมือนกัน ลำเรือรูปเพรียวลมมีเสากระโดงใบแขวน ใช้หางเสือแขวนกับหลักเรียกว่า โด่ ด้ามหางเสือแนบกับแคมเรือ ใช้แจวยึดกับหลักแจวข้างแคมเรือซ้ายขวา ถ้าอยู่ในทะเลจะใช้ใบ เรือโป๊ะใช้ประกอบอาชีพประมงทะเลเรียกว่า ทำโป๊ะ
เรือโป๊ะ จะออกไปจับปลาตามหลักจันทรคติ เวลาจับปลาจะเลื่อนไปเรื่อย ๆ ตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง เรือโป๊ะจะจับปลาตอนกลางคืน เพราะธรรมชาติของปลาทะเลจะว่ายตามน้ำ ปลาผิวน้ำจะว่ายตามน้ำขึ้นมาหาอาหารตามชายฝั่ง พอน้ำลงก็ว่ายกลับสู่ทะเล


เรือสำปั้น




เป็นชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ใช้เป็นพาหนะสำหรับอาศัยไปมา หรือบรรทุกสิ่งของสินค้าขึ้นล่องทางน้ำ โดยการแจวหรือพายเรือสำปั้นของไทยในชั้นเดิมสันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างจากเรือของจีน เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดานแผ่นยาวพอประมาณ จำนวนสามแผ่นประกอบเข้าเป็นลำเรือ
           ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ได้คิดดัดแปลงเรือสำปั้นเรียกว่าเรือสำปั้นแปลง โดยเพิ่มกระดานที่นำมาต่อเรืออีกสองแผ่น รวมเป็นห้าแผ่น ลักษณะท้องเรือค่อนข้างมน กลางลำป่องเป็นกระพุ้ง หัวและท้ายเรือเพรียว ส่วนท้ายเรืองอนเชิดขึ้นสูงกว่าหัวเรือ  ต่อมาได้คิดต่อให้ใหญ่และยาวขึ้นเป็น 7 - 8 วา และต่อมาได้ต่อได้ยาวถึง 14 - 15 วา ใช้กันแพร่หลายเป็นลำดับมา ในชั้นหลังใช้ไม้สักแทนไม้ฉำฉา
               เรือสำปั้นขนาดย่อม ใช้กำลังคนพายท้ายเรือ และหัวเรือแห่งละคน ส่วนเรือสำปั้นขนาดใหญ่ และยาวมากมักใช้แจวแทนพาย อาจมีหนึ่งแจว หรือสองแจว แต่บางลำใช้หกหรือแปดแจวก็มี
ต่อมาได้มีการต่อเติม และดัดแปลงให้มีรูปลักษณะและสิ่งประกอบต่าง ๆ ตามความนิยม และประโยชน์ใช้สอย จึงมีเรือสำปั้นต่างชนิด และเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น

เรือสำปั้นเพรียว หรือเรือเพรียว เป็นเรือสำปั้นขนาดเล็กและเพรียว  เรือเพรียวเป็นเรือขนาดเล็กเรียวยาวดูประเปรียวพายพร้อมๆกัน จะเคลื่อนที่ได้เร็ว กินน้ำน้อยสามารถพายได้ในน้ำตื้น มีใช้อยู่ทั่วไปตามสภาพท้องถิ่นและความจำเป็น เช่น ใช้บอกข่าวคล้าย “มาเร็ว” ของทางราชการในการส่งข่าวสำคัญ บางครั้งใช้ในการสอดแนมหรือร่วมสงครามทางน้ำ (ใช้ในพื้นที่ทำสงครามซึ่งไม่มีพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ใช้บรรทุกคนเจ็บป่วยไปสุขศาลาหรือไปหาหมอในตัวเมือง เพราะพายได้รวดเร็ว  ใช้บริจาคเป็น “ทาน” มอบให้แก่วัดต่างๆ เพื่อใช้สอยในงานบุญกฐิน และบรรทุกสำภาระภายในวัด ใช้ในการชักลากเรือต่างๆ เช่นชักลากเรือกฐิน (หลังวันออกพรรษาก่อนหน้าวันลอยกระทง) ไปตามลำน้ำ (คล้ายพระราชพิธีถวายกฐินพระราชทานพยุหยาตราทางชลมารค)ใช้ชักลากเรือบรรทุกทรายไปวัดในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือใช้ชักลากเพรียวพระน้ำในวัน แรม 1-2 ค่ำ เดือน 11 ตามประเพณีนิยมของชาวพุทธที่เรียกว่า “ลากพระหลังวันออกพรรษา”
           ใช้ในการพายแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนาน หรือแข่งขันชิงรางวัลและพายแข่งขัยโดยการวางเดิมพันเพื่อการพนันขันแข่ง




เรือสำปั้นสวน  เป็นเรือขนาดกลาง ใช้บรรทุกผลิตผลจากสวน




เรือสำปั้นจ้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เรือจ้าง เป็นเรือขนาดกลางใช้คนแจวคนเดียว มีทั้งแบบตั้งเก๋งโถงและเรือเปล่า ใช้รับจ้างส่งคนข้ามฟากหรือไปในระยะไม่ไกลนัก



เรือสำปั้นเล็ก ยาวประมาณหนึ่งวาสองศอกถึงสองวา ใช้พายคนเดียว บางทีเรียกเรือคอน มักใช้เป็นเรือพายขายของกินต่าง ๆ
เรือสำปั้นประทุน  เป็นเรือขนาดกลาง ติดหลักแจวหนึ่งหรือสองหลัก ตอนกลางลำเรือทำประทุนรูปโค้งกั้นแดดกันฝนต่างหลังคา ใช้สำหรับเดินทางรอนแรมไปไกล ๆ



เรือสำปั้นเก๋ง  เป็นเรือขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อาจใช้แจวสี่ถึงแปดแจว กลางลำเรือตั้งเก๋งเครื่องกั้นแดดกันฝน
เรือสำปั้นแปลง มีขนาดทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ ดัดแปลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสม สำหรับขนส่งสิ่งของ โดยทำส่วนกราบเรือทั้งสองข้างสูงขึ้นกว่าปรกติ


เรือจู๊ด




เรือจู๊ด เป็นเรือต่อที่สร้างขึ้นมาในระยะหลังประมาณสิบปี เป็นเรือต่อคล้ายเรือแตะ ลักษณะหัวท้ายเรียว กลางกว้าง ท้องเรือกลมเกือบแบน รูปร่างเพรียว ยาว นั่งสบาย ไม่โคลง เดิมต่อมาจากจังหวัดภาคเหนือแล้วล่องมาขาย พ่วงติดกันมาเป็นแพ ลอยตามต้ำมาในฟดูน้ำหลาก ราคาไม่แพง วิธีการต่อง่ายๆ ไม่ใช้เทคนิคอะไรมากมาย ระยะหลังมีการต่อกันแถวรังสิต ปทุมธานี


เรือข้างกระดาน


เรือข้างกระดานหรือเรือเครื่องเทศเป็นเรือแจว ใช้ไม้แผ่นกระดานประกอบขึ้นเป็นตัวเรือ คล้ายเรือสำปั้นแต่แบนกว่า และหางเสือกว้างกว่าเรือสำปั้น ตอนกลางมีประทุน เก๋ง กรุด้วยแผ่นกระดานรางลิ้น หลังคาโค้งเล็กน้อย ท้ายเรือเป็นขยาบ ยก ตอนท้ายมีที่นั่งระหว่างเสาเก๋งท้าย เพื่อให้คนนั่งถือหางเสือ คนท้ายอาจจะแจวไปด้วยถือท้ายไปด้วย ใช้เป็นเรือขายของ เสมอืนซุปเปอร์มาร์เกตน้อยๆ ลอยน้ำ ส่วนใหญ่จะใช้ในหมู่ชาวอิสลาม และอาศัยอยู่กันในเรือทั้งครอบครัว ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น


เรือแท๊กซี่




เรือแท๊กซี่ เป็นเรือตอ่ด้วยไม้ มีลักษณะคล้ายเรือสำปั้น แต่หัวเรือแบนใหญ่ เชิดขึ้นท้ายเรือต่ำ มีหลังคาประทุนกันแดดฝน เครืองเรือตั้งอยู่กลางลำเรือ ใบพัดเรืออยู่ใต้ท้องเรือ ด้านซ้ายมือมีพวงมาลัยบังคับให้เลี้ยวซ้าย-ขวา อยู่หน้าลำเรือ  มีความยาวตลอดลำเรือประมาณ 10-12 เมตร แล่นได้ไม่เร็วมากนัก แต่มีแรงจูงมาก  ดังนั้นนอกจากเรือแท๊กซี่จะใช้รับบรรทุกผู้คนเดินทางไปตามแม่น้ำแล้ว ยังจะเป็นเรือสำหรับลากจูงเรือบรรทุกข้าวสาร-ข้าวเปลือก หนักๆหลายลำได้ด้วย

เรือเมล์




เรือเมล์เป็นเรือหัวแหลมแบบเตารีดด้วยถ่านสมัยก่อน ซึ่งเป็นแบบเรือยนต์ของฝรั่ง ซึ่งมีหลังคาเป็นแผ่นบางๆ ยาวไปตามลำเรือ มีเสารองรับ มีผ้าใบผูกติดชายคาเรือสำหรับบังแดดฝน เครื่องยนต์ติดกลางลำเรือ มีปล่องท่อไอเสียติดอยู่บนหลังคา พวงมาลัยอยู่หัวเรือ และทีท้ายเรือมีห้องสุขา มีควา่มยาวตลอดลำเรือ ประม่าณ 12-16 เมตร ใช้เป็นพาหนะสำหรับให้บริการผู้โดยสารจำนวนมาก ตามเส้นทางต่างๆ ปัจจุบันใช้เป็นเรือลากจูง

เรือหม้อ Motor boat




เรือหม้อหรือมอเตอร์โบ๊ท เป็นเรือต่อด้วยไม้สัก ส่วนกงเรือใช้ไม้ตะเคียน มีทวนหัวตั้งตรง ท้ายเรือโค้งมน ท้องเรือกลมกินนำลึก การขับเคลื่อนใช้เครื่องจักรไอน้ำ โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีปล่องไฟหุ้มด้วยทองเหลือง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า เรือหลวงปล่องเรือ ปัจจุบันเห็นได้มในภาคกลาง



เรือเท้ง




เรือชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายเรือกำปั่น ตอนหัวหนาและงุ้มเป็นปากนก ท้ายเรือปาดลงเป็นรูปแตงโม มีเสาหัวและเสากลางสำหรับชักใบกลางลำมีเก๋ง ท้ายเรือมีบาหลีรูปกลมและมีแคร่รอบบาหลีท้าย หัวเรือไม่เจาะรูสมอ

เรือหางยาว 



              เป็นเรือยนต์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเพรียวยาว ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่ท้ายเรือ มีท่อโลหะยาวคล้ายหางติดใบจักร ใช้แทนหางเสือไปในตัว และยกขึ้นลง โยกไปทางซ้าย ทางขวา เพื่อเปลี่ยนทิศทางได้
       เรือหางยาวรุ่นแรกถือกำเนิดบนรูปร่างของเรือพายที่นำเครื่องยนต์ เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องฉุดระหัดเก่า มากลึงต่อกับเพลายาวที่มีปลายเป็นใบพัด แล้วนำไปติดตั้งที่ช่วงกลางของลำเรือ ให้ใบพัดจุ่มลงไปในน้ำพอควร ใช้กำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งตรงจากเครื่องถึงใบพัด ฉุดใบพัดให้หมุน ใบพัดจะผลักน้ำในระยะไกลกว่าตัวเรือพอสมควร ทำให้เกิดแรงดันให้เรือวิ่งได้
     เรือหางยาวในปัจจุบัน ใช้เครื่องยนต์จากรถยนต์มาติดตั้ง วิ่งได้ในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ชายทะเล บริเวณน้ำตื้น ใช้ได้ทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงจะแล่นได้เร็ว สามารถยกใบพัดพ้นที่ตื้นเขินได้ การบังคับเรือง่าย เพียงแค่โยกใบพัดหรือใบจักรก็สามารถบังคับเลี้ยวได้ ถ้าถอดหางออกก็ใช้เป็นเครื่องสูบน้ำได้


..............................................................................
                                       
  เรือพ่วง 

ลักษณะเป็นเรือบรรทุกสินค้าหลายๆลำผูกโยงกันเป็นพวง แล้วมีเรือยนต์หรือเรือกลไฟลากจูง เรียกกันว่าเรือโยงขบวนเรือพ่วง มักจะพ่วงเรือประเภทเดียวกันเพราะการใช้เรือบรรทุกสินค้าแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท เช่น เรือกระแชง เรือ เอี้ยมจุ๊น เรือแจวใหญ่

เรือกระแชง 





เป็นเรือต่อทำจากไม้สัก ท้องเรือโค้งกลมมีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่งมี3ขนาดคือ เล็ก กลางใหญ่ ทวนหัวท
วนท้ายแบนเรียบ กงเรือเป็นไม้โค้งตามท้องเรือและวางเรียงกันถี่มาก ข้างเรือเป็นแผ่นไม้หนายึดเหนี่ยวด้วยลูกประสัก (สลัก) ที่ทำจากไม้แสมเหลากลม ด้านนอก โตกว่าด้านใน ส่วนปลายลูกประสักด้านในผ่ากราดด้วยลิ่มกันลื่นออก บนดาดฟ้าทำประทุนครอบเรือ (หลังคา) และมีฝาไม้ปิดด้านหน้าและด้านหลัง
กระแชง เป็นการเรียกเรือต่อ ที่ทำหลังคาด้วยกระแชง คลุมตลอดลำ กระแชงคือ เครื่องบังแดดบังฝนทำจาก ใบเตย ใบจาก มาเย็บเป็นแผงสมัยก่อนทำจากใบไผ่ เบากว่าที่ทำจากใบจากและกันความร้อนได้ดี กระแซงแบบนี้ คนจีนมักจะทำขาย ต่อมาราคาแพง คนจึงหันมาใช้สังกะสี แทน ทำให้กระแซงใบไผ่หายไป เรือกระแชง ที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นเรือบรรทุกสินค้า หากเปรียบเทียบเรือที่สัญจรไปมาในลำน้ำในอดีตเทียบกับถนนหนทางในปัจจุบัน เรือกระแชง ก็เปรียบเสมือนรถพ่วง 18 ล้อ


เรือเมขลา


เป็นเรือที่นำเรือกระแชงมาดัดแปลงตกแต่ง ทำเป็นเรือท่องเที่ยว ได้รับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา มีห้องพักภายในเรือ มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมทั้งเครื่องปรับอากาศในห้องพักทุกห้อง ดาดฟ้าด้านบน จะเป็นที่พักผ่อนตามอัธยาศัย นักท่องเที่ยวจะได้พบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านริมน้ำ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเรือในน่านน้ำเจ้าพระยา อีกรูปแบบหนึ่งด้วย


เรือเอี้ยมจุ๊น 




              เป็นเรือขนาดใหญ่ นิยมต่อด้วยไม้เคี่ยม ท้องเรือเรียวแหลมเล็กน้อย หัวและท้ายเรือจะเป็นทวนไม้ตั้งขึ้นแข็งๆ เรียกว่าทวนตั้ง ไม่อ่อนโค้ง เหมือนทวนเรือกระแซง ระดับเรือจากหัวถึงท้าย เกือบจะอยู่ในระดับเดียวกัน หางเสือเป็นประเภทที่ใช้คล้องติดกับหลักท้ายเรือ ไม่เหมือนหางเสือเรือกระแซง ที่เกี่ยวติดกับท้ายเรือ ท้ายเรือมีขยาบเป็นหลังคา สำหรับเป็นที่พักและนั่งถือหางเสือ

         เรือเอี้ยมจุ๊น ต่อด้วยไม้รูปร่างอ้วนใหญ่ นิยมใช้ไม้เคี่ยม โดยทั่วไปลักษณะคล้ายเรือกระทงแตกต่างกันตรงท่อนหัวเรือ และท้ายเรือเอี้ยมจุ๊น มีลักษณะเป็นสันที่เรียกว่าทวนตั้ง ท้ายเรือมีประทุนสำหรับเป็นที่พักและที่นั่งของผู้ถือหางเสือเรือ เคลื่อนที่ได้โดยใช้เรือยนต์ลากจูง ใช้ถ่อหรือแจว เรือเอี้ยมจุ๊นรูปร่างอ้วนใหญ่เพราะต้องการใช้บรรทุก ตัวเรือต่ออย่างแข็งแรง
             เรือเอี้ยมจุ๊น ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าเรือเกลือ เข้าใจว่าจะเคยบรรทุกเกลือมาก่อน อีกทั้งเจ้าของเรือ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน นิยมใช้บรรทุกสินค้าขนาดหนักอย่างกว้างขวาง บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง เคลื่อนที่โดยการลากจูงด้วยเรือยนต์


 
เรือฉลอม 





เรือต่อชนิดท้องกลมเล็กกว่าเอี้ยมจุ๊นมีกระดูกงูและกง พื้นหัวและส่วนท้ายสูงเกือบเสมอปากเรือพื้นกลางลดระดับเป็นระวางบรรทุกสินค้าปกติใช้เรือใบมีเสากระโดงเรือประจำเรือ หางเสือแบบเดียวกับเรือเอี้ยมจุ๊น นิยมใช้ตามหัวเมืองแถวปากน้ำติดกับทะเลและลึกเข้ามาก็มี มีทั้งใช้จับปลาและใช้บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องบริโภค เช่นน้ำปลา ปลาเค็ม อาหารทะเลอื่นๆ ทั้งสดและแห้ง
สมัยโบราณเวลาเกิดศึกสงครามก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้ในราชการทัพด้วย และนับเป็นเรือชนิดแรกของไทยที่สามารถกางใบแล้ววิ่งทวนลม (วิ่งก้าว) ได้ เรือฉลอม เป็นเรือขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถ้าเป็นขนาดกลางใช้ใบเดียว ถ้าเป็นขนาดใหญ่ใช้ ๒ ใบ เสากระโดงเรือใหญ่เอนไปข้างท้ายเรือเล็กน้อย มีหางเสือ ๒ อัน ห้อยลงสองข้างท้ายเรือ เวลามีคลื่นลมแรงจะใช้หางเสือทั้งสองอัน ถ้าคลื่นลมสงบ ใช้หางเสือเดียว เพราะสามารถหย่อนลงไปได้ลึกและยังถ่วงมิให้เรือโคลงไปตามลม ใบหางเสือเรืออีกอันที่เหลืออาจถอดตั้งไว้ท้ายเรือ โดยเอาใบหางเสือขึ้นทำเป็นใบเรือได้อีกด้วย เพื่อให้หัวเรือหันสู้ลม เรือจะได้ไม่ส่ายไปมา

วิ่งก้าว ( เป็นภูมิปัญญาของชาวเรือที่เรียนรู้เกี่ยวกับการแล่นเรือ)เป็นการแล่นเรือเมื่อทิศทางลมไม่เป็นใจ ปกติเรือที่ใช้ใบต้องวิ่งตามลม เมื่อถึงคราวที่ต้องวิ่งสวนทางลมไปอีกทิศหนึ่ง การแล่นเรือใช้วิธีชักใบเรือให้กินลมแบบเฉียงๆ กินลมไม่เต็มที่แต่สามารถพาเรือไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยการพลิกใบแล่นไปทางขวาทีทางซ้ายที เรียกว่าวิ่งก้าว ต้องวิ่งสลับวิ่งตรงๆไม่ได้ต้องแล่นเฉียงๆในช่วงนั้นเรือจะถูกลมพัดจนเรือเอียง



เรือฉลอมท้ายญวน 





ลักษณะคล้ายเรือฉลอม แต่ขนาดของเรือจะโตและยาวกว่า มีทวนหัวทวนท้ายเป็นแท่งไม้ตรงเอียงไปทางหัวและท้าย กลางลำเป็นหลังคาประทุนไม้สานใช้ชันพอกกันฝน สามารถใช้เก็บสินค้า ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล มีบ้านอยู่ท้ายเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น