.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรือไทย ตอน “เรือใบ” ในหลวง

ตามรอย “เรือใบ” ในหลวง





เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “ในหลวง” ของคนไทยทั้งประเทศ ทรงโปรด “เรือใบ” เป็นกีฬาพิเศษที่พระองค์ท่านสร้างความโดดเด่นด้วยพระปรีชาของพระองค์เองมานาน

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในงานช่างมาก งานช่างจะต้องใช้ความอดทน ประณีตละเอียดลออไม่น้อย และพระองค์ได้ทรงฝึกงานนี้มาอย่างเพียงพอ ทำให้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น

หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงมีพระราชภารกิจต่างๆ มากมาย เพราะทรงตระหนักว่า ประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามต้องมีความสำคัญก่อนเสมอ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานช่างเพียงเล็กน้อย

สำหรับเรือใบ เมื่อมีโอกาสจึงโปรดต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง โดยศึกษาแบบแปลนและข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราทั่วโลกอย่างถี่ถ้วน และทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกทรงต่อเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อว่า ราชปะแตน ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๐๘ ทรงต่อเรือใบประเภท โอ.เค. พระราชทานชื่อว่า นวฤกษ์ และ เวคา หรือ VEGA อันมีความหมายถึงดวงดาวที่สว่างสุกใส ซึ่งได้ทรงต่อขึ้นอีกคือ เวคา ๑ เวคา ๒ และเวคา ๓
นอกจากนั้นระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๙-๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดค้นออกแบบและสร้างเรือใบขึ้นมาประเภท หนึ่ง พระราชทานชื่อว่า เรือใบแบบมด (Mod) ซึ่งได้ทรงจดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศอังกฤษ

ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบว่า เรือใบแบบมดยังมีข้อผิดพลาดอยู่บางประการ เนื่องจากเรือมีลักษณะไม่สมส่วน กล่าวคือ ลำเรือมีขนาดใหญ่และตรงกลางป่องออกมากเกินไป จึงทำให้เรือแล่นได้ช้า ในเวลาต่อมาจึงทรงคิดออกแบบเรือขึ้นใหม่ โดยปรับแต่งหัวเรือให้รูปทรงแบน เหมือนปลากระเบนเพื่อให้แล่นแหวกน้ำได้ดีขึ้น

เรือใบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่พระราชทานชื่อว่า เรือใบแบบซุปเปอร์มด เป็นเรือที่มีลักษณะเพรียว เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีร่างกายเล็กและน้ำหนักน้อย เรือใบตระกูลมดลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงออกแบบคือ เรือใบแบบไมโครมด ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักเล่นเรือใบทั้งหลาย เพราะเป็นเรือใบที่สามารถแล่นได้ตามลำพังคนเดียว และการสร้างมีเงื่อนไขเพียงต้องใช้ไม้อัดขนาด ๔ x ๘ ฟุต แผ่นเดียวเท่านั้น

เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ คือ เรือโม้ก (MOKE) ซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างเรือโอ.เค. และเรือซุปเปอร์มด โดยใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอ.เค. เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายจึงมิได้ต่อ เรือใบอีกต่อไปจนปัจจุบัน ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นเมื่อ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นเรือต้นแบบของเรือประเภทมดที่ใช้แข่งขันกีฬานานาชาติ เป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ และใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติทุกๆครั้งที่แข่งในประเทศไทย ครั้งหลังสุดใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ ณ ประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๔๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ซึ่งเป็นวันพิธีปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ สนามศุภชลาศัยสถานกีฬาแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบลำแรกเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ เป็นเรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรซ์ ชื่อเรือ “เรือราชปะแตน”และลำต่อมาคือ “เรือเอจี” ทรงต่อตามแบบสากลและทรงใช้แข่งขันแล่นเรือใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศไทย เช่นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ทรงใช้เรือราชปะแตนแข่งขันกับ ดุ๊ก ออฟ เอดินเบอระ พระราชอาคันตุกะ ส่วนพระองค์โดยใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา - เกาะล้าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นด้วยไม้อัด ยาว ๘ ฟุต หนา ๔ มิลลิเมตร แผ่นเดียว เมื่อ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นเรือใบขนาดเล็กที่สุดในตระกูลมด เหมาะสำหรับเด็กและคนร่างเล็ก วิธีการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีวิธีการสร้างที่ ง่าย ประหยัดและสะดวก ใช้เครื่องมือช่างไม้ธรรมดาๆ ก็สามารถทำได้ วัสดุที่ใช้ล้วนหาได้ในประเทศทั้งสิ้น


หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ทรงเล่าถึงพระราชดำรัสของพระองค์ท่านในหนังสือ อ.ส.ท. เรื่องทรงเรือใบ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2534 ไว้ว่า...ปีใหม่คนอื่นๆ เขาไปฉลองกันเสียเงินมาก แต่เราเสีย 147 บาทเท่านั้น เป็นค่าไม้ยมหอม และค่าเบียร์ฉลองปีใหม่ แต่เรายังสนุกกว่าเขาอีก แล้วยังเป็นประโยชน์ด้วย...

นอกจากเป็น “นักประดิษฐ์” ที่พระปรีชามากแล้ว ยังทรงเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน ทำให้ 16 ธันวาคม 2510 ประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลกต้องจารึกไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงคว้าชัยการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย

ในครั้งนั้นพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในระดับนานาชาติ ยิ่งไปกว่านั้นยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียวที่ทรงให้ความสนใจกีฬาอย่างจริงจัง ตามพระราชดำรัสที่ว่า

"...การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง..." สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานที่ทรงใช้กีฬามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ

ชัยชนะครั้งนั้น พระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างน่าสนใจว่า “การชนะการแข่งขัน ความจริงคือ การชนะตนเองนั่นแหละ” สะท้อนถึงปรัชญาลึกซึ้งที่ทรงตระหนักในเกมกีฬาทั้งหมด เป็นอีกหนึ่ง...ในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ที่พระองค์ทรงอยากให้คนไทยมีกีฬาอยู่ในหัวใจ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น