.
วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558
เพจเจอร์..ตำนานที่ยังไม่ตาย
เพจเจอร์..ตำนานที่ยังไม่ตาย
ในขณะที่โปรแกรมแชตอย่าง Line ขึ้นแท่นเป็นแอพพลิเคชั่นยอดฮิตที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกไม่น้อยกว่า 90 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 10 ล้านคนเป็นผู้ใช้ชาวไทย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้การส่งข้อความสั้นหรือ SMS ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว
แต่ก่อนที่เราจะสามารถส่งข้อความหากันได้อย่างรวดเร็ว ราคาถูกและเป็นส่วนตัวดังเช่นทุกวันนี้ เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว การส่งข้อความสั้นหาใครสักคน เหมือนการส่ง SMS หรือ line เป็นเรื่องที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านวิธีการและค่าใช้จ่าย
‘เพจเจอร์’ หรือ วิทยุติดตามตัว เป็นอุปกรณ์ สื่อสารแบบพกพาชนิดแรกๆ รองจากวิทยุสื่อสาร ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีไว้ครอบครองได้ ‘เพจเจอร์’ เริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 แต่มาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี พ.ศ.2530-2544 โดยบริษัทแปซิฟิก
เทเลซิส เป็นผู้ให้บริการรายแรก ภายใต้ ชื่อ “แพคลิงค์” ซึ่งได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนรายอื่น เริ่มจาก “โฟนลิ้งค์” ของกลุ่มชินคอร์ป ตามมาด้วย “ฮัทชิสัน” ซึ่งเป็นการร่วม ทุนระหว่างฮัทชิสันวัมเปาและล็อกซเล่ย์ ที่เปิดให้บริการในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นมีกลุ่มเลนโซ่และกลุ่มยูคอม
ในยุคนั้น เพจเจอร์เป็นแก็ดเจ็ดยอดนิยมของวัยรุ่นไทยที่ต่างต้องมีเหน็บเอวหรือใส่กระเป๋าไว้เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือในสมัยนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 600,000 ราย
สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย การทำงานของเพจเจอร์นั้นจะเป็นเครื่องมือสื่อสารทางเดียว คือ สามารถรับข้อความได้เท่านั้นไม่สามารถส่งหาบุคคลอื่นได้ ผู้รับข้อความต้องติดต่อกลับไปหาผู้ส่งโดยใช้โทรศัพท์สาธารณะหรือโทรศัพท์บ้านเท่านั้น
แม้แต่ทางผู้ส่งข้อความเองก็ไม่สามารถพิมพ์ข้อความและส่งไปหาผู้รับได้โดยตรง แต่ต้องโทรศัพท์ไปยังคอลเซ็นเตอร์เพื่อบอกให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความที่ต้องการและส่งต่อให้อีกทอดหนึ่ง โดยแจ้งหมายเลขประจำเครื่องของผู้รับ
ในรุ่นแรกๆ เพจเจอร์จะสามารถแสดงได้เพียงตัวเลข ซึ่งผู้ใช้ต้องจดจำความหมายเฉพาะ ต่อมาจึงมีรุ่นที่สามารถแสดงตัวอักษรภาษาไทยได้ 1-2 บรรทัด ผู้ให้บริการเพจเจอร์ในสมัยนั้นมีด้วยกันหลาย ราย เช่น WorldPage 142, PhoneLink 152, Hutchison 162, EasyCall 1500, PacLink 1144 และ Postel 1188 เป็นต้น
ค่าบริการของเพจเจอร์มีการคิดเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ โดยสนนราคาตั้งแต่ 300-400 บาทต่อเดือน ส่วนเครื่องเพจเจอร์จะมีราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท แตกต่างกันไปตามฟังก์ชั่น ซึ่งในสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว นับว่าสูงแต่ยังต่ำกว่าค่าบริการโทรศัพท์มือถือในยุคเดียวกัน
เพจเจอร์แพร่หลายไปในทุกอาชีพและช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กนักเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้บอกสถานที่รับส่งหลังเลิกเรียน จนถึงวัยทำงานทั้งพนักงานบริษัท แพทย์ วิศวกรและอื่นๆ แต่จะแพร่หลายเป็นพิเศษในหมู่วัยรุ่นเนื่องจากเป็น การติดต่อที่เป็นส่วนตัวที่ สุดในขณะนั้น
ความนิยมของเพจเจอร์เริ่มลดลงเมื่อเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ก้าวหน้าขึ้น ด้วยราคาที่ถูกและขนาดที่เล็กลงแต่มีความสามารถมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ บริษัท Research In Motion หรือ RIM ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแบ็ลคเบอร์รี่ในปัจจุบันจะพัฒนาเพจเจอร์ที่สามารถส่งข้อความได้ขึ้นแต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปยังโทรศัพท์มือถือได้ ทำให้จำนวนผู้ใช้เพจเจอร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการเพจเจอร์จึงต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยการหันไปสู่ธุรกิจอื่นที่มีรูปแบบคล้ายกัน ซึ่งก็คือ ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ นั่นเอง
ตัวอย่างของบริษัทผู้ให้บริการเพจเจอร์ที่ผันตัวไปสู่ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ เช่น บริษัท ล็อกซ เล่ย์เพจโฟน จำกัด ผู้ให้บริการเพจเจอร์ในชื่อ ฮัทชิสัน และ โฟนลิงค์ โดยบริษัทโฟนลิงค์ ซึ่งได้เปิดให้บริการคอล เซ็นเตอร์ ภายใต้ชื่อ APG Call Center โดยอาศัยศักยภาพด้านเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์และบุคลากรที่มีความชำนาญให้บริการเป็น ศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ แทน
อย่างไรก็ตาม เพจเจอร์หรือวิทยุติดตามตัวยังไม่สูญพันธุ์ไปเสียทั้งหมด เนื่องจากความเรียบง่ายในการทำงานและติดตั้งระบบ ทำให้มีการใช้ระบบเพจเจอร์ในบางหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น สำหรับตามตัวแพทย์โรงพยาบาล หรือในหมู่เจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงภัตตาคารบางแห่งนำมาใช้แจ้งให้ลูกค้าทราบเมื่อมีโต๊ะว่าง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
คิดถึงวันวานเลยครับ
ตอบลบคิดถึงวันวานเลยครับ
ตอบลบ