.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เปิดกรุแบบเรียนไทยรุ่นเก่า

เปิดกรุแบบเรียนไทยรุ่นเก่า



เด็กนักเรียนสมัยนี้ เวลาจะหาข้อมูลทำการบ้าน รายงาน เพียงแค่เปิดเว็บไซต์ก็สามารถหาข้อมูลได้ทั่วทุกมุมโลกได้แล้ว หนังสือเรียนก็มีการพัฒนารูปแบบไปตามยุคตามสมัย บางที่มีการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์ อยากรู้เรื่องอะไรเพียงแค่เสิร์ชหาก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่ถ้าลองมองย้อนไปในอดีต การเรียนนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและน่าจดจำเอามากๆเลยหล่ะ เด็กสมัยนั้นเน้นการเรียน อ่าน เขียน ผ่านครูอาจารย์ หนังสือที่มีภาพวาดเป็นเอกลักษณ์ เรื่องราวจะสอนเรื่องคุณธรรม ความรัก ความสามัคคี เพื่อให้เนื้อเรื่องน่าอ่าน จึงต้องมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นสอดแทรก เป็นการผจญภัยเล็กๆ



หนังสือจินดามณี แบบเรียนเล่มแรกของคนไทย : โดย พระโหราธิบดี
อันนี้หลายคนที่เข้ามาเปิดอ่านไม่น่าจะเรียนทันกันนะ  แบบเรียนเล่มแรกของไทย ชื่อ จินดามณี แต่งโดย พระมหาราชครู กวีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี พ.ศ 2199 – 2231)
เป็นหนังสือแบบเรียนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เรียบเรียงไว้เป็นหนังสือตำราเรียนหนังสือไทย เนื้อหาของหนังสือว่าด้วย ระเบียบของภาษา สอนอักขรวิธีเบื้องต้น พร้อมอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ จินดามณีถูกใช้เป็นตำราเรียนจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาในสมัย ร .5 จินดามณีมีหลายฉบับ เช่น ฉบับโหราธิบดี ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับหมอบรัดเล เป็นต้น



จินดามณี ฉบับหมอบรัดเล เป็นหนังสือแบบเรียนที่ ดร. แดน บีช บรัดเล มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการพิมพ์ของไทย จัดพิมพ์เมื่อปี 2422 โดยคัดสรรมาจากตำราเรียนเก่าหลายเรื่องและสอดแทรกเนื้อหาสำคัญท ี่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยมาไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น ประถม ก กา ว่าด้วยการใช้และสะกดตัวอักษร จินดามุนี ว่าด้วยการประพันธ์โคลง เช่น โคลงสุภาพ ประถมมาลา เป็นตำราสั่งสอนวิชาหนังสือภาษาไทยให้ถูกต้องตามแบบจินดามณี ปทานุกรม เป็นส่วนราชาศัพท์ ได้เพิ่ม ศัพท์กัมพูชา ศัพท์ชวา เป็นต้น



แบบหัดอ่าน ก ข ก กา : โดย พระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) 
ปี พ.ศ.2478 พิมพ์ครั้งที่สิบเอ็ด 200,000 ฉบับ ปกกระดาษ ราคา 8 สตางค์! นอกจากนี้ยังมีแบบเรียนเก่าสมันแรกๆ นี้อีกหลายเล่มเลยคะ  เช่น
  •  พ.ศ.2477 แบบเรียนภาษาไทย ของกองวิชาการ กระทรวงธรรมการ หนังสืออ่านเรื่องเบ็ดเตล็ด เล่ม 1 สำหรับชั้นประถม ปกกระดาษราคาเล่มละ 13 สตางค์
  •  พ.ศ.2477 แบบเรียนภาษาไทย หนังสืออ่านเรื่องการรักษาตัว เล่ม 1 (คือ หนังสืออ่านอนามัยเล่ม 1 เดิม) สำหรับชั้นประถมปีที่ 2 ของ พระเสริมวิชาพูล (ไฝ หุตะโกวิท) ป.ม. พิมพ์ครั้งที่ 3 3,000 ฉบับ ราคาเล่มละ 20 สตางค์
  •  พ.ศ.2478 แบบสอนอ่านการค้าขายเล่ม 1 สำหรับชั้นประถมปีที่ 4 (ประถมปีที่ 3 เดิม) ของพระยาพณิชยศาสตร์วิธาน กระทรวงธรรมการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนได้ พิมพ์ครั้งที่ 7 20,000 ฉบับ ราคาเล่มละ 35 สตางค์
  • พ.ศ.2479 กองวิชาการ กระทรวงธรรมการ แบบสอนอ่านหน้าที่ราษฎร เล่ม 1 สำหรับประถมปีที่ 5 และ ม.1 พิมพ์ครั้งที่สาม แก้ไขใหม่ 50,000 ฉบับ ปกกระดาษราคาเล่มละ 6 สตางค์
  •  พ.ศ.2480 หนังสืออ่านปลุกใจนักเรียน เป็นหนังสือประกอบวิชาความรู้เรื่องเมืองไทยและหน้าที่พลเมือง กระทรวงธรรมการอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนได้ ของ นายใช้ เรืองศิลป์ ป.ม.เนติบัณฑิต พิมพ์ครั้งที่ 2 10,000 ฉบับ ราคาเล่มละ 15 สตางค์
  • พ.ศ.2480 กองวิชาการกระทรวงธรรมการ แบบเรียนภาษาไทย หนังสืออ่านธรรมจริยา เล่ม 1 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับ พระยาอนุกิจวิธูร เรียบเรียง สำหรับชั้นประถม พิมพ์ครั้งที่ 19 100,000 ฉบับ ปกกระดาษราคาเล่มละ 3 สตางค์



หนังสืออ่านกวีนิพนธ์/แบบเรียนวรรณคดีไทย :  พ.ศ.2486
หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ เล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทละครพูด เรื่องหัวใจนักรบ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สำหรับชั้นมัธยมปีที่ 5 ในตอนนั้นราคาเล่มละ 45 สตางค์ ซึ่งเป็นเล่มที่ตีพิมพ์ด้วยภาษาวิบัติ  นอกจากนี้ยังถูกตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องถึง 18 เล่ม แต่ละเล่มนั้นก็จะเป็นหนังสืออ่านกวีนิพนธ์ ที่มีเนื้อหาแตกต่างกันไป เช่น 
  • เล่มที่ 2 หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ สามัคคีเภท คำฉันท์ (โดยนัยอันมาในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค) แสดงข้อสุภาษิต ว่าด้วยโทษแห่งการแตกสามัคคี นายชิต บุรทัต เป็นผู้แต่ง เมื่อ พ.ศ.2457 พิมพ์ครั้งที่ 8 จำนวน 5,000 เล่ม พ.ศ.2495 ปกกระดาษราคาเล่มละ 1.25 บาท
  • เล่มที่ 3 หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ บทอาขยานภาษาไทย บทประพันธ์อธิบายสุภาษิต รวบรวมจากบทประพันธ์อธิบายสุภาษิต ประจำเดือนของ วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย โดยคัดเลือกบทประพันธ์ประจำเดือนกรกฎาคม ถึงเดือน ตุลาคม 2485 รวมสิบเอ็ดบท อาทิ “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” , “มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ” , “จับให้มั่น คั้นให้ตาย” , “หนักก็เอา เบาก็สู้” ฯลฯ พิมพ์ครั้งที่ 8 จำนวน 200,000 เล่ม พ.ศ.2495 ปกกระดาษราคาเล่มละ 90 สตางค์
  • เล่มที่ 4 หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ ราชาธิราช ศึกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พิมพ์ครั้งที่ 17 จำนวน 20,000 เล่ม พ.ศ.2493 ปกกระดาษราคาเล่มละ 1.00 บาท

หนังสือแบบเรียน ที่ชนะการประกวดในการประกวดแบบเรียนครั้งที่ 6 พ.ศ.2495 กรมวิชาการจัดพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2497 ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ปากคลองบางลำพูบน พระนคร ปกกระดาษ ราคาเล่มละ 2 บาท 40 สตางค์ เช่น นกแก้วอวดเก่ง แต่งโดย นางสาวบุญสม เอรวารพ, เป็ดหาย แต่งโดย นางสาวบุญสม เอรวารพ




บทอาขยานภาษาไทยดอกสร้อยสุภาษิต ชั้นประถมปีที่ 1
พิมพ์ครั้งที่ 33 พ.ศ.2508 ปกกระดาษราคาเล่มละ ๐.๕๐ บาท หนา 10 หน้า ภายในเล่มประกอบด้วยอาขยานสำหรับให้นักเรียนท่อง 10 บทดังนี้
1.เด็กน้อย 2.แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน 3.ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน 4.นกขมิ้นเหลืองอ่อน 5.จิงโจ้โล้สำเภา 6.ซักส้าวมะนาวโตงเตง 7.ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอก 8.นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง 9.เรือเล่นสามเส้นสิบห้าวา 10.นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า



แบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มต้น ชั้นประถมปีที่1 : โดยอำมาตย์โท พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส)
พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2511 ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียน เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 ภาพประกอบโดยบริษัท คณะช่าง เป็นแบบเรียนที่ให้ความประทับใจมาก เพราะอ่านง่าย ได้ความเพลิดเพลินจากนิทานมาก



แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนกลาง ชั้นประถมปีที่ 2 : โดย นายฉันท์ ขำวิไล กับ หลวงดรุณกิจวิทูร (ชด เมนะโพธิ) 
พิมพ์ครั้งที่ 48 พ.ศ.2520 ปกกระดาษราคาเล่มละ 2.50 บาท แบบเรียนเร็วใหม่ชุดนี้แต่งโดย นายฉันท์ ขำวิไล กับ หลวงดรุณกิจวิทูร (ชด เมนะโพธิ) กระทรวงธรรมการซื้อลิขสิทธิ์และจัดพิมพ์ประกาศใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับเด็ก ป.๑ ทั่วประเทศตั้งแต่ปีการศึกษา 2480 และใช้เรื่อยมาจนถึงปีที่ทางร้านพบพิมพ์ครั้งสุดท้ายคือ พ.ศ.2520 นับเป็นแบบเรียนที่มีอายุการใช้งานนานมากเล่มหนึ่ง

แบบเรียนภาษาไทย นิทานร้อยบรรทัด : พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501
หนังสือ(ภาพชุด)นิทานร้อยบรรทัดนี้ กรมวิชาการได้ขออนุมัติกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ หลวงสำเร็จวรรณกิจ เรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทยสำหรับชั้นประถม พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น หนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน กลุ่มเด็กวัย 7-12 ปี กลุ่มนิทาน/นิยายเรื่อง โดยแบ่งออกเป็น 6 เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มระดับความยากง่ายของภาษาและเรื่องต่างกันไป เป็นหนังสือเพื่อใช้ประกอบการเรียน ทำให้ภาษาไทยแตกฉานมากยิ่งขึ้น
  • เล่ม 1 เรื่อง บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1 ชั้นประถมปีที่ 2
  • เล่ม 2 เรื่อง บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 ชั้นประถมปีที่ 3
  • เล่ม 3 เรื่อง ครูที่รักเด็ก ชั้นประถมปีที่ 4
  • เล่ม 4 เรื่อง ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ชั้นประถมปีที่ 5
  • เล่ม 5 เรื่อง ตระกูลไทยที่คงไทย ชั้นประถมปีที่ 6
  • เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมปีที่ 7




หนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถม ชุด มานี มานะ ฉบับทดลอง : ปีที่พิมพ์ ระหว่าง พ.ศ.2520 – พ.ศ.2524 
ปีที่พิมพ์ ระหว่าง พ.ศ.2520 – พ.ศ.2524 (ก่อนหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 มีผลบังคับใช้) ผลงานประพันธ์ของ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ
มานี มานะ ยังต้องทดลองงาน!! ก่อนที่ หนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถมชุด มานี มานะ จะเป็นบทเรียนที่สามารถกุมหัวใจคนทั้งประเทศ อย่างท่วมท้น ด้วยเรื่องราวและตัวละครยอดนิยม “มานะ มานี ปิติ ชูใจ วีระ จันทร ดวงแก้ว เพชร” รวมถึงสารพัดสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่าง “เจ้าแก่ เจ้านิล เจ้าจ๋อ สีเทา เจ้าโต” ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทยแก่เยาวชนไทยระหว่างปี 2521-2537 ในชั้นประถมปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม

แบบเรียน หนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถม ชุด มานี มานะ
ผลงานประพันธ์ของ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ วาดภาพประกอบโดย เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวช และ ปฐม พัวพิมล เป็นบทเรียนที่สามารถกุมหัวใจคนทั้งประเทศ อย่างท่วมท้น ด้วยเรื่องราวและตัวละครยอดนิยม “มานะ มานี ปิติ ชูใจ วีระ จันทร ดวงแก้ว เพชร” รวมถึงสารพัดสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่าง “เจ้าแก่ เจ้านิล เจ้าจ๋อ สีเทา เจ้าโต” ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทยแก่เยาวชนไทยระหว่างปี 2521-2537 ในชั้นประถมปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม
“ครูว่าที่หนังสือยังเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ เพราะมีความใกล้ชิดกับคนอ่านมาก อย่างตัวละครที่อยู่ในเรื่องเป็นคนธรรมดา มีความเดียงสา มีความน่ารัก และมีความดีงามในตัว ทำให้จึงเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวาสามารถสัมผัสได้ คนอ่านจะรู้สึกผูกพัน จะทำกิจกรรมอะไรก็ต้องคอยติดตาม และด้วยวัยของตัวละครด้วยละ พวกเขาเลยกลายเป็นเพื่อนกัน เจอกันตั้งแต่ ป.1 ไปจนถึง ป.6 มีเรื่องสนุกผจญภัยให้ทำตลอด ภาษาที่ใช้ก็เป็นอะไรง่ายๆ อ่านแล้วรู้ทันทีว่าต้องการสื่อสารเรื่องไหน แล้วยังมีการสอนให้ทำดีเป็นคนดีสอดแทรกไว้ด้วย”
เช่น “วันหนึ่งเจ้าแก่ นอนแผ่ชูคอ เด็กสิบคนรอ ขอขี่ทุกวัน บ้างว่าแก่ไป จะไม่ขี่มัน เก้าคนพากัน กลับบ้านพอใจ มีเด็กคนหนึ่ง ซนจะขี่ม้า เอาไม้ตีขา ให้พาวิ่งไว ม้าลุกเด็กแย่ ล้มแผ่ลงไป ม้าวิ่งไม่ได้ ล้มทับเด็กซน” เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนคำพูดของผู้ประพันธ์ได้ชัดแจ้ง



เปิดกรุแบบเรียนไทยรุ่นเก่า หาดูยาก







CR: http://teen.mthai.com/education/81174.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น