.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาชื่อจังหวัดในภาคเหนือ




เชียงใหม่

ชื่อเต็มของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏในตำนานต่าง ๆ ได้แก่ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” มาจากคำว่า “นพบุรี” ซึ่งหมายถึง “เชียงใหม่” และบางท่านว่าหมายถึง “เมืองที่ ๙” โดยกล่าวว่าในสมัยก่อนล้านนาประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ ดังนี้
๑. หิรัญนคร (เชียงแสน)
๒. เชียงราย
๓. ฝาง
๔. เชียงดาว
๕. หิริภุญชัย
๖. เชียงชื่น
๗. พร้าว
๘. ลำปาง
๙. เชียงใหม่
พบว่าในตำนานเจ้าสุวัณณคำแดงเรียกเมือง เชียงใหม่ว่า “นพีสี ” ซึ่งบางท่านกล่าวว่าหมายถึง “ฤาษีเก้าตน” แต่หากจะแปลลึกลงไปก็แปลได้ว่า “เชียงใหม่” เพราะคำว่า “นพ” นอกจากแปลว่า “เก้า” แล้วยังแปลว่า “ใหม่” อีกด้วย คำว่า “อิสี” นั้นแปลว่า “นักบวช” ซึ่งในภาษาเก่าเรียก นักบวชว่า “เชียง” ดังนั้น “นพีสี” ก็หมายถึง เชียงใหม่ อันเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังจากการที่พญามังรายยึดเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จ

จากสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ส.พลายน้อย ได้กล่าวถึงตำนานเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า เมื่อพญามังรายครองเมืองเชียงแสน แล้วไม่นานได้ไปสร้างเมืองเชียงรายที่ริมแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ.1805 แล้วย้ายจากเชียงแสนไปอยู่เชียงราย ภายหลังชนะเมืองลำพูนแล้ว ได้ไปสร้างนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ โดยอัญเชิญพระร่วงเมืองสุโขทัย และพระยางำเมือง เมืองพะเยา มาร่วมประชุมปรึกษาในการสร้างแล้วขนานนามเมืองว่า เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เอาชื่อแม่น้ำปิงมาเรียก นครพิงค์ เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ยกเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละเป็นผู้ครองนครคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เขียงราย

ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายเริ่มต้นในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพญามังราย (พ.ศ.1781 - 1860) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง ผู้ครองนครหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสนในปัจจุบัน) ได้ขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ในปี พ.ศ.1802 และได้ย้ายราชธานี จากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ.1805 และได้ขนานนามว่า เชียงราย หมายถึง "เมืองของพญามังราย"

ลำปาง

 จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี มีชื่อเรียกขานกันหลายชื่อ ซึ่งปรากฏหลักฐานตามตำนานต่าง ๆ รวม 11 ชื่อ ได้แก่ กุกกุฏนคร ลัมภกับปะนคร ศรีนครชัย นครเวียงคอกวัว เวียงดิน เขลางค์นคร นครลำปางคำเขลางค์ อาลัมภางค์ เมืองลคร และเมืองนครลำปาง จากการที่เรียกขานกันว่า “ กุกกุฏนคร ” แปลว่าเมืองไก่ ดังนั้น ตราประจำจังหวัดลำปาง คือ “ ไก่ขาว ”
       จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ.1223 จากหนังสือพงศาวดารโยนกกล่าวว่า “ สุพรหมฤาษี ” สร้างเมืองเพื่อให้ เจ้าอนันตยศ โอรสพระนางจามเทวี ครองคู่กับเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ให้ชื่อเมืองว่า “ นครเขลางค์ ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ นครอัมภางค์ ” และเปลี่ยนชื่อเป็น “ นครลำปาง ” ในภายหลัง

คำว่า"ลำปาง"เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวงซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปนคร" ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน 

ตามตำนานวัดพระธาตุลำปางหลาง ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า "พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ "ลัมภางค์"

ดังนั้นนามเมืองลำปางจึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้


แพร่

เมืองแพร่ หรือเมืองแป้ เป็นเมืองโบราณสร้างมาช้านานแล้วตั้งแต่อดีตกาล แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง เมืองแพร่เป็นเมืองที่ไม่มีประวัติของตนเองหรือจารึกไว้ในที่ใดๆโดยเฉพาะ นอกจากปรากฏในตำนานพงศาวดาร และจารึกของเมืองอื่นๆ บ้างเพียงเล็กน้อย เช่น หลักฐานจากตำนานเมืองเหนือ พงศาวดารโยนก และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเมืองแพร่น่าจะสร้างยุคเดียวกันกับกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ซึ่งบ้านเมืองของเมืองแพร่ ในยุคนั้นคงไม่กว้างขวางและมีผู้คนมากมายเหมือนปัจจุบัน เมืองแพร่มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง ตำนานเมืองเหนือเรียกว่า "พลนคร" หรือ "เมืองพล" ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ราว พ.ศ. 1470 - 1540 นั้น พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตลานนา และได้เปลี่ยนชื่อเมืองในเขตลานนาเป็นภาษาเขมร เช่น ลำพูนเป็น หริภุญไชย น่านเป็นนันทบุรี เมืองแพร่เป็นโกศัยนคร หรือนครโกศัย ชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า "เมืองพล" และได้กลายเสียงตามหลักภาษาศาสตร์เป็น "แพร่" ชาวเมืองนิยมออกเสียงว่า "แป้"

เมืองแพร่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย พ.ศ. 1654-พ.ศ. 1773
พงศาวดาร โยนก กล่าวถึงเมืองแพร่ว่า "จุลศักราช 461 (พ.ศ. 1654) ขุนจอมธรรมผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อครองเมืองพะเยาได้ 3 ปี ก็เกิดโอรสองค์หนึ่ง ขนานนามว่า เจื๋อง ต่อมาได้เป็น ขุนเจื๋อง" พอขุนเจื๋องอายุได้ 16 ปี ไปคล้องช้าง ณ เมืองน่าน พระยาน่านตนชื่อว่า "พละเทวะ" ยกราชธิดาผู้ชื่อว่า นางจันทร์เทวีให้เป็นภรรยาขุนเจื๋อง เมืองแพร่เป็นเมืองที่สร้างขึ้นแล้วในระหว่างจุลศักราช 421 - 461 (พ.ศ. 1614 - 1654) แต่คงเป็นเมืองขนาดเล็กและจะต้องเล็กกว่าเมืองพะเยาด้วย ในระหว่าง พ.ศ. 1655 - พ.ศ. 1773 เมืองแพร่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมเพราะในระยะเวลาดังกล่าว ขอมเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรลานนาไทย มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะที่ขอมเรืองอำนาจได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพร่เป็นโกศัย นคร (โกศัยหมายถึงผ้าแพรเนื้อดี)

เมืองแพร่ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ คือ “พลนคร เมืองพล เมืองแพล” ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.๑๔๗๐-๑๕๖๐ พระนางจามเทวีเข้าครอบครองแคว้นล้านนา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โกศัยนคร” หรือ “เวียงโกศัย” ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร นับแต่นั้นมาก็มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาโดยตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง โดยเจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ (เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๑๘) เป็นเจ้าหลวงกำกับด้วยข้าหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้โปรดเกล้าฯให้พระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้น โดยึดสถานีตำรวจ ศาลากลางจังหวัด ปล้นเงินคลัง และปล่อยนักโทษออกจากคุก พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยว จับตัวและบังคับให้ยกเมืองให้ แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยินยอมจึงถูกจับประหารชีวิต เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ เจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ เกรงพระราชอาญาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยลงในปี พ.ศ.๒๔๕๒ นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย

จังหวัดแพร่ ได้ชื่อว่าเป็นประตูเมืองสู่ล้านนา เดิม เป็นนครรัฐอิสระที่ตั้งอยู่ก่อนการสถาปนา อาณาจักรล้านนา จากหลักฐานต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าจังหวัดแพร่นั้นมีชื่อเรียกกันหลายชื่อแล้วแต่ยุคสมัย เช่น “เมืองพล” เป็นชื่อที่เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุด จากการพบหลักฐาน ในตำนานทางเหนือ ฉบับใบลาน พ.ศ. 1824 “เมือง โกศัย” เป็นชื่อที่ปรากฏในพงศาวดารเชียงแสน“เมือง เพล” เป็นชื่อที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ “เมืองแพร่” เป็นชื่อที่คนไทยในอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาใช้เรียกเมืองแพล แต่ได้กลายเสียง เป็นเมืองแพร่จนถึงปัจจุบัน


น่าน
เมืองน่าน มีที่มาของชื่อปรากฏในตำนานพระอัมภาคว่า " นันทสุวรรณนคร " ส่วนในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกเมืองน่านว่า " กาวราชนคร " นัยว่าเป็นแค้วนของกาว อันหมายถึง ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแค้วนน่านแต่ดึกดำบรรพ์ และในตำนานเก่าๆ เรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า " กาวน่าน " ต่อมามีการเรียกชื่อเมืองน่านว่า " นันทบุรี " หรือ " นันทบุรีศรีนครน่าน " เข้าใจว่า เป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนา และภาษาบาลีเฟื่องฟูในล้านนา ที่มาของชื่อเมืองน่าน มาจากชื่อแม่น้ำน่าน อันเป็นที่ตั้ง ของเมืองที่อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน ชื่อของเมืองน่าน ได้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า เมืองน่าน คือ ตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
เมืองน่าน แม้จะมีการเรียกชื่อใหม่ว่า " นันทบุรี " หรือ" นันทบุรีศรีนครน่าน " ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษรนามนันทบุรี เป็นนามที่ไฟเราะ และมีความหมายมงคลนาม แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก จึงกลับมานิยมเรียก นามเมืองตามเดิมว่า " เมืองน่าน " ตลอดจนถึงปัจจุบัน


แม่ฮ่องสอน

    เมื่อปี พ.ศ. 2374 พระเจ้ามโหตรประเทศ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ให้ เจ้าแก้วเมืองมา เป็นแม่กอง นำไพร่พลช้างต่อและหมอควาญ ออกไปจับช้างป่ามาใช้งาน
เจ้าแก้วเมืองมา ยกไพร่พลข้ามภูเขา มาทางตะวันตกของเชียงใหม่ ซึ่งมีช้างป่าชุกชุม โดยมอบหน้าที่ให้ พะกาหม่อง เป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่อคล้องช้างได้เป็นจำนวนเพียงพอแล้ว จึงพากันเดินทางต่อไปถึงชุมชนบ้านป่าแห่งหนึ่ง มีทำเลดีมีร่องธารน้ำและที่ราบ เหมาะแก่การฝึกช้างป่า จึงหยุดไพร่พลตั้งบ้านเรือนขึ้นที่นี่ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "แม่ร่องสอน" หมายถึงที่มีร่องน้ำฝึกช้าง ต่อมา ได้เพี้ยนเป็น "แม่ฮ่องสอน"
          ครั้นถึงปี พ.ศ. 2399 มีชาวไทยใหญ่ อพยพมาหลบภัยสงครามอยู่ที่แม่ร่องสอนเป็นจำนนมาก โดยมี เจ้าฟ้าโกหล่าน และชานกะเล เป็นหัวหน้า เมื่อมาอยู่ที่นี่ ชานกะเล ได้ช่วยหน่วยงานต่างๆ จนเป็นที่โปรดปรานของพะกาหม่องถึงกับยกลูกสาวชื่อนางไส ให้เป็นภรรยา
          ต่อมาชานกะเล อพยพครอบครัวลงใต้มาอยู่ที่เมืองกุ๋นลม หรือขุนยวมในปัจจุบัน ได้เป็นเจ้าเมืองกุ๋นลมคนแรก ต่อมานางไสถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่าน ยกหลานสาวชื่อเจ้านางเมี๊ยะให้เป็นภรรยา ชานกะเลปกครองเมืองกุ๋นลม เจริญมั่งคั่งส่งส่วยตอไม้ให้ได้มากมาย จนถึง พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิชยานนท์ จึงแต่งตั้งชานกะเลเป็น พญาสิงหนาถราชา แล้วสถาปนาเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก 
          จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงถือเอาต้นกำเนิดเมือง คือ ร่องน้ำสอนช้าง และช้างตัวเดียวเล่นน้ำ เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
    

อุตรดิตถ์

 อุตรดิตถ์แปลว่า “ ท่าเหนือ ” เนื่องจากในสมัยก่อนพ่อค้าจะนำสินค้ามาจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนือ อื่น ๆ ไปขายทางใต้ เช่น พิษณูโลก นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ หรือสินค้าจากทางใต้จะนำขึ้นเหนือ ต้องแวะพักกัน ตามท่าน้ำจอดเรือของอุตรดิตถ์ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ตลอดจนการโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนต่าง ๆ ตามแนวลำน้ำเกิดขึ้น 

เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" ขึ้นกับเมืองพิชัย แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความเจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ  เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2444  ในสมัยรัชกาลที่ 5  ได้เสด็จถึง “ บางโพท่าอิฐ  โดยเรือพระที่นั่งได้จอด ณ บริเวณหน้าวัดวังเตาหม้อ ซึ่งก็คือ วัดท่าถนน ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในปัจจุบันต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า ตำบลบางโพท่าอิฐ คงจะเจริญต่อไป พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่าท่าน้ำแห่งทิศเหนือ แต่ยังคงขึ้นกับเมืองพิชัยอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้นมากกว่าเมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และเมืองพิชัยเลื่อนลงไปเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์จนทุกวันนี้

ประวัติความเป็นมาต้นกำเนิดของจังหวัดอุตรดิตถ์มีแหล่งกำเนิดมาจากท่าน้ำที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิด และท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ. 1400 คำว่า อุตรดิตถ์ เดิมเขียน เป็น อุตรดิษฐ์ (อุตร-เหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) เป็นคำที่ตั้งขึ้นในภายหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีพระราชทานนามไว้เมื่อ พ.ศ. 2395 แปลว่า "ท่าเรือด้านทิศเหนือของสยามประเทศ"

     
พะเยา

พะเยา เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนบน มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ยาวนานไม่น้อยไปกว่าเมืองอื่นๆ ในอาณาจักรล้านนา บริเวณที่ตั้งของจังหวัดพะเยาในปัจจุบันอยู่ติดกับกว๊านพะเยา เดิมเป็นที่ตั้งของเมือง ภูกามยาว หรือ พยาว ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศตวรษที่ 16 โดยมีผู้ปกครองคือ พ่อขุนงำเมือง ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านนา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พยาวเปลี่ยนชื่อเป็นพะเยา และรวมอยู่กับจังหวัดเชียงรายจนในปี พ.ศ. 2520 จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา  นับเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย


ลำพูน

ลำพูน เดิมชื่อ หริภุญชัย เดิมเป็นถิ่นฐานของเมงคบุตร (คือพวกชนเผ่าสกุลมอญในสุวรรณภูมิ ภาคเหนืออันเป็นสาขาหนึ่งของชนเผ่ามอญ เขมร จากมหาอาณาจักรพนม) พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปจะบังเกิดนครหริภุญชัยขึ้น และเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วพระบรมสารีริกธาตุจึงปรากฏขึ้นมาเอง  ลำพูน เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพเป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวม แว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถึงแม้ว่า จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น