.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประวัติการ์ตูนไทย

ประวัติการ์ตูนไทย
          ยุคแรก 

          ภาพล้อฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองคนแรกของไทย  ประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยเริ่มจากการเข้ามาของวิทยาการเขียนภาพแบบตะวันตก ซึ่งขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้นำมาใช้เป็นคนแรกในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในลักษณะเหมือนจริง หลายคนจึงถือกันว่าท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภาพล้อเลียนหรือการ์ตูนในเมืองไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะแนวการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ยุคนี้ได้มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกเกิดขึ้น คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) แม้รัชกาลที่ 6 เองก็ทรงโปรดการ์ตูนลักษณะดังกล่าว ดังปรากฏหลักฐานว่า มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ล้อเหล่าเสนาบดีและข้าราชบริพารในพระองค์อยู่เสมอๆ ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย


                                                  ภาพล้อ   ฝีมือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) 
                                            นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกของไทย

 ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จนถึง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงมีนักเขียนการ์ตูนมีชื่อเสียง เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อาทิ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำเรื่องสังข์ทองมาวาด เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และเจ้าของตัวการ์ตูน "ขุนหมื่น" ซึ่งดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้ เมาส์ โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องต่างๆ ต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ จึงสร้างการ์ตูนตัวหลักของตัวเองขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีนักเขียนการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ คนอื่นๆ เช่น วิตต์ สุทธิเสถียร จำนงค์ รอดอริ ส่วนนักเขียนการ์ตูนในยุคเดียวกัน แต่วาดคนละแนวก็มีเช่นกัน เป็นต้นว่า ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย



ภาพล้อ  ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยุคทอง)

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนไทยซบเซาลงมากจากภัยสงครามเช่นเดียวกับวงการวรรณกรรม เมื่อสิ้นสงครามแล้ว วงการการ์ตูนไทยจึงฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ในยุคนี้ปรากฏนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา "ราชาการ์ตูนไทย" ซึ่งได้วาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เหม เวชกร ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าท่านก็วาดการ์ตูนด้วยเหมือนกัน

          พ.ศ. 2495 ได้มีการ์ตูนเด็กเกิดขึ้นเป็นเล่มแรก คือ หนังสือการ์ตูน "ตุ๊กตา" อันเป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนพิมล กาฬสีห์ มีตัวละครหลักสี่คน คือ หนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย และหนูแจ๋ว และประสบความสำเร็จอย่างสูง (เลิกออกประมาณ พ.ศ. 2530 เนื่องจากพิมล กาฬสีห์ เสียชีวิต) หลังจากนั้น จึงมีการ์ตูนเด็กออกมาอีกหลายเล่ม เช่น การ์ตูน "หนูจ๋า" ของ จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน "เบบี้" ของ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ตัวการ์ตูนหลักของเบบี้นั้นมีมากถึงสิบกว่าคน บางตัวก็มีการนำไปแสดงหนังโฆษณาก็มี คือคุณโฉลงและคุณเต๋ว หนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น และยังคงออกมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือการ์ตูนเด็กที่แฝงสาระมากอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวชูโรง ผู้วาดก็คือ รงค์ นักเขียนการ์ตูนนิยายภาพที่สร้างชื่อเสียงในชัยพฤกษ์การ์ตูน อย่างเช่น เตรียม ชาชุมพร ที่เขียนเรื่อง "เพื่อน" โอม รัชเวทย์ สมชาย ปานประชา พล พิทยกุล เฉลิม อัคภู ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว

          นักเขียนคนอื่นที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยได้แก่ พ.บางพลี (เจ้าของผลงานเรื่อง อัศวินสายฟ้า และศรีธนญชัย), ราช เลอสรวง, จุก เบี้ยวสกุล ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่อง บางเรื่องยาวเป็นร้อยๆ หน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนเรื่องทีเดียว

          ยุคต่อเนื่องจาก ชัยพฤกษ์การ์ตูน กลุ่มนักเขียนการ์ตูนแนวหน้า 5 ท่าน มารวมกลุ่มกันใหม่ชื่อว่า "กลุ่มเบญจรงค์" เปิดเป็นสำนักงานเล็กแถวสี่แยกเสือป่า ถนนเจริญกรุง โดยมี เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, พล พิทยกุล, เฉลิม อัคภู ทำหนังสือการ์ตูนรายเดือน ขึ้นมา ชื่อ "เพื่อนการ์ตูน" วางขายอยู่ในตลาดได้พักใหญ่ก็ปิดตัวลง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ก็มีกล่มทำงานเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ซึ่งห้องข้างๆของ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากมายนั่นคือสำนักพิมพ์ห้องเรียนโดยคนคุณภาพอย่าง คุณศิวโรจน์, คุณเล็ก เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น





ยุคซบเซา

           ยุคที่การ์ตูนไทยเงียบหาย แต่ยังแอบทำหน้าที่เงียบๆ ตามซอกหลืบ เป็นการ์ตูนราคาถูกที่พอให้ผู้อ่านหาซื้อได้โดยเบียดเบียนเงินในกระเป๋าให้น้อยที่สุด อาจลดคุณภาพลงบ้างตามความจำเป็น นี่คือยุคของ "การ์ตูนเล่มละบาท" โดยเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สากล ต่อมาหลายสำนักพิมพ์ก็ทำตามออกมา สำนักพิมพ์สุภา,สำนักพิมพ์สามดาว, บางกอกสาร์น เป็นต้น นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่การ์ตูนไทยทำหน้าที่เพื่อต่อผ่านไปยังการ์ตูนยุคต่อมา แม้กระนั้นนักเขียนการ์ตูนไทยยุคนั้นก็ฝากฝีมือไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมหลายท่านด้วยก้น เช่น นักรบ รุ่งแก้ว,รุ่ง เจ้าเก่า,เพลิน,เทพบุตร, ชายชล ชีวิน,แมวเหมียว,ราตรี,น้อย ดาวพระศุกร์,ดาวเหนือ,มารุต เสกสิทธิ์ เป็นต้น โดยบางครั้งก็ได้นักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนหน้านั้นช่วยเขียนปกให้ เพื่อเสริมคุณภาพขึ้นอีกระดับหนึ่ง เช่น จุก เบี้ยวสกุล เป็นเหตุทำให้การ์ตูนเล่มละบาท ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง จนสามารถทำให้คำว่า"การ์ตูนเล่มละบาท" กลายเป็นตำนาน เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสไตล์การ์ตูนที่มีลักษณะเฉพาะ

สำนักพิมพ์ที่เป็นแหล่งรวมของนักวาดการ์ตูน มีมากมาย เช่น บางกอกสาส์น, ชนะชัย การ์ตูนเล่มละบาทนี้เป็นที่ฝึกฝนฝีมือของนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ นักเรียนศิลปะที่ต้องการหารายได้ในระหว่างเรียนหนังสือ ปัจจุบันหลายท่านกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนคุณภาพระดับแนวหน้าของเมืองไทย
แนวเนื้อเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งเรื่องผี, เรื่องชีวิต, นิทาน, เรื่องตลก, เซ็กซ์ โดยเฉพาะเรื่อง "ผี" เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้อ่าน เป็นความตื่นเต้นแบบง่ายๆ ที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด

ยุคปัจจุบัน

          ปัจจุบัน การ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในเวลานี้ก็คือ ขายหัวเราะ-มหาสนุก-ไอ้ตัวเล็ก-หนูหิ่นอินเตอร์ และหนังสือการ์ตูนอื่นๆ ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งแนวการ์ตูนจะเป็นการ์ตูนประเภทการ์ตูนแก๊กและการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพัฒนาการ์ตูนไทยในรูปแบบคอมมิคขึ้น จากกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การอ่านการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่น เท่าที่ปรากฏในเวลานี้ สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนไทยแนวดังกล่าวได้แก่ สำนักพิมพ์บุรพัฒน์ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ และสำนักพิมพ์เนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์ ตลาดของการ์ตูนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นที่กลุ่มวัยรุ่น ในขณะที่การ์ตูนนิยายภาพแบบดั้งเดิมยังคงมีการผลิตอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงกับตลาดระดับล่าง เช่นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งปัจจุบันปรับตัวมาขายในราคาเล่มละห้าบาท

   
                                                  การ์ตูนขายหัวเราะฉบับที่  1 พ.ศ. 2529 
การ์ตูนไทยแนวมังงะ

          ขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ในไทยก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งอยากผลิดการ์ตูนขึ้นเองบ้าง แต่ก็มีลายเส้นป็นเอกลักษ์เฉพาะตัวจะเห็นได้จากพวกที่วางขายของ hand made ตามถนน แต่บางพวกก็ส่งผลงานเข้าสำนักพิมพ์ที่อยู่ในไทย เช่น สำนักพิมพ์บงกชพับลิชชิ่ง สำนักพิมพ์ NED  ก็มี ส่วนมากยังไม่มีการสอนวาดรูปการ์ตูนชนิดนี้อย่างเป็นทางการสักเท่าไหร่ ส่วนมากนั้นจะเป็นการเขียนเองโดยใช้พรสวรรค์เสียมากกว่า และมักจะไม่พบเห็นกันง่ายๆ อีกทั้งงานประจำปีของการ์ตูนก็ยังมีแค่กรุงเทพเท่านั้นทำให้นักเขียนเลือดใหม่ที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพมีโอกาสแสดงฝีมือได้น้อยลง

http://www.cartoonthai.in.th/library/detail/116

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น