.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาชื่อจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่มาชื่อจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ





ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 20 จังหวัด โดยมีรายชื่อจังหวัดดังนี้


1. จังหวัดนครราชสีมา

สมัยประวัติศาสตร์ ได้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้าง เมืองโคราช หรือ นครราช อยู่ในบริเวณเดียวกัน และ มีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญของขอมในบริเวณนี้
มีผู้เสนอว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ เมืองนครราช คือเมืองเดียวกันกับเมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองพระนครหลายประการ นอกจากนี้รูปสลักกองทัพชาวสยามบนระเบียงด้านหนึ่งของ นครวัด อาจเป็นชาวสยามจากลุ่มแม่น้ำมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราช และยังมีการกล่าวถึงเมืองนครราชสีมาในพงศาวดารของกัมพูชาหลายครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีมุมมองอีกด้านหนึ่งก็ว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร, ราช และ สีมา หมายความว่า "เมืองใหญ่อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร" (ราช+สีมา) ส่วนคำว่า โคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หฺราด , ไทยกลาง: โค-ราด, เขมร: โก-เรียช ) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก นครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หฺราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมาแบบย่อ ๆ ของชาวบ้าน) หรือ อังกอร์เรียจ ต่อมาลดรูปเป็น กอร์เรียจ และเพี้ยนเป็นโคราช ในที่สุด และไม่ได้เพี้ยนมาจากชื่อเมืองโคราฆปุระ (Gorakhpur) ที่เป็นชื่อเมืองสมัยใหม่ในแคว้นเดียวกับเมืองอโยธยา (Ayodhya) ในอินเดีย ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เนื่องจากตั้งอยู่เป็นบริเวณที่เป็นชายขอบระหว่างรัฐที่มีอำนาจ เป็นรัฐกันชน นครราชสีมาจึงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอยู่เสมอ เช่น ระหว่างสยามกับกัมพูชา หรือ ระหว่างสยามกับล้านช้าง หรือ ในบางครั้งได้มีความพยายามที่จะตั้งตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด เฉกเช่นเดียวกับบรรดาเมืองใหญ่อื่น ๆ
             ในสมัยเจ้าสามพระยา อยุธยาสามารถเอาชนะกัมพูชาได้ รวมทั้งได้ทำการรวบรวมหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำมูลเข้ามาอยู่ในอำนาจ เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้สืบราชสมบัติต่อมามีการจัดระดับเมืองพระยามหานคร 8 หัวเมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองสำคัญในขอบขัณฑสีมา และได้ดำรงความสำคัญสืบต่อมาในประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตามระบบระบบบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย เจ้าเมืองนครราชสีมานับเป็นขุนนางระดับสูงมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ มีศักดินา 10,000 ไร่
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพเมืองนครราชสีมาได้ถูกมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการโจมตีเมืองเสียมราฐ และภาคตะวันออกของทะเลสาบจนได้ชัยชนะเหนือพระยาละแวก ในที่สุด
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่านคราชสีมา เป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาติดกับพรมแดนลาว (เข้าใจว่าเลยลำสะแทด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย) จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมี เดอ ลามาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า "เมืองนครราชสีมา" โปรดให้พระยายมราช (สังข์)เป็นเจ้าเมือง ในคราวเดียวกันกับที่แต่งตั้ง เจ้าพระยารามเดโช เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
เดอ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานและบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ ว่า เมืองโคราชสีมา(Corazema) เป็นหัวเมืองใหญ่ 1 ใน 7 มณฑล ตั้งอยู่ติดชายแดนของราชอาณาจักรสยามกับเมืองลาว มีเมืองบริวาร 5 เมือง

2. จังหวัดอุบลราชธานี



เมื่อปีพุทธศักราช 2228 เกิด วิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เพราะกลุ่มจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้น เมืองเจ้านครเชียงรุ้งคือ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำ ได้อพยพไพร่พลมาขอพึ่งบารมีพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ของเวียงจันท์ จึงโปรดให้นำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า “นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน”
ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดาได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอซึ่งมีความสำคัญต่อเมืองอุบลราชธานีอย่างยิ่ง เพราะต่อมา ปีพุทธศักราช 2314 เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเวียงจันท์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ ขอบุตรธิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ เจ้าสิริบุญสาร จึงส่งกองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้ และกองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปหลายครั้ง
         การรบระหว่างเวียงจันทร์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กินเวลายาวนานถึง 3 ปี ไม่มีผลแพ้ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยมีเงื่อนไขเวียงจันทร์ยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสารรบ เมื่อฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วยโดย แรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) และการสู้รบในครั้งสุดท้าย เจ้าพระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตรชายคนโต พร้อมด้วยพี่น้องคือ นางอูสา นางสีดา นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ “ดอนมดแดง” พร้อมขอพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการตั้งเมืองใหม่ จึงให้อัคฮาดหำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีเจ้าพระวอสู้ไม่ได้ และเสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องจึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม พร้อมมีใบบอกลงไปที่เมืองนครราชสีมา และกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งให้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพมาช่วยเจ้าคำผง ด้านพญาสุโพรู้ข่าวศึกของเจ้ากรุงธนบุรี จึงสั่งถอยทัพกลับเวียงจันท์ แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เดินทัพติดตามทัพเวียงจันทร์ จนสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พร้อมคุมตัวเจ้าสิริบุญสารไปกรุงธนบุรี ส่วนเจ้าคำผงหลังเสร็จศึกได้กลับไปตั้งเมืองอยู่ที่ดอนมดแดงเหมือนเดิม กระทั่งปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เจ้าคำผงจึงอพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนห้วยแจระแม (ปัจจุบัน คือบ้านท่าบ่อ) รอจนน้ำลด แล้วจึงหาทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ที่ที่ตำบลบ้านร้าง เรียกว่า ดงอู่ผึ้งริมฝั่งแม่น้ำมูลอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2320 พร้อมกับได้สร้างพระอารามหลวงขึ้นเป็นวัดแรก
       ต่อมาปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งเป็น  เมืองอุบลราชธานี พร้อมให้เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองในราชทินนาม “พระประทุมราชวงศา” เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร โดยเป็นคณะอาญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบลราชธานี จนถึงกาลเปลี่ยนแผ่นดินปีพุทธศักราช 2334 สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ สามารถจับอ้ายเชียงแก้วได้ และทำการประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ
ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช แต่งตั้งให้พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมือง “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช”

3. จังหวัดขอนแก่น


    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2340 หลังจากนั้นเมืองขอนแก่นได้โยกย้ายที่ตั้งไปมาอยู่หลายครั้งภายในบริเวณ พื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 มีการย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น (ซึ่งก็คือศาลากลางหลังเก่าในปัจจุบัน) และเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำเรียก "เมือง" เป็น "จังหวัด" และในปี พ.ศ. 2507

ที่มาชื่อขอนแก่น
     เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก
             ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์ แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี
          ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้



4. จังหวัดบุรีรัมย์


      ชื่อเมืองบุรีรัมย์ไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา และธนบุรีเฉพาะชื่อเมืองอื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เมืองนางรอง เมืองพุทไธสง และเมืองประโคนชัย
     พ.ศ. ๒๓๑๙ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี กรมการเมืองนครราชสีมา มีใบยอกเข้ามาว่าพระยานางรองคบคิดเป็นกบฏร่วมกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบจับตัวพระยานางรองประหารชีวิตและสมทบเจ้าพระยาสุรสีห์
(สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตปอ ได้ทั้ง ๓ เมือง ประหารชีวิต เจ้าโอ เจ้าอิน อุปฮาด เมืองจำปาศักดิ์ แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุบ สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้นในเขตขอมร้า เรียกว่า เมืองแปะ แต่งตั้งบุรีรัมย์บุตรเจ้าเมืองผไทสมัน ( พุทไธสง ) ให้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครภักดี ประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือต้นราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็น " บุรีรัมย์ "ปลว่า  " เมืองที่น่ารื่นรมย์ " ด้วยปรากฎว่าได้มีการแต่งตั้ง พระสำแดงฤทธิรงค์เป็นพระนครภักดีศรีนครา ผู้สำเร็จราชการเมืองบุรีรัมย์ขึ้น เมืองนครราชสีมาใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมืองบุรีรัมย์และเมืองนางรองผลัดกันมีความสำคัญเรื่อยมา
            พ.ศ. ๒๔๓๓ เมืองบุรีรัมย์โอนขึ้นไปขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีหนองคายเป็นศูนย์กลาง และเมืองบุรีรัมย์มีเมืองในสังกัด ๑ แห่ง คือเมืองนางรอง ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๔๑ เมืองบุรีรัมย์ได้กลับไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาเรียกว่า
" บริเวณนางรอง " ประกอบด้วย เมืองบุรีรัมย์ นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง
           พ.ศ. ๒๔๔๒ มีประกาศเปลี่ยนชื่อมณฑลลาวเฉียงเป็น มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลลาวเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลเขมร เป็นมณฑลตะวันออกและในคราวนี้เปลี่ยนชื่อ บริเวณนางรองเป็น " เมืองนางรอง " มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองบุรีรัมย์ แต่ตราตำแหน่งเป็นตราผู้ว่าการนางรอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น " บุรีรัมย์ " และเปลี่ยนตราตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นต้นมา

5. จังหวัดอุดรธานี

 จังหวัดอุดรธานีเดิมชื่อบ้านเดื่อหมากแข้ง มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2436 เนื่องจากกรณี ร.ศ. 112 ไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 ไทยยอมสละกรรมสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะทั้งหลายในแม่น้ำโขงและตามความในสัญญาข้อ 3 ในสัญญาอาณาเขตริมฝั่งแม่น้ำโขง บรรดาป้อมค่ายคูจะต้องรื้อถอนให้สิ้น ภายในหนึ่งเดือน ห้ามมิให้ประเทศสยามตั้งกองทหาร ในรัศมี 25 กิโลเมตร จากฝั่งแม่น้ำโขงไทยจะส่งคนที่มิใช่คนท้องถิ่น (Local Man) เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ มิได้ให้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นย่านการค้าเสรี จะเก็บภาษีขาเข้าใดๆ ไม่ได้ แม้กระทั่งจะตกปลา ถ้าฝ่าฝืนก็ถูกเอาตัวเข้าไปขังคุกที่เวียงจันทน์ด้วยเหตุผลดังกล่าว
             ในปี พ.ศ. 2436 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ซึ่งเดิมตั้งอยู่เมืองหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขงมาตั้งอยู่ริมหนองนาเกลือตั้งอยู่บ้านเดื่อหมากแข้ง (มะเขือพวง) ขนาดใหญ่กว่าปกติธรรมดาอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดมัชฌิมาวาสปัจจุบัน จึงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหมากแข้ง” ส่วนหนองนาเกลือในสมัยต่อมาเรียกว่า “หนองประจักษ์” และเรียกค่ายทหารว่า “ค่ายหมากแข้ง” จากหนังสือประวัติวัดมัชฌิมาวาส กล่าวไว้ว่า การย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวน มายังบ้านเดื่อหมากแข้งนั้น ผู้เฒ่า ผู้แก่เล่าไว้ว่าต้องใช้เกวียนประมาณ 200 เล่ม เป็นพาหนะได้ออกเดินทางรอนแรมมาโดยลำดับถึงน้ำสวย (ซวย หมายถึง ปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า น้ำสวย) เสด็จในกรมฯ ได้ให้ตรวจดูพื้นที่ เพื่อจะได้ตั้งกองบัญชาการ แต่เมื่อตรวจดูโดยถ้วนถี่แล้วเห็นว่ามีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ สูงๆ ต่ำๆ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ในโอกาสข้างหน้า และตั้งอยู่จากฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น เสด็จในกรมฯ ท่านให้เดินทางจนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง จึงได้พักกองเกวียน อยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่ตั้งที่ทำการสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี จึงได้ให้ออกสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง ในบริเวณใกล้เคียงทางทิศตะวันออก มี หนองบัวกลอง หนองเหล็ก ทางทิศใต้มี หนองขอนขว้าง ตะวันตกมี หนองนาเกลือ หนองวัวข้อง หนองสวรรค์ และทิศเหนือมี หนองสำโรง หนองแด และมีลำห้วยหมากแข้ง ซึ่งมีต้นน้ำจากภูพาน มีน้ำใสสะอาดมีป่าไผ่ปกคลุม มีปลา เต่า จระเข้ ชุกชุมมาก ลำน้ำนี้ไหลผ่านจากทิศใต้สู่ทิศเหนือลง ลำห้วยหลวง เสด็จในกรมฯ จึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการ สร้างบ้านแปลงเมืองลง ณ พื้นที่ดังกล่าวนี้
         อย่างไรก็ตามว่า "อุดร" มาปรากฎชื่อเมือง พ.ศ.2450 (พิธีตั้งเมืองอุดรธานี 1 เมษายน ร.ศ. 127พ.ศ. 2450 โดยพระยาศรีสุริยราช วรานุวัตร "โพธิ์ เนติโพธิ์") พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้งอยู่ในการปกครองของมณฑลอุดร
       หลังการเปลื่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาคยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่านั้นมณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียงจังหวัด "อุดรธานี" เท่านั้น

6. จังหวัดศรีสะเกษ


       จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยขอม จะเห็นได้จากโบราณสถานสมัยขอมที่ยังปรากฏอยู่ แต่ต่อมาขอมได้เสื่อมอำนาจลงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวไทยพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ได้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๒๕๖ และได้แยกย้ายกันออกไป ๖ กลุ่ม กลุ่มที่มี “ตากะจะ” และ”เชียงขัน” ได้มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโคกลำดวน
     ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้โปรดเกล้าฯ ยกบ้านโคกลำดวนหรือบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดี ศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ต่อมาเมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองขุขันธ์” ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยพระเจ้าธนบุรี หลังจากเสร็จสงครามกับเวียงจันทน์ มีความชอบจึง โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนและในปีเดียวกันนั้น เจ้าเมืองขุขันธ์ถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปราบ (เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ ต่อมาเมืองขุขันธ์กันดารน้ำ จึงอพยพย้ายไปตั้งเมืองอยู่บ้านแตระ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน
      ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขอตั้งบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ขึ้นเป็น “เมืองศรีสะเกษ” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีภูธรสงครามเป็นพระยารัตนวงศา เจ้าเมืองศรีสะเกษ ขึ้นกับเมืองขุขันธ์
        ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ได้ย้ายที่ทำการเมืองขุขันธ์มาตั้งอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ (ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ) แต่ยังคงใช้ชื่อว่าเมืองขุขันธ์ และยุบเมืองขุขันธ์เดิมเป็นอำเภอห้วยเหนือ (อำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน) ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนชื่อ
มณฑลอีสาน เป็นมณฑลอุบล มีเมืองขึ้นตรงต่อมณฑลนี้ ๓ เมือง คือ อุบลราชธานี ขุขันธ์ และสุรินทร์ จึงรวมเมืองศรีสะเกษ ขุขันธ์ และเดชอุดม เป็นเมืองขุขันธ์ โดยมีศาลากลางอยู่ที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ
      ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลได้เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์เป็นจังหวัดขุขันธ์ และในปี พ.ศ.๒๔๘๑ได้เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์เป็น จังหวัดขุขันธ์ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์เป็นจังหวัดศรีสะเกษมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ศรีสะเกษ มีที่มาจาก

ตามตำนานพระนางศรีสระผม (ชื่อเดิม)  เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้)  ตามสันนิษฐานเข้าใจว่าเป็นราชธิดาของท้าวสุริยวรมันกับพระนางพิณสวัณคราวดี   ตำแหน่งเป็นอุปราชครองพิมานมงคลในแคว้นโคตรบูร   พระนางศรีสระผมเป็นผู้อำนวยการสร้างปราสาทสระกำแพง  เป็นผู้รู้วิชานาฎศิลปะ  ชำนาญการฟ้อนรำ ทรงเป็นครูฝึกหัดการฟ้อนรำ  ทรงเป็นประธานในพิธีถวายเทวาลัยปราสาทสระกำแพง พระนางศรีฯ ได้เข้าพิธีสรงสนานลงอาบน้ำสระผมในสระกำแพง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศสวยงาม  มีดนตรีบรรเลง   ทรงฟ้อนรำบวงสรวงเดี่ยวหน้าเทวรูปพระวิษณุ  อัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ศักดานุภาพมารับมอบเทวาลัยเป็นที่สิงสถิต คนทั่วไปได้ซาบซึ้งและระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงได้เรียกขานว่าพระนางศรีสระผม ต่อมาพระบาท-สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าพระราชทานให้ตั้งเมืองใหม่   แยกจาก เมืองขุขันธ์  ชื่อว่า เมืองศรีสะเกษ   เพื่อเป็นการให้เกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระนางศรีสระผม


7. จังหวัดสุรินทร์



   สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่แน่นอน ว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอด จนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมาโดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปี ล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้างจน กลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2306 จึงปรากฏหลักฐานว่าหลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่ หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้ง เมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มี น้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมา หลวงสิรินทรภักดีได้กระทำความดีความ ชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น "เมืองประทายสมันต์" และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง

8. จังหวัดร้อยเอ็ด


       เมืองร้อยเอ็ด เคยเป็นแหล่งอารยธรรมยุคประวัติศาสตร์ตามหลักฐานทางโบราณคดี ตำนาน อุรังคธาตุได้เล่าว่ามีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่ออาณาจักร กุลุนฑะนคร มีเมืองหลวงชื่อ สาเกตุ มีเจ้าผู้ครองนคร ชื่อพระเจ้ากุลุนฑะ เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมีเมืองขึ้น 11 เมือง เมืองนี้มีกุศโลบายทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ คือ ขุดคูน้ำคันดินเป็นกำแพงสูงรอบเมืองตลอดแนว ตัดถนนเจาะช่องทางเข้าเมืองเท่ากับ จำนวนเมืองขึ้น 11 เมือง เป็น 11 ประตู (เดิมเขียน 10, 1 หรือสิบหนึ่ง) สมัยผาแดง เกิดศึกชิงนางไอ่ จนถึงพระขอมธรรมาธิราช ทำลายอาณาจักรกุลุนฑะลงได้ สาเกตุนครจึงกลายเป็นเมืองร้าง มีต้นกุ่มขึ้นทั่วไปในเมือง และตามคูเมืองจนได้ชื่อ เรียกว่า “เมืองกุ่มฮ้าง”
        ปี 2256 พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์ครองเมืองจำปาศักดิ์ ได้ให้ “จารย์แก้ว” คุมไพร่พลมาครอบครองอยู่ “เมืองทุ่ง”(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ) และได้เป็นเจ้าเมืองต่อมาจนถึงสมัย “ท้าวทน” จึงย้ายเมืองไปตั้งที่ “เมืองคงท้าวสาร” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเมือง “สุวรรณภูมิ”
     สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ยก “บ้านกุ่มฮ้าง”ขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ดและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ท้าวทน” เป็น “พระขัติยะวงษา” เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ต่อมาได้มีเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรมฤค เมืองธวัชบุรี เมืองจตุรพักตรพิมาน 

ปี 2433 มีการจัดการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น 4 บริเวณ ร้อยเอ็ดเป็นบริเวณหนึ่งที่ขึ้นต่อเมืองอุบลและนครจำปาศักดิ์
ปี 2434 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แบ่ง เป็น 2 มณฑล คือ มณฑลลาวพวน กับมณฑลลาวกาว
ร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑล “ลาวกาว” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือและมณฑลอีสาน ตามลำดับ
ปี 2455 มณฑลอีสาน แยกเป็น 2 มณฑล ได้แก่ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
ปี 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง การปกครอง ยุบมณฑลต่างๆ มณฑลร้อยเอ็ด จึงถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบัน

9. จังหวัดชัยภูมิ

    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมืองเวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามา ประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยา เส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า ชัยภูมิ เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด

“เมืองชัยภูมิ” ปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปีพ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก

10. จังหวัดสกลนคร

คำว่า "สกลนคร" มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต สกล (สะ-กะ-ละ) หมายความว่า โดยรวม ครอบคลุม หรือทั้งหมด และ คำว่า "นคร" (นะ-คะ-ระ) หมายถึงแหล่งที่อยู่ หรือเมือง ดังนั้นชื่อที่แท้จริงของเมืองหมายความว่า "นครแห่งนครทั้งมวล" (City of cities)
สกลนครเดิมชื่อ เมืองหนองหานหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โดยขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ซึ่งได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่มาจากเมืองเขมร มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหานหลวง บริเวณท่านางอาบ ปัจจุบันเรียกว่าท่าศาลา อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีเจ้าปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เมื่อเกิดฝนแล้งทำให้ราษฎรอพยพไปเมืองเขมร เมืองหนองหานหลวงจึงร้างอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสกลนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เชียงใหม่หนองหาน" หรือเมืองสระหลวงหลังจากนั้นเมืองสกลนคร คงอยู่ใต้การปกครองกันไปมา ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรสุโขทัย และไม่ค่อยมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นนัก จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้คนกระจัดกระจายเป็นชุมชนเล็กๆทำมาหากินตามริมหนองหาน จ่ายส่วย อากรให้เจ้าแขวงประเทศราชศรีโคตรบอง เพื่อถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองให้แก่ราชธานีกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น
จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปี โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง ปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำไปเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีบ้าง เมืองประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาองค์พระธาตุเชิงชุมแต่เพียงพวกเพี้ยศรีคอนชุม ตำบลธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยาง และบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น
ในสมัยต่อ ๆ มาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์คำเป็นพระยาประเทศธานี (คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น เมืองสกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึง พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองเมืองสกลนคร จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคมณฑลเทศาภิบาล โดยส่วนกลางส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก และมีพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก


11. จังหวัดกาฬสินธุ์



                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” หรือ “เมืองน้ำดำ” ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล “กาฬ” แปลว่า “ดำ” “สินธุ์” แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์จึงแปลว่า “น้ำดำ” 
          สมัย กรุงธนบุรีประมาณ พ.ศ.2310 พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสนได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์และได้สถาปนา ขึ้นเป็น พระเจ้าแผ่นดินสืบแทน ทรงพระนามว่า    "พระเจ้าศิริบุญสาร" พ.ศ. 2320 ท้าวโสมพะมิตร และ อุปราชเมืองแสนฆ้องโปง เมืองแสนหน้าง้ำเกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร จึงรวบรวมผู้คนอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาตั้งบ้านเรือนบริเวณลุ่มน้ำก่ำแถบบ้านพรรณา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) ต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา ท้าวโสมพะมิตรจึงอพยพต่อไปโดยแยกเป็น 2 สาย คือ
            สายที่ 1 มี เมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า อพยพไปทางทิศตะวันออกสมทบกับพระวอหลบหนีไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ขอพึ่งบารมี ของ   พระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ และตั้งบ้านเรือน ณ ดอนค้อนกอง ต่อมาเรียกว่า   "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าศิริบุญสาร  ให้เพี้ยสรรคสุโภย ยกกองทัพมาปราบ พระวอตายในสนามรบ ผู้คนที่เหลือจึงอพยพไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูล ชื่อว่า "ดอนมดแดง"   (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี) 
            สายที่ 2 มีท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า ได้อพยพข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ต่อมาท้าวโสมพะมิตร  ได้ส่งท้าวตรัยและคณะ ออกเสาะหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ใช้เวลาประมาณปีเศษจึงพบทำเลที่เหมาะสม คือบริเวณลำน้ำปาวและเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือยมีดิน น้ำอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและได้จัดตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง 
              พ.ศ. 2336 ท้าวโสมพะมิตรได้ นำเครื่องบรรณาการ คือ กาน้ำสัมฤทธิ์ เข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี และขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง ได้รับพระราชทานนามว่า "กาฬสินธุ์" และได้แต่งตั้งให้ ท้าวโสมพะมิตรเป็น  "พระยาชัยสุนทร"
           พ.ศ. 2437 สมัยพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล มี มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และให้เมืองกาฬสินธุ์ เป็น "อำเภออุทัยกาฬสินธุ์" ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด
           วันที่ 1 สิงหาคม 2456 ได้ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" ให้มีอำนาจปกครอง อำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอ กมลาไสย และอำเภอยางตลาด โดยให้ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด
            วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2474 จังหวัดกาฬสินธุ์ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และ 1 ตุลาคม 2490 ได้ยกฐานะเป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" จนถึงปัจจุบัน


12. จังหวัดมหาสารคาม


     มหาสารคามได้รับการแต่งตั้งเป็นเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2408 แต่ก่อนจะตั้งเป็นเมืองมหาสารคามนั้น บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์มานาน บางยุค บางสมัยก็รุ่งเรือง บางยุคสมัยก็เสื่อมโทรม ตามบันทึกของหลวงอภิสิทธิ์สารคาม (บุดดี) ตลอดจนประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคาม ของ บุญช่วย อัตถากร ระบุว่า ท้าวมหาชัย (กวด) พาผู้คนออกจากเมืองร้อยเอ็ดมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1,000 เส้น จึงหยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงย้ายมาตั้งระหว่างกุดยางใหญ่กับหนองท่ม ซึ่งเป็นที่ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว คือ บ้านจาน ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อยก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับว่าเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ เมืองมหาสารคามเมื่อแรกตั้งอยู่ในความดูแลบังคับบัญชาของพระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทาน “บ้านลาด กุดยางใหญ่” ขึ้นเป็นเมือง มหาสารคาม และให้ท้าวมหาชัย (กวด ภวภูตานนท์) เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง มีท้าวบัวทองเป็นผู้ช่วยขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด
         ราชสำนักได้มีสารตรามาถึงพระขัติยวงษา (จัน) ลงวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 ซึ่งตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม 2408 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธราภัย ฯ พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้าน แก่เมืองใดแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ขนานนามบ้านลาดกุดยางไย เป็นเมืองมหาษาร ตามพระราชทานนามสัญญาบัติ ประทับพระราชลัญจกอร ตั้งท้าวมหาไชยเป็นที่พระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาไชย ผู้เป็นที่พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม"

       พระเจริญราชเดช ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุลอันมีอนุชนสืบเนื่องมาหลายสาขา  คือ  ภวภูตานนท์  ณ มหาสารคาม, เจริญศิรฺ,อัตถากร  และ  สุวรรณเลิศ
     ชื่อมหาสารคาม สันนิษฐานว่า  หมายถึง เมืองต้นยางใหญ่ หรือหมายถึงบริเวณที่เต็มไปด้วยต้นยางใหญ่ (เสมือนไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในชมพูทวีป ที่พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพานใต้ร่มไม้สาละหรือต้นรัง)

13. จังหวัดนครพนม
             จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในดินแดนที่ราบสูง อดีตเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์อันรุ่งเรือง แรกทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้าย ของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับอำเภอพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีพุทธทำนายว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วเมืองศรีโคตรบูรณ์จักย้ายไปตั้งที่ “ป่าไม้รวก” มีนามว่า “เมืองมรุกขนคร” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าหมายถึง เมืองที่อยู่ในดงไม้รวก ตามสภาพภูมิประเทศที่สร้างบ้านแปงเมืองนั้นเองประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร เป็นกษัตริย์ผู้มีจิตศัรทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุง ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบมีงานฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร ซึ่งพระอุรังคธาตุได้แสดงปาฎิหารย์อัศจรรย์ยิ่ง ทำให้พญาสุมิตรธรรมบังเกิดความปิติโสมนัสมาก นอกจากถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 7 แห่งในเขตแดนนั้น เป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ หลังจากพญาสุมิตรธรรม มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ จนกลายเป็นเมืองร้าง
     
        กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขกบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ใน พ.ศ. 2057 สมัยพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น เมืองศรีโคตรบรูณ์ ตรงตามชื่ออาณาจักรเดิม ในสมัยนี้ยังมีการบูรณปฎิสังขรณ์พระธาตุพนมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2280 พระธรรมราชาเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือแล้วขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนคร จากนั้นมีการโยกย้ายชุมชนเมืองอีกหลายครั้ง พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร
         ในปี พ.ศ. 2333 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่ขึ้นว่า นครพนม ชื่อนครพนมนั้น มีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า เมืองนครเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้ใช้ชื่อว่า นคร ส่วนคำว่า พนม ก็มาจากพระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เดิมเมืองมรุกขนครตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า พนม ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ นครพนม จึงหมายความถึง เมืองแห่งภูเขา นั้นเอง

14. จังหวัดเลย


    ดินแดนซึ่งเป็นที่ก่อตั้งของจังหวัดเลย มีหลักฐานและประวัติความเป็นมาว่าก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้อพยพผู้คนจากอาณาจักรโยนกที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันจนถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย จากนั้นได้อพยพขึ้นไปตามลำน้ำและได้สร้างบ้านหนองคูขึ้น พร้อมกับนำชื่อหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่เป็นเมืองด่านซ้าย และอพยพไปอยู่ที่บางยางในที่สุด 

ต่อมามีชาวโยนกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ ของอาณาเขตล้านช้างอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้ง เมืองเซไลขึ้น จากหลักฐานสมุดข่อยที่มีการค้นพบเมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็น มาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัยขึ้นจึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลและได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น ขนานนามว่า "ห้วยหมาน"

ในปี 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 4 อำเภอ อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ในปี พ.ศ.2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และในปี 2450 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหืองให้คงเหลือไว้เฉพาะเมืองเลย โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น อำเภอเมืองเลย จนถึงปัจจุบัน 



15. จังหวัดยโสธร

     ประมาณปีพุทธศักราช 2314 พระเจ้าตา เจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวและบริวารหนีมาเพื่อตั้งรกรากใหม่ เนื่องจากไม่พอใจเจ้านครคนใหม่ โดยใช้ชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองหนองบัวลุมภู ขณะเดียวกัน พระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งเป็นเจ้านครเวียงจันทน์อยู่เกิดหวาดระแวงจึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระเจ้าตาถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธปืน และฟันด้วยดาบจนถึงแก่พิราลัยในที่รบ เจ้าพระวอ เจ้าคำผง และเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องทั้ง 2 ของเจ้าพระวอ อีกทั้งเจ้าก่ำ เจ้าทิดพรมได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากเมืองหนองบัวลุมภูไปพึ่งพาเจ้านครจำปาศักดิ์ ขบวนทัพของเจ้าพระวอได้เดินทางตามลุ่มน้ำชีมาพักกับเจ้าคำสูผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร ) ภายหลังต่อมาเจ้าพระวอดำริว่าหากอยู่กับเจ้าคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบาก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่ดอนวังกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวงเจ้านครจำปาศักดิ์ โดยเจ้าพระวอให้ขุดคูสร้างค่ายขึ้นเรียกว่าค่ายบ้านดู่บ้านแก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกจนเจ้าพระวอถึงแก่ความตาย เจ้าคำผงน้องเจ้าพระวอ และบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลเรียกว่าดอนมดแดง แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสม ที่จะสร้างเมืองจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูล ถึงห้วยแจระแมแล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง เมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่าเมืองอุบล เพื่อเป็นการรำลึกถึงเมืองเดิมของตน(เจ้าคำผง) คือเมืองหนองบัวลุมภู จากนั้นเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล และได้รับพระราชทินนามว่าพระปทุมสุรราช หลังจากนั้นต่อมา เจ้าฝ่ายหน้าน้องพระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบล พร้อมกับนางอูสา ไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ บ้านสิงห์ท่าซึ่งเจ้าคำสูปกครองอยู่ พระปทุมสุรราชไม่ขัดข้องจึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรือง

พ.ศ. 2325 หลังจากที่เจ้าฝ่ายหน้าได้ไปช่วยปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วเขาโองที่นครจำปาศักดิ์ ตามใบบอกของพระปทุมสุรราช เจ้าฝ่ายหน้าก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ตามบัญชาของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในปี พ.ศ. 2334 ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลฯ จึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้ ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศาเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน

พ.ศ. 2354 เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เจ้าหนู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์ ครองนครจำปาศักดิ์สืบไป ฝ่ายเจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาอยู่บ้านเดิมคือบ้านสิงห์ท่า และได้นำเอาอัฐิของเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาด้วย แนะนำมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ซึ่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน

พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองและพระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมืองมีราชทินนามว่า พระสุนทรราชวงศา เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร

(คำว่า ยศสุนทร ต่อมากลายเป็นยะโสธร มีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งยศ แต่การเขียนหรือการเรียกสั้น ๆ ว่า ยะโส ไม่เป็นที่ไพเราะหูและไม่เป็นมงคลนาม ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยะโสธร (พ.ศ. 2500 - 2513) ได้มีหนังสือขอให้เขียนชื่อเสียใหม่เป็น "ยโสธร" และได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของราชบัณฑิตยสถานให้เปลี่ยนได้ และใช้มาจนบัดนี้
พ.ศ. 2443 ได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรได้รวมเข้ากับเมืองอุบล โดยแยกออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอ คำเขื่อนแก้ว และอำเภอประจิมยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอยโสธร

ใน ปี พ.ศ. 2456 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธร เป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร เมืองยโสธร จึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2494 กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มขอตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัด จนกระทั่งถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 จึงได้มีประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515



16. จังหวัดหนองคาย

       ตัวจังหวัดหนองคายตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นป่าดงริมแม่น้ำโขง เรียกบ้านไผ่ ชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็ก มีป่าไผ่ขึ้นปกคลุมแน่นหนาอยู่ห่างไกลคนละฝั่งแม่น้ำโขงกับเมืองเวียงจันราชธานี

      แต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ พื้นที่บ้านไผ่และใกล้เคียงโดยรอบเป็นที่ลุ่มกว้างใหญ่ริมแม่น้ำโขง มีหนองบึงหลายแห่งกระจัดกระจายไป เช่น หนองกอก, หนองบัว, หนองบ่อ, ฯลฯ แต่มีแห่งหนึ่งชื่อ หนองคาย(จากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14 พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2542 หน้า 4915) ชาวบ้านไผ่ครั้งกระโน้นอาศัยหนองคายเป็นแหล่งน้ำและข้าวปลาอาหาร

    ต้น ปี พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์กบฏ ไม่ยอมขึ้นกับไทยอีก และได้ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนในเขตแดนไทยกลับไป ในการปราบกบฏดังกล่าว ท้าวสุวอธรรมาได้ยกทัพจากเมืองยโสธรมาช่วยกองทัพที่ยกไปจากกรุงเทพฯ จนสามารถมีชัยเหนือเจ้าอนุวงศ์และจับกุมตัวลงมากรุงเทพฯ ได้สำเร็จ รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทาน บำเหน็จให้ท้าวสุวอธรรมาเลือกทำเลที่จะสร้างเมืองขึ้นรวม 4 แห่ง ซึ่งในที่สุดท้าวสุวอธรรมา ได้เลือกสร้างเมืองที่บ้านไผ่ เรียกชื่อว่าเมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2370

พ.ศ.2434 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ให้เมืองหนองคายเป็นที่ตั้งมณฑลลาวพวน
พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ปกครองเมืองเวียงจัน เลยต้องย้ายที่ทำการมณฑลลาวพวนไปอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง เป็นมณฑลอุดรธานี
พ.ศ.2459 เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด แล้วยกเมืองหนองคายเป็นจังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ.2476

หนองคาย มาจาก หนองหมากคาย หมายถึง หนองน้ำที่มีต้นหมากคาย เป็นคำประสมของคำว่า หนอง กับ คาย
หนอง หมายถึง แอ่งน้ำมีน้ำขังเหมือนบึง(หรือบุ่ง) บางทีก็เรียกรวมกันว่า หนองบึง
คาย หมายถึง ลูกไม้ชนิดหนึ่งคล้ายลูกเงาะ กินได้ เรียก หมากคาย หรือ หมากคายเข้า



17. จังหวัดหนองบัวลำภู

        หนองบัวลำภูหรือในอดีตเรียกว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ตามตำนานพระวอ-พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2302 โดยได้สร้างกำแพงเมือง มีค่ายคูประตูหอรบครบครันเพื่อป้องกันข้าศึก โดยเฉพาะข้าศึกจากทางเวียงจันทน์ คือ ได้สร้างกำแพงหิน หอรบขึ้นที่เชิงเขาบนภูพานคำ ซึ่งเป็นเส้นทางหน้าด่านใกล้กับบริเวณน้ำตกเฒ่าโต้ ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร
        ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้ส่งกองทัพมาปราบปราม เกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ สู้รบกันอยู่สามปียังไม่แพ้ชนะกัน ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วยเหลือจนสามารถตีเมืองนคร เขื่อนขันธ์ฯ ได้ พระวอ-พระตาจึงได้อพยพผู้คนหนีไปพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักร ล้านช้างจำปาสัก ในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอ-พระตาขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญ สารออกไป แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ครั้งนั้นได้ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมือง เชียงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้มาขึ้นอยู่กับไทย
        ในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชาเมืองใหญ่ 16 เมือง เมืองขึ้น 36 เมือง เรียกว่า เมืองลาวฝ่ายเหนือ และเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ก็ได้ขึ้นอยู่กับเมืองหนองคายนั้น เจ้าเมืองหนองคายได้แต่งตั้งให้พระวิชโยคมกมุทเขตมาครองเมืองนครเขื่อน ขันธ์ฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองกมุทธาสัย จนในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอุดรเป็น 5 บริเวณ 
เมืองกมุทธาสัยถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้ง และในปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ
เมืองกมุทธาสัย เป็น เมืองหนองบัวลำภู ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ได้ถูกลดฐานะลงเป็น อำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุธกิจเป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอหนองบัวลำภูมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งยกระดับเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู ในปี พ.ศ. 2536


18. จังหวัดบึงกาฬ


         อำเภอบึงกาฬ เดิมเป็นตำบลหนึ่งในเขตการปกครองของอำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ซึ่งมีที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำสงคราม ต่อมาไม่ทราบชัดว่าปีใด ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บึงกาญจน์ริมฝั่ง ตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปี พ.ศ.2459 ทางราชการ ก่อสร้าง ที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่และโอนการปกครองอำเภอชัยบุรีมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย ส่วนบริเวณที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอชัยบุรีเดิมนั้น ทางราชการยุบมาเป็นตำบลอยู่ในเขตการปกครอง ของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 

       ปี พ.ศ.2475 ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอชัยบุรี พบว่า หมู่บ้านบึงกาญจน์ มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 160 เมตร ยาวประมาณ 3,000 เมตร 
ชาวบ้านได้อาศัยน้ำในบึงบริโภคและใช้สอย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป  ชาวบ้าน เรียก "บึงกาญจน์" เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทางการจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอชัยบุรีเป็น "อำเภอบึงกาญจน์" ตั้งแต่นั้นมา 

     ต่อมาปี พ.ศ.2477 ทางการเห็นว่าชื่อ “บึงกาญจน์” ที่แปลว่า น้ำทอง หรือบึงทอง นั้น ไม่เข้ากับสีของน้ำจริงที่ออกสีคล้ำ จึงคิดชื่อให้ใหม่ เป็น “บึงกาฬ” ที่แปลว่า น้ำดำ หรือ บึงดำ (กาฬ แปลว่า ดำ) แล้วใช้กันมาถึงปัจจุบันจึงเปลี่ยนชื่อ อำเภอบึงกาญจน์ เป็น"อำเภอบึงกาฬ" เพื่อความสะดวกและ เข้าใจง่าย 

19. จังหวัดอำนาจเจริญ


        เมืองอำนาจเจริญ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ โดยท้าวอุปราชเจ้าเมืองจำพรแขวงสุวรรณเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ได้อพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บ้านค้อใหญ่ ซึ่งก็คือบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ กิ่งอำเภอลืออำนาจปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองลืออำนาจ มีฐานะเป็นเมืองในความปกครองของนครเขมราฐ

   พ.ศ. ๒๔๑๐ พระอมรอำนาจ (เสือ อมรสิน) ผู้ครองเมืองอำนาจเห็นว่า ถ้าย้ายเมืองอำนาจมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จะสะดวกในการติดต่อราชการมากจึงได้มีใบบอกกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าตามที่ขอ ให้เมืองอำนาจขึ้นต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่นั้นมา

   สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามแบบอย่างยุโรป เมืองอำนาจได้เปลี่ยนฐานะเป็นเมืองอำนาจเจริญ อยู่ในความปกครองของมณฑลเทศาภิบาลปกครองท้องที่อุบลราชธานี ทางราชการได้แต่งตั้งท้าวพระยาในราชวงศ์มาปกครองเมืองอำนาจเจริญติดต่อกันมาโดยตลอด



20. จังหวัดมุกดาหาร



       เจ้าจันทรสุริยวงษ์และพรรคพวกได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรี ผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก

        เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก) เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)

        ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ(ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน (รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)

       ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระายาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร

      หลังจากนั้นได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบต่างๆ หลายครั้ง จนถูกยุบเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2525 ได้ให้อำเภอมุกดาหาร เป็นจังหวัดมุกดาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น