.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาชือจังหวัดทางภาคใต้

ที่มาชือจังหวัดทางภาคใต้



ภาคใต้ประกอบไปด้วยจังหวัดทั้งหมด 14 จังหวัด ดังนี้

1. จังหวัดกระบี่



จังหวัดกระบี่ ตั้งขั้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “แขวงเมืองปกาสัย” พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองฯ มาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาสัย และได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดเมืองฯ ได้ยกตำบลปกาสัยขั้นเป็น “แขวงเมืองปกาสัย” ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2443 สมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

ความหมายของคำว่า “กระบี่”
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางดาบหรือกระบี่ไขว้กัน ซึ่งลักษณะการวางดาบหรือกระบี่ไขว้ เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำจังหวัด คือรูปดาบไขว้ด้านหลังมีภูเขาและทะเล โดยบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่ใหญ่” บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่น้อย”
แต่มีอีกตำนานหนึ่ง สันนิษฐานว่า คำว่า “กระบี่” อาจเรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น “หลุมพี” จึงเรียกชื่อท้องถิ่นว่า “บ้านหลุมพี” ต่อมามีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายไดเรียกเพี้ยนเป็น “บ้าน-กะ-ลู-บี” หรือ “คอโลบี” นานๆ เข้าก็ได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า “กระบี่”

2. จังหวัดชุมพร


ชุมพร มีชื่อปรากฎมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองสิบ สองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง และเป็นเมืองหน้า ด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ในพุทธศักราช 1997 รัชสมัย แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฎในกฎหมายตราสามดวงว่าเมือง ชุมพร เป็นเมืองตรี อาณาจักรผ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครอง ระบอบมณฑลเป็นจังหวัด ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด

คำว่า "ชุมพร" มีผู้สันนิษฐานว่าจะมาจากคำว่า "ชุมนุมพล" เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านการเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือ หรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่าย ชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า "ชุมนุมพล" ต่อมาเพี้ยนเป็น "ชุมพร" อีกประการหนึ่งในการเดินทางไป ทำศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ตั้งแต่สมัยโบราณมา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพ โดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำ นี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า "ชุมนุมพร" เช่นเดียวกัน

แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นมากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจำจังหวัดชุมพร

3. จังหวัดตรัง



คำว่า “ตรัง” มีที่มาสรุป ได้ 2 ประการด้วยกัน คือ

1. บ้างก็ว่า ตรัง มาจากคำมลายู อ่านออกเสียง “เตอรัง” (Terang) หมายถึง ความสว่างสดใส เช่น เพลงไทยเดิมที่ชื่อ ตรังบุหลัน แปลว่า ความสว่างสดใสของแสงเดือน สาเหตุที่เรียกถิ่นดังกล่าวว่า ตรังหรือเตอรัง เนื่องจากในอดีตชาวมลายูคงแล่นเรือมาถึงลำน้ำตรังในยามท้องฟ้ารุ่งอรุณ หรือเริ่มสว่างพอดี
2. บ้างก็ว่า ตรัง มาจกคำบาลีสันสกฤต โดยเขียนเป็น “ตรังค์” หมายถึงลูกคลื่นหรือกระแสคลื่นนั่นเอง และในอดีตมีการนำมาตั้งเป็นชื่อบุคคลและสถานที่ในเมืองตรัง เช่น พระยาตรังคภูมาภิบาล วัดตรังคภูมิพุทธาวาส เป็นต้น

 จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีประวัติในสมัยโบราณก่อนหน้านั้น และเข้าใจว่าในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถครั้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มี เพราะพระธรรมนูญกล่าวถึงหัวเมืองฝ่ายใต้มีเพียง นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา เพชรบุรี กุย ปราณ ครองวาฬ บางสะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศี ทะวาย มะริด และสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมา น่าจะเป็นเพียงทางผ่านไปยังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้นจึงเกิดเมืองในตอนหลัง
     เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จารึกโดยพระเจ้าจันทรภาณุ หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๑๗๗๓ ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก ได้จารึกว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีหัวเมืองรายล้อมอยู่ถึง ๑๒ หัวเมือง ได้กำหนดใช้รูปสัตว์ตามปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง เรียกว่าการปกครองแบบ ๑๒ นักษัตร โดยเมืองตรังใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมือง แสดงว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๓ มีเมืองตรังแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งเมืองอยู่ที่ใด ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าว ว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓ พระยากุมารกับนางเลือดขาวไปลังกา ทั้งขาไปและขามาได้แวะที่เมืองตรัง เพราะเป็น เมืองท่า นางเลือดขาวยังได้สร้างพระพุทธรูปและวัดพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เมืองตรัง
     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองตรังมีชื่อเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้น ถึงปี พ.ศ.๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เนื่องจากผู้รักษาเมืองตรังเป็นอริกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นให้ไปขึ้นกับเมืองสงขลาระยะ หนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๕๔ จึงกลับไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ ควนธานี
     พ.ศ.๒๓๘๑ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทางเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง ต่อมาจึงได้โอนเมืองตรังมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองตรังจนถึง พ.ศ.๒๔๒๘ เมืองตรังจึงได้กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภูเก็ต และเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองตรังจึงถูกรวม เข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต
     ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสหัว เมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก 
     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

4. จังหวัดนครศรีธรรมราช


ชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช



จากประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช สามารถประมวลได้ว่า“นครศรีธรรมราช" ได้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆ หลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจที่สืบทอดกันมาและสำเนียงภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น “ตมฺพลิงฺคมฺ” หรือ “ตามฺพลิงฺคมฺ” (Tambalingam) หรือ “กมลี” หรือ “ตมลี” หรือ “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงการเดินทางของ นักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวยยังดินแดนต่าง ๆ อันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุเมืองท่าต่างๆ ในบริเวณนี้ไว้และในจำนวนนี้ได้มีชื่อเมืองท่าข้างต้น อยู่ด้วย

นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แต่บางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ก็ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในถ้อยคำของพระมหานาคเสน

ศาสตราจารย์ซิลแวง เลวี (Sylvain levy) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า “ตามพรลิงค์” ตามที่ ปรากฏในที่อื่นๆ๗ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรนะวิธานะ (Senarat Paranavitana) นักปราชญ์ชาวศรี-ลังกา(ลังกา) มีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) บวกกับ “คมฺ” (gam) หรือ “คมุ” (gamu-ซึ่งภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ครฺมะ” (grama) จึงอาจจะเป็น “ตมะลิงคมฺ” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu)ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำว่า “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) และเป็น “ตามพรลิงคะ”(Tambralinga) ในภาษาสันสกฤต๘

“ตัน-มา-ลิง” (Tan-Ma-ling) หรือ ตั้ง-มา-หลิ่ง”
เป็นชื่อที่เฉาจูกัว (Chao-Ju-Kua) และวังตาหยวน (Wang-Ta-Yuan) นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ เตา-อี-ชี-เลี้ยว (Tao-i Chih-lioh) เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๙ ความจริงชื่อตามพรลิงค์นี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อน ๆ ก็ได้เคยบันทึกไว้แล้วดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสุงชี (Sung-Shih) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปติดต่อทำไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ โดยจีนเรียกว่า “ต้น-เหมย-หลิว” (Tan-mei-leou) ศาสตราจารย์พอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า Tan-mei-leou” นั้นต่อมานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนชาวฝรั่งเศสและอังกฤษได้ลงความเห็นคำนี้ที่ถูกควรจะออกเสียงว่า “Tan-mi-liu” หรือ “Tan-mei-liu”


“มัทมาลิงคัม” (Madamalingam)
เป็นภาษาทมิฬปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียภาคใต้โปรดให้สลักขึ้นไว้ที่เมืองตันชอร์ (Tanjore) ในอินเดียภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกดังกล่าวนั้นมีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นชื่อ “มัทมาลิงคัม”

“ตามพฺรลิงค์” (Tambralinga)
เป็นภาษาสันสกฤต คือเป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓

“ตมะลิงคาม” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงโคมุ” (Tamalingomu)
เป็นภาษสิงหล ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ Elu-Attanagalu vam-sa ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕๑๗

นอกจากนี้ในเอกสารโบราณประเภทหนังสือของลังกายังมีเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu) ปราฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ ปูชาวลี (Pujavali), “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) ปราฏอยู่ในหนังสือเรื่องวินยะ-สนฺนะ (Vinay-Sanna)๑๘ และในตำนานจุลวงศ์๑๙(Cujavamsa) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “. . . พระเจ้าจันทภานุบังอาจยกทัพจาก “ตมฺพลิงควิสัย”(Tambalinga – Visaya) ไปตีลังกา . . .” เป็นต้น ชื่อเหล่านี้นักปราชญ์โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อ “ตามพรลิงค์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทย

“กรุงศรีธรรมาโศก”
ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓๕ คือศิลาจารึกดงแม่นางเมือง พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐

“ศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (วัดเวียง) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่าสลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินทรงมีอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของ “ตามพรลิงค์ (ตามพรลิงคศวร)”

ต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕

“สิริธรรมนคร” หรือ “สิริธัมมนคร”
      ชื่อนี้พบว่าใช้ในกรณีที่เป็นชื่อของสถานที่ (คือเมืองหรือนคร) เช่นเดียวกับชื่ออื่นๆ ที่กล่าวมาแต่หากเป็นชื่อของกษัตริย์มักจะเรียกว่า “พระเจ้าสิริธรรม” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมนคร” หรือ“พระเจ้าสิริธรรมราช”
     ชื่อ “สิริธรรมนคร” ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และเมื่อมีผู้อื่นแต่งต่ออีก จนแต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑๒๔

  ส่วนในหนังสือสิหิงคนิทานซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิสครองราชย์ในนครเชียงใหม่ แห่งลานนาไทย) เรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมราช”

โลแค็ก” หรือ “โลกัก” (Locae, Loehae)

เป็นชื่อที่มาร์โคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านจากปลายแหลมญวนตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายู แล้วกล่าวพรรณนาถึงดินแดนในแถบนี้แห่งหนึ่ง ชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช

“ปาฏลีบุตร” (Pataliputra)
เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลื่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “เมืองละคอน” (Muan Lakon)๒๗ในบางตอน เช่น
“. . . ในวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ในขณะที่เขากำลังมาถึงเมือง ละคอน (Muan Lakon) ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสยาม เรือก็อับปางลงแต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายและทุกคนได้ขึ้นฝั่งยังดินแดนที่เรียกกันว่าเมืองละคอน ในดินแดนนี้มีเมือง (City) ใหญ่เมืองหนึ่งเรียกกันว่า “ปาฏลีบุตร” (Pataliputra) ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ทุกด้าน . . .”
      ในโครงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน

“ลึงกอร์”
      เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ชื่อลึงกอร์นี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงใช้เช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่เคยเรียกชื่อตามพร-ลิงค์ว่า “นครศรีธรรมราช” เลยมาแต่สมัยโบราณยิ่งกว่านั้นแม้แต่คำว่า “นคร” เขาก็ไม่ใช้ เพราะเขามีคำว่า“เนการี” หรือ “เนกรี” (Nigri) อันหมายถึงเมืองใหญ่หรือนครใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัดยังคงเรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช
      “ลึงกอร์” อยู่บ้างด้วยเหตุนี้ชื่อ “ลิกอร์” ที่ชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และยุโรปชาติอื่นๆ ใช้เรียกชื่อตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช อาจจะเรียกตามที่ชาวมาเลย์และชาวพื้นเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้ง ๓ จังหวัดใช้ก็ได้ เพราะชาวยุโรปคงจะอาศัยชาวมาเลย์เป็นคนนำทางหรือเป็นล่ามในการแล่นเรือเข้ามาค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือหรือคาบสมุทรไทย

“ลิกอร์” (Ligor)
       เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และพบว่าที่ได้เรียกแตกต่างกันออกไปเป็น“ละกอร์” (Lagor) ก็มี
        นักปราชญ์สันนิษฐานว่า คำว่า “ลิกอร์” นี้ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร”อันเป็นคำเรียกชื่อย่อของ “เมืองนครศรีธรรรมราช” ทั้งนี้เพราะชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว“น” (N) จึงออกเสียงตัวนี้เป็น “ล” (L) ดังนั้นจึงได้เรียกเพี้ยนไปดังกล่าว แลัวในที่สุดชื่อ “ลิกอร์” นี้กลายเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี

ในจดหมายเหตุของวันวลิต (Jeremais Van Vliet) พ่อค้าชาวดัทช์ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฮอลันดา และเข้ามาประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ลิกูร์” (Lijgoor Lygoot)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จอห์น ครอวฟอร์ด (John Crawfurd) ฑูตชาวอังกฤษที่เป็นตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยก็เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”

แม้แต่ในปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกก็ยังใช้ชื่อนี้กันอยู่ อย่างชื่อศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ที่พบ ณ วัดเสมาชัย (คู่แฝดกับวัดเสมาเมือง ต่อมารวมกับบางส่วนเป็นวัดเสมาเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ชาวตะวันตกและเอเชียรู้จักกันในนาม “จารึกแห่งลิกอร์” (Ligor Inscription)นอกจากนี้ยังเรียกด้านที่ ๑ ของศิลาจารึกหลักนี้ว่า “Ligor A” และเรียกด้านที่ ๒ ว่า Ligor B “ ดังนั้นนอกจาก “ตามพรลิงค์” แล้ว ชื่อเก่าของนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง คือ “ลิกอร์”

“ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน”
คงจะเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อ “นคร” อันอาจจะเกิดขึ้นเพราะชาวมาเลย์และชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไป แล้วคนไทยก็กลับไปเอาชื่อที่เพี้ยนนั้นมาใช้ เช่นเดียวกันกับที่เคยมีผู้เรียกนครลำปางว่า“เมืองลคร” หรือ “เมืองละกอน” เป็นต้น และคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารโบราณของฑูตสิงหลที่รายงานไปยังลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในชื่อ “ปาฏลีบุตร” ข้างต้นนั้น

นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่าที่ได้เรียกเช่นนี้เพราะว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อเมืองหลวงต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครยังต้องเอาแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช

“นครศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรมราช”ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์ จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งได้ใช้เรียกขานกันมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยตราบจนปัจจุบันนี้




5. จังหวัดนราธิวาส



จังหวัดนราธิวาสเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงชื่อว่า    "มะนาลอ"  ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำบางนราติดชายทะเลอ่าวไทย  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  บ้านบางนราถูกจัดให้อยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในปกครองของเมืองระแงะ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลปัตตานี ปี พ.ศ. ๒๓๕๕ เกิดมีโจรร้ายปล้นสะดมมากมายในมณฑลปัตตานี เหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะจัดการลงได้  จึงขอความช่วยเหลือไปยังพระยาสงขลาให้ช่วยมาปราบปรามจนสำเร็จ พร้อมทั้งวางนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือเมืองปัตตานี  เมืองหนองจิก เมืองยะลา  เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง
            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกบฏใน ๔ หัวเมืองปักษ์ใต้ โดยมพระยาปัตตานี พระยาหนองจิก พระยายะลา และพระยาระแงะ สมคบร่วมกัน พระยาสงขลาจึงยกกำลังมาปราบปรามโดยมีพระยายะหริ่งเป็นกำลังสำคัญช่วยทำการปราบปรามจนสำเร็จ  ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะที่หลบหนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ที่ตำบลตันหยงมัส หรืออำเภอระแงะ ในปัจจุบัน
               ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่า ขณะเดียวกับบ้านบางนราได้เจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ จนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าขายทั้งทางบกและทางทะเล และเพื่อให้การดูแลและขยายเมืองเป็นไปด้วยดี ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมปีเดียวกันจึงมีประกาศพระบรมราชโองการให้แยก ๗ หัวเมืองออกจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงนี้ได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ
               ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านบางนราในวันที่ ๑๐ มิถุนายน  และพระราชทานชื่อว่า นราธิวาส ซึ่งมาจากคำประสมระหว่าง นร + อธิวาส อันมีความหมาย ว่าที่อยู่ของคนดี ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนราธิวาสนับแต่นั้นเป็นต้นมา


6. จังหวัดปัตตานี


เมืองปัตตานีตั้งเมื่อ  พ..  2444  ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์  อำเภอเมืองปัตตานี เป็นเมืองเก่าแก่  มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์เป็นอู่ข่าวอู่น้ำ  มีชาวยุโรป  หลายชาติ เข้ามาทำการค้าแต่โบราณ

คำว่า   "ปัตตานี"  เป็นชื่อเมือง  ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความเป็นมาอย่างไรเป็นเพียงคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา  ซึ่งมีหลักฐานในการเรียกเป็นทางการตั้งแต่สมัย  รัชการที่  โปรดเกล้า ฯ ให้แยกปัตตานี  เป็น หัวเมือง  คือ ปัตตานี  ยะลา  ยะหริ่ง  ระแงะ  รามัน  สายบุรี  และหนองจิก  ต่อมา  รัชการที่  5  ทรงโปรดเกล้า ฯ  ยกเลิกระบบหัวเมือง  โดยแบ่งเป็นมณฑล  คือ  ปัตตานี  ยะลา  สายบุรี  และราแงะ  และในปี  พ..  2475  ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแห่งราชอาณาจักรสยามจัดการปกครองขึ้นใหม่เป็นจังหวัด  คือ  ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  โดยได้ผนวก  หนองจิก  สายบุรี  และยะหริ่งให้อยู่ในจังหวัดปัตตานี  รามัน  ให้อยู่ในจังหวัดยะลา  และระแงะอยู่ในจังหวัดนราธิวาส

7. จังหวัดพังงา


จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เดิมที พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอำเภอตะกั่วป่า จนเมื่อช่วงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชการลที่ 1 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่ากับตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งและโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2352 ซึ่งในปีนั้น พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่นเป็นแม่ทัพนำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง(ในจังหวัดภูเก็ต) ได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่ายของตน และเผาเมืองถลางเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพมหานครมาช่วยและขับไล่ได้ทัน

ช่วงสงครามในขณะนั้นได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ "กราภูงา" (ภาษามลายูแปลว่า ป่าน้ำภูงา) ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำพังงา ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้นเสร็จศึก แล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลางทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลาง ข้ามฝากมาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลลำน้ำพังงา แขวงเมืองตะกั่วทุ่งและจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ "ถลาง" ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพ จากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบันต่อมา

สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้มแข็งจึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครและได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรก ในปี พ.ศ. 2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา

ในช่วงระยะเวลาทั้งหมดนี้เหมืองดีบุกกำลังเฟื่องฟูและเป็นแหล่งแร่ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ทำให้เป็นที่ดึงดูดและสนใจ จึงมีต่างชาติติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมากและรัฐบาลกลางเองด้วย เนื่องจากให้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและกลายเป็นช่วงฐานเศรษฐกิจไปทั่วโลกในช่วง ปี พ.ศ. 2473
ในช่วงปีพ.ศ. 2474 ได้มีการรวมตัวยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับจังหวัดพังงาเป็นต้นมา อาคารศาลากลางหลังเก่าที่สวยงามที่สุดของจังหวัดพังงาได้สร้างขึ้นที่บ้านชายค่าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 จึงได้สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้างและต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็ได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน


จังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกกันว่า "เมืองภูงา" ตามชื่อเขางาหรือเขาพังงา ซึ่งตั้งอยู่ในตัวจังหวัดพังงาในปัจจุบัน    ในสมัยก่อน เมืองภูงาขึ้นอยู่กับนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 2 ชื่อของ "เมืองภูงา" ได้ปรากฏอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งน่าจะเป็นเมืองขึ้นของพระสุรัสวดีฝ่ายซ้าย เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองกับเมืองภูเก็ต และเหตุที่เมืองภูงา
กลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะเนื่องมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ มีชาวต่างชาติมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และชาวต่างชาติเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง "พังงา" ไปเพราะแต่เดิมชาวต่างชาติเขียนชื่อเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่าภูงา หรือพังกาก็ได้



8. จังหวัดพัทลุง

ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็น จากหลักฐานพบว่า บนเหรียญอีแปะพัทลุง พ.ศ. 2426 เขียนว่า พัททะลุง และพัตะลุง ในเอกสาร ของไทย ใช้ต่างกันมากมาย ได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัฒลุง พัทลุง ในเอกสาร เบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 เ ขียนว่า Bondelun และ Merdelong ของนายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdelun

ความหมายของชื่อเมือง

เมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้าง ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัด-ท-พัทธ”ยังไม่อาจทราบได้ว่าคำเดิมเขียนอย่างไร คำไหน ทราบเพียงว่าเป็นคำขึ้นต้น ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตะลุง” แปลว่าเสาล่ามช้าง หรือไม้หลักผูกช้าง ชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุงที่เกี่ยวกับช้างมีมาก หรือจะเรียกว่าเป็น “เมืองช้าง” ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบชะรัด ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และในตำนานนางเลือดขาว ตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโม ยายเพชร เป็นหมอสดำ หมอเฒ่านายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทอง ทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง”

9. จังหวัดภูเก็ต


  " ภูเก็ต " ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ขุดพบเครื่องมือหินและขวานหินเป็นการแสดงให้ทราบว่ามี มนุษย์อาศัยในดินแดนแถบนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี มาแล้วและได้มีหลักฐานการ กล่าวถึงดินแดนในแถบนี้อีกครั้ง เมื่อปี พ .ศ.700 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 2 ในบันทึกของนักเดินเรือ ชื่อ คลอดิอุส ปโตเลมี กล่าวถึงผืนดินหรือแผ่นดินในส่วนนี้ว่า แหลมตะโกลา เป็นผืนดินที่ถูกดันออกมาทางใต้กลายเป็นแหลมยาวๆ อยู่ส่วนปลายสุดของจังหวัดพังงา อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ของเปลือกโลกขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมารุย (Klong Marui Fault) ซึ่งวางตัวเป็นแนวยาวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพังงา ลงมาทางทิศตะวันออกของภูเก็ต ต่อมาได้ถูกคลื่นลมในทะเลกัดเซาะ และตัดพื้นที่ดังกล่าวนี้ ออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นเกาะโดยเกิดร่องน้ำระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพังงาขึ้น ที่เรียกว่า ช่องแคบปากพระ (เป็นร่องน้ำแคบ ๆ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกเพียง 8-9 เมตร ) ในปัจจุบัน
      สำหรับการเรียกขานภูเก็ตของชาวต่างประเทศ ในอดีตนอกจากจะมีปรากฎในบันทึก เมื่อปี พ .ศ.700 ของนักเดินเรือ คลอดิอุส ปโตเลมี ที่เรียกผืนดินในบริเวณนี้ว่า แหลมตะโกลา แล้ว ได้มีปรากฎหลักฐานการกล่าวถึง ผืนดินในบริเวณนี้อีกครั้ง จากบันทึก และแผนที่การเดินเรือมาเอเชียตะวันออก ของชาติยุโรป ระหว่างพ.ศ.2054-2397 เรียกผืนดินนี้ว่า จังซีลอน นอกจากนี้ ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขาน ผืนดินนี้ของชาวทมิฬ์ในปี พ.ศ.1568 ว่า มณิคราม หมายถึง เมืองแก้ว ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ ภูเก็จ ที่ปรากฎในจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ .2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ภูเก็ต ซึ่งได้ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ.2450 เป็นต้นมา  โดยเริ่มเป็นที่รู้จักกัน ในฐานะ มณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต ในเวลาต่อมา

10. จังหวัดยะลา


เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา คำว่า “ยะลา” เป็นชื่อเรียกสำเนียงภาษามลายูพื้นเมือง มาจากคำว่า “ยาลอ” (جال) แปลว่า “แห” แต่ตามประวัติศาสตร์ซึ่งได้เขียนไว้ในสมัยเจ็ดหัวเมือง โดยเจ้าผู้ครองเมืองเดิมได้เขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์เป็นภาษามลายูว่า “เมืองยะลา” เป็นสำเนียงภาษาอาหรับ โดยชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในบริเวณเจ็ดหัวเมือง ซึ่งอยู่ในแหลมมลายูเป็นผู้ตั้งชื่อเมืองไว้

เมืองยะลาเดิมตั้งอยู่ใกล้ภูเขายาลอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ต่อมาเมืองยะลาได้ยกฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งของบริเวณเจ็ดหัวเมือง คำว่าเมืองยะลาหรือยาลอ ยังคงเรียกกันจนถึงปัจจุบันนี้

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ แต่เดิมจะเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งในเมืองปัตตานียังไม่ได้แยกออกมาเป็นเมือง  สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (แต่เดิมเมืองปัตตานีอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๓๓๔ และต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร จังหวัดยะลาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้


11. จังหวัดระนอง

   ระนอง หรือเมืองแร่นอง เดิมเป็นหัวเมืองเล็กๆ มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 เมือง คือ เมืองระนอง และเมืองตระ ซึ่งอยู่ในการปกครองของเมืองชุมพร

      เมืองระนองมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามาเพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น นอกจากนี้ในอดีตนอกจากจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในป่าดงรกร้างหาเป็นภูมิฐานบ้านเมืองไม่ ภูมิประเทศยังเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนแทบจะหาที่ราบสำหรับการเกษตรไม่ได้ มิหนำซ้ำการเดินทางไปมาติดต่อต่างเมืองก็ลำบากยากเข็น ถ้าไม่ใช่การเดินทางทางเรือ อันต้องผ่านปากอ่าวเข้ามาทางด้านมหาสมุทรอินเดียแล้ว ก็ต้องขึ้นเขาลงห้วย บุกป่าฝ่าดงกันเท่านั้นเองแต่ไม่ว่าทางใดก็ต้องเสียเวลาเดินทางกันเป็นวันๆ ทั้งนั้นจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง “สุดหล้าฟ้าเขียว” เอาทีเดียว ผู้คนต่างกันจึงไม่ค่อยจะได้ถ่ายเทเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองระนองพลเมืองระนองจึงมีอยู่น้อยนิดเรื่อยมาแต่ในท่ามกลางป่าเขาทุรกันดารนั้น ระนองได้สะสมทรัพยากรธรรมชาติไว้ใต้แผ่นดินเป็นเอนกอนันต์ นั่นคือวัตถุที่มีชื่อเรียกกันในสมัยโบราณว่า ตะกั่วดำ และในปัจจุบันเรียกว่า แร่ดีบุกนั่นเอง



12. จังหวัดสงขลา

ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร" แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู-เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า "เมืองสิงหลา" ส่วนคนไทยเรียกว่า "เมืองสทิง" เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา" ดังปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ เอกสารชิ้นนี้ยังอธิบายต่อถึงความเป็นไปได้อีกสาเหตุหนึ่งว่า คำว่าสงขลาน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่าภูเขา เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา และต่อมาเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา สอดคล้องกับสุภาวดี เชื้อพราหมณ์ ที่ได้บันทึกว่าสงขลาเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลีเนื่องจากชาวอินเดียล่องเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งสงขลาแลเห็นภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกว่า สิงขระ หรือ สิงขร ซึ่งคำไทยสิงขร หมายถึง ภูเขา ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกตาม และเพี้ยนเป็นคำว่า ซิงโกรา หรือ ซิงกอรา เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
เหตุผลสุดท้ายที่เอกสารในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คอน) แต่แขกชาวมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา
ในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึงสามร้อยปีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2228

13. จังหวัดสตูล


คำว่า สตูล มาจากภาษามาลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน อันเป็นต้นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่บริเวณเมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า “นครสโตยมำ-บังสการา”หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “สตูล” แห่งเมืองพระสมุทรเทวา

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ณ ที่ใดสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นไม่มีเมืองสตูลคงมีแต่ หมู่บ้านเล็ก ๆกระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุร ีดังปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ว่า

"ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้วทำให้เห็นว่าในเวลานั้นพวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวกคือพวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทรแต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ ของพระอภัยนุราช(ปัศนู)คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

สตูลยังเป็นเพียงตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สตูลได้ครอบครองดินแดนที่เป็นเกาะในทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้เป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2392 โดยให้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดการปกครองใหม่เป็นรูปมณฑลขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2440 และให้รวมสตูลเข้าไว้ในมณฑลไทรบุรีเมื่อไทยต้องยอมเสียดินแดนแคว้นไทรบุรีให้แก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.2452 ยังเหลือสตูลอยู่เพียงเมืองเดียว จึงต้องไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต และเมื่อเส้น ทางสายควนเนียงสตูลไปมาสะดวกทางราชการก็โอนสตูลไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชตามเดิม และเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลในปี พ.ศ.2475 สตูลก็ได้ยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


14. จังหวัดสุราษฎร์ธานี


จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า เป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งรกรากและเส้นทางสายไหมในอดีต พื้นที่อ่าวบ้านดอนเจริญขึ้นจนเป็นอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองในอดีต ภายหลังยังเชื่อว่า เมื่ออาณาจักรตามพรลิงก์หรือเมืองนครศรีธรรมราชมีความรุ่งเรืองมากขึ้นนั้น เมืองไชยาก็เป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ชื่อว่า "เมืองบันไทยสมอ"
นอกจากนี้ในยุคใกล้เคียงกันนั้นยังพบความเจริญของเมืองที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ได้แก่ เมืองเวียงสระ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองท่าทอง โดยเชื่อว่าเจ้าศรีธรรมาโศก ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชนั้นอพยพย้ายเมืองมาจากเมืองเวียงสระ เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รวมทั้งเกิดโรคภัยระบาด และเมื่อเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองนั้น ได้ยกเมืองไชยา และเมืองท่าทอง เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของตนด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งอู่เรื่อพระที่นั่งและเรือรบเพื่อใช้ในราชการที่อ่าวบ้านดอน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ย้ายที่ตั้งเมืองท่าทองมายังอ่าวบ้านดอน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน) พร้อมทั้งยกฐานะให้เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และพระราชทานชื่อว่า "เมืองกาญจนดิษฐ์" โดยแต่งตั้งให้พระยากาญจนดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองดูแลการปกครอง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า "เมืองไชยา" ภายใต้สังกัดมณฑลชุมพร
เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ อ่าวบ้านดอน ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า อำเภอไชยา และให้ชื่อเมื่องเก่าว่า "อำเภอพุมเรียง" แต่เนื่องด้วยประชาชนยังติดเรียกชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา" ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามเมืองใหม่ที่บ้านดอนว่า "สุราษฎร์ธานี" แปลว่า เมืองแห่งคนดี และให้ชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา" และพระราชทานนามแม่น้ำตาปี ให้ในคราวเดียวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามแบบเมืองและแม่น้ำในประเทศอินเดียที่มีแม่น้ำตาปติไหลลงสู่ทะเลออกผ่านปากอ่าวที่เมือง สุรัฎร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น