.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์

ตำหรับกับข้าวไทย

โดย  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรวงค์


หนังสือ  แม่ครัวหัวป่าก์  นับถือกันว่าเป็นตำราอาหารไทยยุคแรก ๆ ของประเทศไทย  แต่งโดย  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภรรยาเจ้าพระยาภาสกรวงค์ (พร  บุนนาค)  มีบุตรีของท่านคือ  คุญหญิงดำรงราชพลขันธ์ (พวง  บุนนาค)  เป็นผู้ช่วย  ได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเป็นครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๕๒  ชุดหนึ่งมี ๕ เล่ม  ปัจจุบันจะหาท่านใดมีครบชุดนั้นแสนยาก
หนังสือ  “แม่ครัวหัวป่าก์”  มีรายละเอียดที่น่าสนใจและควรศึกษา ๔ ประการ  คือ
๑.  บันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่าในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีข้อความที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตรเกือบ ๒๐ แห่ง  ท่านผู้เขียนได้เล่าไว้อย่างน่าอ่าน  เช่น  ประวัติขนมค้างคาวของเจ้าครอกทองอยู่ว่า  เจ้าครอกทองอยู่เป็นพระชายาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)  ชอบไว้ผมประบ่า  คุ้นเคยกับเจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือ กรมหลวงนรินทรเทวี  พระขนิษฐาของรัชการที่ ๑  ซึ่งทรงมีชื่อเสียงว่าทำขนมจีบอร่อยที่สุด  “แผ่แป้งจนแลเห็นใส้…ถึงเนื้อหมูมากกว่ามัน  บริโภคได้มาก ๆ ไม่เลี่ยน”  และให้ข้อสังเกตเป็นพิเศษว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์โปรดทรงภูษาสีแดงตลอดเวลา
อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงตำราใข่เจียวในรัชการที่ ๕  ว่าใข่เจียวที่พระองค์เสวยนั้นต้องเจียวให้ใข่ข้างในเป็นยางมะตูม  หรือกล่าวถึงน้ำพริกนครบาลตำหรับเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์)  เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยายมราช  กำกับกรมพระนครบาล  หรืองบปลาร้าและตำราผัดปลาแห้งของคุณม่วง ชูโต  ว่าแม้เมื่อคุณม่วงเสียชีวิตไปแล้ว  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)  ยังต้องให้บ่าวไปสืบว่ามีใครทำเป็นอย่างคุณม่วงบ้าง  ปรากฏว่าไปได้บ่าวของคุณม่วงมาคนหนึ่งชื่ออำแดงลิ้ม  สามารถปรุงผัดปลาแห้งเป็นที่พอใจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  ถึงกับมอบรางวัลเป็นเงิน ๕ ตำลึง  ผ้านุ่งผ้าห่มอีก ๑ สำรับ
๒.การกล่าวถึงสภาพภูมิ-ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครในสมัยรัชการที่ ๕  โดยเฉพาะบริเฉทว่าด้วยเรื่องผลไม้  และบริเฉททั่วไปว่าด้วยเรื่องตลาดขายของสดต่าง ๆ  ถือได้ว่าเป็นการบันทึกสภาพธาามชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในสมัยเมื่อ ๑ๆๆ กว่าปีมาแล้ว เช่น  เงาะต้องเกิดที่ตำบลบางยี่ขัน  ลางสาดต้องที่วัดทอง  คลองสาน  ทุเรียนต้องของบางบน ((คือบางขุนนนท์ในปัจจุบัน)  จะมีรสมันมากกว่าหวาน  ถ้าของบางล่าง (คือ  บางคอแหลมและบางโคล่)  จะมีแต่รสหวานเนื้อละเอียด  มะม่วงมี ๒๕ สายพันธุ์  มะม่วงต้องปลูกที่  ตำบลท่าอิฐ  จังหวัดนนทบุรี  แลส้มเขียวหวานในตำราระบุว่าต้องปลูกที่ตำบลบางมด  รสหวานสนิท  แต่กำลังจะสูญพันธุ์ไปเพราะราษฏรหันมาทำนาเกลือ  ปัจจุบันปรากฏว่าส้มเขียวหวานบางมดก็ถึงกาลสูญไปจริง ๆ  ในคราวเศรษฐกิจเฟื่องฟูเ้มื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑  เพราะราษฏรเจ้าของที่ดินขายที่ดินเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรร

หนังสือยังกล่าวต่อไปว่า  มังคุดเป็นราชินีแห่งผลไม้คู่กับทุเรียนที่เป็นราชาแห่งผลไม้  ท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  บันทึกไว้ความว่า  “มังคุดมีโอชารสที่ปรหลาดรสเปรี้ยวแกมหวาน  เมื่อชาวต่างประเทศชาติตะวันตกได้มาพบรสมังคุดในครั้งแรกเป็นพิเศษ  แปลกประหลาดกว่าผลไม้ในประเทศหนาว  จึงได้ตั้งนามเป็นนางพระยารานีของผลไม้ในทิศตะวันออกประเทศที่ร้อน”  ในเรื่องตลาดและอาหารสดนั้นได่มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้อย่างละเอียด  ทำให้ทราบว่าราษฏรชาวกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง  มีตลาดและอาหารสดต่าง ๆ  รอบกรุงเทพมหานครอยู่ที่ใดบ้าง  ตลาดที่ใหญ่โตมีความสำคัญ  เช่นตลาดสำเพ็ง  ตลาดน้อย  ตลาดบางรัก  ตลาดท่าเตียน  ตลาดยอด  ตลาดพลู  ตลาดครองมอญเป็นตลาดเรือ  และตลาดเสาชิงช้า
ส่วนเรื่อง อาหารสด ก็ได้ให้ทั้งความรู้และเกร็ดประวัติศาสตร์มากมาย  เช่นปลาเทโพเป็นปลาเลี้ยงในบ่อ  และเลี้ยงในกระชังแถวบ้านญวน  สามเสน  ปลาตะเพียนมี ๒ ชนิด  อย่างขาวเรียกตะเพียนเงิน  อย่างเหลืองเรียกตะเพียนทอง  มีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยอยุธยา  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเสวอยปลาตะเพียนมากถึงขนาดมีพระราชกำหนดห้ามราฏรรับประทาน  มีเบี้ยปรับตัวละ ๕ ตำลึง  ปลากระโห้ตัวใหญ่มาก  เฉพาะเพดานปลากระโฌห้นั้นให้เอามาทาเลือตากแดดขายเป็นพิเศษ (สุนทรภู่ได้กล่าวถึงสถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ทรงเบ็ดปลากระโห้ของพระเจ้าแผ่นดินไว้ใน นิราศเมืองเพชรว่า  อยู่บริเวณเรียกว่าวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี)  และมีพระราชกำหนดห้ามเช่นเดียวกับปลาตะเพียนและตับปลาหมอเนื่องจากเป็นของที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเสวย
ปลาทูจะมีรสชาติดีต้องจับในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ เพราะมีรสชาติมัน  ปลาโคกตะวันตกชนิดทำเค็มถือว่าเป็นของฝากของกำนัลอย่างพิเศษจากเมืองนครศรีธรรมราช  เนื้อกบนั้นขึ้นโต๊ะมีระดับเพราะมีรสชาติเยี่ยมและเนื้อละเอียดยิ่งกว่าเนื้อไก่เสียอีก  เนื้อหมูเลี้ยงขายกันในพวกคนจีนหรือคนเวียดนามที่นับถือศาสนาครีสเตียน  แต่เดี๋ยวนี้มีเลี้ยงมากที่นครราชสีมาแล้ว (คงไม่แปลกใจทำไมเมืองโคราชในปัจจุบันจึงมีกุนเชียงและอาหารแปลรูปที่เกี่ยวเนื่องกับหมู)  อาหารสดที่แปลกประหลาดขาดหายไปจากตำรับกับข้าวของคนไทยสมัยนี้คือ กุ้งตะเข็บ  ในตำราว่าเป็นกุ้งน้ำเค็ม บ้างก็เรียกกุ้งมลายู  ที่จับได้ที่เมืองสงขลาเรียกว่ากุ้งไม้  ได้พยายามสอบถามคนรุ่นเก่า ๆเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมก็ไม่ได้ความแน่ชัด  และเป็นที่น่าสังเกตว่าในกระบวนตำรากับข้าวทั้งหลายที่บรรจุในตำราแม่ครัวหัวป่าก์นี้  มีเฉพาะกับข้าวภาคกลางและภาคใต้  ยกเว้นปลาร้าและลาบเท่านั้นที่เป็นของชาวอีสาน  ส่วนอาหารทางภาคเนือไม่ได้กล่าวถึงเลย
๓.ขนบธรรมเนียมการปรุงอาหารของไทยในสมัยก่อน  ท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ กล่าวว่า การปรุงอาหารของชาวไทยไม่นิยมการใช้ชั่ง ตวง วัด อย่างของชาวยุโรป  ได้แต่อาศัยความชำนาญหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง  สืบทอดกันตามตระกูล  ท่านเป็นบุคคลแรก ๆ  ที่หัดลองวิธีการนั้นในการประกอบอาหาร  โดยอาศัยการเทียบเคียงกับตำราของยุโรป  จึงได้รสชาติคงที่  แต่ก็อาจสร้างความรำคาญใจให้แก่บุคคลอื่น ๆ ที่เป็นแม่ครัวมือเก่าบ้างพอสมควร  อย่างไรก็ตามท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ ก็ยังยืนยันว่า “การอันนี้ก็เป็นที่เห็นได้อยู่ในผู้ที่แรกจะหัดทำ  ควรใช้ ชั่ง ตวงเป็นปริมาณอันดีก่อน”
การ ชั่ง ตวง วัดตามตำราแม่ครัวหัวป่าก์สร้างความสับสนให้แก่คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก  ไม่ทราบว่าจะเทียบเคียงอย่างไรกับมาตราส่วนที่กำหนดไว้เป็นบาท สลึง เฟื้อง ไพ  ซึ่งต่างจากอัตราในปัจจุบันที่ชั่งเป็นกิโลกรัม กรัม เอานซ์ ปอนด์  ส่วนช้อนคาว ช้อนกาแฟ  เราท่านคงทราบดีอยู่แล้ว  กรณีนี้หากผู้อ่านอยากจะเทียบน้ำหนักจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์เป็นมาตราส่วนปัจจุบัน  ก็ขอได้พลิกไปดูเล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑-๔๕  นำมาปรับใช้ในการปรุงอาหารได้อย่างง่ายดาย เช่น
๒ ช้อนกาแฟ                                       = ๒ สลึง
๔ ช้อนโต๊ะ (ช้อนคาวก็เรียก)             = ๘ บาท
๑ เอานซ์                                             = ๒ บาท
๑ ปอนด์                                              = ๓๐ บาทเศษ
๑ แกลลอน                                         = ๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึงเศษ
๔. ประวัติการจัดพิมพ์  หนังสือ  “แม่ครัวหัวป่าก์”  เดิมนับถือกันว่าเป็นตำรากับข้าวที่ได้รับการจัดพิมพ์ที่เก่าที่สุด  คือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)  ต่อมามีการพบว่าตำรากับข้าวฉบับโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย  ชื่อ ปะทานุกรมการทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑  มีอายุการพิมพ์เก่ากว่าหนังสือตำราอาหาร “แม่ครัวหัวป่ากฺ”  จึงเป็นอันยุติว่าหนังสือ “ปะทานุกรมทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม”  เป็นตำราอาหารฉบับพิมพ์ที่เก่าที่สุด  อย่างไรก็ตามหากจะคิดถึงการเขียนตำราอาหารแบบนี้ของท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  ซึ่งพิมพ์อยู่ใน  นิตยสารประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒)  แล้วก็อาจจะอนุโลมได้ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  เป็นคนไทยคนแรกที่เขียนและจัดพิมพ์ตำรากับข้าว
หนังสือแม่ครัวหัวป่าแบ่งเป็น ๕ เล่ม  แต่ละเล่มประกอบด้วย ๘ บริเฉท คือ ทั่วไป  หุงต้มข้าว  ต้มแกง กับข้าวของจาน  เครื่องจิ้มผักปลาแกล้ม  ของหวาน  ขนม  ผลไม้  และเครื่องว่าง  ในการพิมพ์แม่ครัวหัวป่าก์  ไก้กล่าวท้าวความไปถึง พ.ศ. ๒๔๓๒  เมื่อมีการออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “ปะติทินบัตรแลจดหมายเหตุ ร.ศ. ๑๐๘”  จำนวน ๖ ฉบับ (ซึ่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับได้นำมาพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒แล้ว)  ในนิตยสารนี้ได้มีการลงบทความการปรุงอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯด้วยและเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อ่านทั่วไป  จนกระทั่งต้องเพิ่มหน้าพิเศษให้แก่คอลัมน์นี้ในเดือนต่อ ๆ มา  แต่นิตยสารฉบับนี้มีอายุสั้น  จัดพิมพ์ได้เพียง ๖ เดือน ๖ ฉบับ  ก็ต้องยุติลง
ต่อมาเมื่อคราวท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  ทำบุญฉลองอายุครบ ๖๑ ปี  และฉลองวาระสมรสครบ ๔๐ ปี ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)  ท่านได้พิมพ์ตำราแม่ครัวหัวป่าก์แจกเป็นของชำร่วยจำนวน ๔๐๐ ฉบับ  เป็นที่เลื่องลือเสาะแสวงหากันทั่วไป  จนท่านต้องดำริให้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่อีกคราวหนึ่ง  โดยทยอยออกมาทีละเล่ม  และมอบหมายให้นายเปียร์ เดอ ลา ก๊อล เพชร์เป็นบรรณาธิการ  นายเพชร์ได้ทำหน้าที่อยู่เพียง ๒ ฉบับ คือเล่มที่ ๑ และเล่มที่ ๒ ก็มีอันต้องพ้นหน้าที่ไป  ในเล่มที่ ๓ จึงได้บรรณาธิการคนใหม่มาแทนเป็นการชั่วคราวชื่อ ปอล ม, กลึง ส่วนเล่มที่ ๔ นั้น ท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯเป็นบรรณาธิการเองพร้อมทั้งเขียนแจ้งความว่า “ด้วยเอดิเตอร์หลบหนีตามผู้หญิงไป…ส่วนลูกที่ดี  ฉันให้เป็นผู้เก็บรวบรวมทำตำราขึ้นไว้ก็มีเรือนไป”  ต่อมาในเล่มที่ ๕ จึงมอบให้นาย ทดบ้านราชทูตเป็นบรรณาธิการแทนพร้อมทั้งได้ตัดบริเฉทที่ ๘ คือ เครื่องว่างออก  เนื่องจากได้เพิ่มตำราอาหารในบริเฉทอื่น ๆ เข้าไปอีกถึง ๕ ยก
จากเล่มที่ ๕ ทำให้ทราบว่าคนทำหนังสือในสมัยปัจจุบันกับสมัยเมื่อ ๑๐๐กว่าปีมาแล้วประสบปัญหาที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย  คือมีคนซื้อน้อย  โดยมีผู้ลงชื่อรับไว้เพียง ๑๗๕ รายเท่านั้น  ยอดพิมพ์ขายไม่ได้มากเหมือนเรื่องจักร ๆ วงค์ ๆ  ซึ่งเป็นเรื่องบันเทิงใจทั้งที่เรื่องประเภทนั้นมีประโยชน์ค่อนข้างน้อย  ถึงตรงนี้จึงมีประเ็นที่น่าสนใจว่า  ทำไมตำราแม่ครัวหัวป่าก์ฉบับพิมพ์ครั้งแรกจึงหายากแสนยาก  ส่วนหนึ่งคงเพราะพิมพ์น้อยและแจกเป็นที่ระลึกอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ไปร่วมงานทำบุญและฉลองวาระสมรส  หากจะคาดเดาจากประสบการณ์ในการสะสมหนังสือเก่า  พอประเมินได้ว่าคงจะพิมพ์อยู่ในราว ๕๐๐ ฉบับเท่านั้น
พ.ศ. ๒๔๗๐โรงพิมพ์ห้างสมุดที่สำเพ็งได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ ๒ จำนวน ๕ เล่มชุดเช่นกันในคราวนี้เข้าใจว่าจะมีการพิมพ์เป็นจำนวนมากเพราะมีผู้ขอนำไปแจกเป็นที่ระลึกในงานศพต่าง ๆ  หลายราย เช่น พระสัทธาพงศ์ พิรัชพากย์ (ต่วย สัทธาพงศ์)  พิมพ์แจกในงานปลงศพคุณหญ๗ิงประดิษฐอมรพิมาน (สุ่น อิศรศัดิ์ ณ อยุธยา) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ตระกูลเปล่งวานิชพิมพ์แจกในงานฌาปณกิจศพนายอั๋น เปล่งวานิช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖

พ.ศ. ๒๔๙๕  สำนักพิมพ์ผดุงศึกษาที่เวิ้งนาครเกษมได้รับอนุญาตให้พิมพ์จำหน่ายอีก  นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๓ คราวนี้จัดพิมพ์เล่มเดียวจบและได้ตัดการ ชั่ง ตวง วัด  ตามแบบโบราณออก  มีคุณหญิงราชพลขันธื (พวง บุนนาค)เป็นผู้เขียนคำนำ  อีกทั้งยังจัดรูปแบบของเนื้อเรื่องใหม่  โดยแยกประเภทของกับข้าวเป็นหุงต้มข้าว  แกงกับข้าว  เครื่องจิ้ม  ของหวาน  เครื่องว่าง  และผลไม้เป็นที่น่าสังเกตว่าการแปลงมาตราชั่ง  ตวง  วัด  อย่างเก่ามาเป็นอย่างใหม่นั้นทำได้ไม่ครบชุดของรายการอาหาร
พ.ศ. ๒๕๐๑  สำนักพิมพ์คลังวิทยา  ถนนเฟื่องนครได้รับอนุญาตให้พิมพ์จำหน่ายหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์อีก  นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๔ (จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม) โดยมีนางสมรรคนันทพล (จีบ บุญนาค) “หลานแม่ครัวหัวป่าก์”  ผู้ได้รับมอบฉันทะจากคุณหญิงดำรงราชพลขันธ์ (พวง บุนนาค)  เป็นผู้อนุญาตให้พิมพ์และเขียนคำนำ  การพิมพ์ครั้งนี้โดยได้ตัดการชั่ง  ตวง  วัด  แบบโบราณออก  แล้วเพิ่มเติมการชั่ง  ตวง  วัดแบบสมัยใหม่เข้าไปแทนคือใช้  ถ้วย  ช้อนโต๊ะ  ช้อนชา  ช้อนหวานอีกทั้งยังจัดรูปแบบของเนื้อหาตามฉบับการพิมพ์ครั้งที่ ๑ และ ๒ คือ พิมพ์ตามลำดับเล่ม ๑ จนถึงเล่ม ๕  แต่ละเล่มแยกเป็นเรื่องทั่วไป  หุงต้มข้าว  ต้มแกง  กับข้าวของจาน  เครื่องจิ้มผักปลาแกล้ม  ของหวานขนม  ผลไม้และเครื่องว่าง  ทั้งยังพิมพ์เป็นรเล่มเดียวจบ หนาถึง ๖๓๕ หน้า

พ.ศ. ๒๕๑๔  ตำรา “แม่ครังหัวป่าก์”  ก็ได้รับการพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมพิศว์ในรัชการที่ ๕ ผู้เป็นบุตรีของท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน  นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๕  ขนาดเล่มกว้างยาวเท่าเดิมเล็กน้อยและมีการจัดรูปแบบสารบาญใหม่  กล่าวคือจัดอาหารเป็นชุด ๆ 
 แต่ละชุดสามารถปรุงเป็นอาหารได้ ๑ มื้อ  โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด  คือกับข้าว ๕ อย่าง  ของหวาน ๒ อย่าง  อาหารว่าง ๒ อย่าง  รวมเป็น ๙ อย่าง ต่อ ๑ ชุด  จึงแบ่งได้เป็น ๓๗ ชุด  และยังเพิ่มเติมการชั่ง  ตวง  วัดแบบสมัยใหม่ คือ ช้อนโต๊ะ  ช้อนชา  เมล็ด  ผล  น้ำหนักกิโลกรัม  ตลอดทุกรายการอาหาร
การจัดพิมพ์ครั้งนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างจากการพิมพ์ครั้งอื่น  คือ มีอาหารหลายรายการที่ไม่ปรากฏอยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ เช่น  ขนมสำปะนี  ยำกระทืออ่อน  ยำไก่วรพงษ์  อีกทั้งมีข้อเขียนปิดท้ายเล่มแต่งเป็นโคลงกลอนสำหรับเป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้เป็นแม่บ้านแม่เรือนอีกด้วย  ตำหรับที่เพิ่มเติมนี้เป็นของ “หลานแม่ครัวหัวป่าก์  คือนางสมรรคนันทพล (จีบ บุนนาค)  วึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการพิมพ์ครั้งนี้
พ.ศ. ๑๕๔๕  สมาคมกิจวัฒนธรรม  โดยการสนับสนุนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได่นำต้นฉบับหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๕๒ ทั้ง ๕ เล่ม  ของพลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี  และคุณนฤนาถ รัตนโชติวงศ์กุล  มาสแกนและจัดพิมพ์ตามรูปแบบเดิมทุกประการ  เป็นจำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม บรรจุในกล่องสวยงาม  และได้รับการต้อนรับจากผู้ชำนาญการด้านอาหารอย่างล้นหลาม  จนหมดไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว  นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๖
                                                     แม่ครัวหัวป่าก์ พิมพ์ครั้งที่ ๕
พ.ศ. ๒๕๕๔  สำนักพิมพ์ต้นฉบับได้รับอนุญาตจากนางสาวจรรมพันธ์ บุนนาค  ทายาทผู้ครอบครองลิขสิทธิ์ของคุณหญิงดำรงราชพลขันธ์ (พวง บุนนาค)นำมาพิมพ์เพื่อจำหน่ายในรูปแบบเดิมทุกประการ นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๗
พ.ศ. ๒๕๕๖  จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงนางมาลินี ชมเชิงแพทย์ ต.ช.  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖  โดยการพิมพ์ต้นฉบับขึ้นใหม่  และปรับแก้ภาษาให้เป็นปัจจุบัน  มีขนาดเท่ากับหนังสือ ๘ หน้ายก (กระดาษเอสี่) นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๘
สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๙ ในพ.ศ. ๒๕๕๗ นี้  สำนักพิมพ์ได้ปรับปรุงรูปแบบใหม่ทั้งหมด  ได้แก่การพิมพ์ต้นฉบับหนังสือขึ้นมาใหม่  ปรับแก้ภาษาให้เป็นปัจจุบัน  และกำหนดขนาดของหนังสือเป็น ๑๖ หน้ายก (พ็อคเก็ตบุ๊ค)  เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาย่อมเยา  และนับเป็นผลงานลำดับที่ ๓๖ ที่สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ท้ายที่สุดขอกล่าวถึงประวัติของท่านผู้เขียนเพื่อความสมบูรณ์ของหนังสือท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์  เป็นบุตรีคนโตของ นายสุดจินดา (พลอย ชูโต)กับคุณนิ่ม สวัสดิ์ – ชูโต นับเป็นราชินิกุลบางช้าง  เกิดเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๐  มีน้องชาย ๖ คน  น้องสาว ๑ คน  สมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)  มีบุตรธิดา ๖ คน คือ  เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง), ผล, เจ้าจอมพิศว์ในรัชการที่ ๕, นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์), หม่อมพัฒน์ในพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)  และคุณหญิงพวง  ภรรยาของพระยาดำรงศ์ราชพลขันธ์ (คอน บุนนาค)
นายชูพาสน์ ชูโต  หลานชายของท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  ได้ให้รายละเอียดบางประการกับคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล  ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยนฯ  มีความชำนาญในการประกอบอาหารคาวหวาน  เย็บปักถักร้อย  ประดิษฐ์และตกแต่ง  เป็นผู้ริเริ่มทำลูกชุบให้ดูเหมือนของจริงถึงขนาดประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้  ซึ่งรับประทานได้ทั้งหมด  และลายปักรูปเสือลายพาดกลอนเคยได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชการที่ ๕ กับส่งไปประกวดในระดับโลกได้รับรางวัลที่ ๑  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับเงินรางวัลหลายพันดอลล่าร์  เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาอุนาโลมแดง  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในคราวเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  ซึ่งปัจจุบันคือสภากาชาดไทย  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล  ที่โรงศิริราชพยาบาลเป็นต้น  ท่านสิริอายุได้ ๖๕ ปี  โดยมีข้อความประกาศไว้ในหนังสือราชิจจานุเบกษาเล่มที่ ๒๘  ฉบับวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๑๓๐ หน้า ๒๐๕๐ ว่า “ป่วยเป็นแผลบาดพิษถึงแก่อนิจกรรม”

                                                       แม่ครัวหัวป่าก์ พิมพ์ครั้งที่ 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น