.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ตุ่มสามโคก ตอน 2



ตุ่มสามโคก ตอน 2
ตุ่มสามโคก นั้นรู้จักกันทั่วไปมีใช้กันทุกครัวเรือน ใช้เป็นตุ่มน้ำดื่มน้ำใช้ ล้างชาม ล้างเท้า ใส่ข้าวสาร มีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความต้องการ ขนาดใหญ่ปากกว้าง ๓๓-๓๖ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๒๙-๓๑ ซ.ม. สูง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ขนาดเล็กปากกว้าง ๒๖-๒๙ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางคืน ๓๔-๓๗ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๑๘-๒๑ ซ.ม. สูง ๒๖-๓๐ ซ.ม.
ตุ่มสามโคกนี้ชาวรามัญเรียกว่า " อีเลิ้ง " มีลักษณะเนื้อดินสีแดงเหมือนอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะตุ่มค่อนข้างหนารูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ กลางป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน
ดังมีสำนวนเปรียบเทียบคนที่มีร่างกายอ้วนท้วมสมบูรณ์ว่า อ้วนเหมือนตุ่มสามโคก ลักษณะพิเศษของตุ่มสามโคกคือเมื่อใส่น้ำไว้ดื่ม จะเก็บรักษาความเย็นของน้ำได้ดี เนื่องจากเนื้อดินเผาไม่เคลือบน้ำยา น้ำจึงซึมซับจับเนื้อดินไว้ดีเก็บความเย็นไว้ได้ดีเหมือนมีตู้เย็นไว้ใช้ในบ้าน
ชาวรามัญได้ทำการผลิตซื้อขายกันมาตั้งแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ดังความปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิจ พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๓ ที่สละราชสมบัติออกบวชแล้วถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้พรรณนาสภาพบ้านเมืองตลาดร้านค้าในกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า ....
" ถนนย่านสามม้าตั้งแต่ ตภานในไก่กระขัน ออกไปจนถึงหัวมุมพระนครมีชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจันอบขนมแห้งจีนต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ด้านต่างๆขายต่อไป ช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้แลปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขายขาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างอีเลิ้ง และทำสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย "
..... จากข้อความในพงศาวดารที่กล่าวอ้างมานี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในสมัยอยุธยานั้นใช้ตุ่ม " อีเลิ้ง " ใส่น้ำดื่มน้ำใช้กันทั่วไป มีช่างชาวจีนได้ผลิตถังไม้ใส่น้ำขายแข่งกับอีเลิ้งของชาวรามัญ แต่ไมได้รับความนิยมซึ่งจะเห็นได้จากการใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ชาวมอญเมืองสามโคกได้นำอ่าง กระทะ เตา อีเลิ้ง ตุ่มสามโคก ล่องเรือไปขายยังเมืองบางกอก ตามคูคลองต่างๆ ส่งผลให้กลายเป็นหมู่บ้าน ตลาดและคูคลองตามสินค้าที่นำไปขาย เช่น คลองโอ่งอ่าง ตลาดนางเลิ้ง ตั้งแต่สืบนั้นมา
เวลาร่วมเลยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) " สุนทรภู่ " จินตกวีเอกของไทย ท่านได้บวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดพระเชตุพนและได้ลงเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาไปอยุธยา มุ่งหมายจะไปวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ หวังจะไปแก้อาถรรพ์เพื่อจะได้ยาอายุวัฒนะมากินให้มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัย ล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยาทั้งแจวทั้งพายมืดไหนนอนนั่น โดยมีลูกชายหนูพัดกับหนูตาบติดตามไปด้วย ผ่านมายังเมืองสามโคก ท่านพรรณนาไว้ว่า
.... " เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา
ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง
ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด
แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตาถี่เหมือนสีรุ้ง
ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ
เหมือนฟ้าแลบแลพาดแทบขาดศีล
นี่หากเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน
เจียนจะเป็นปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง
ชาวบ้านปั้นอี่เลิ้งใส่เพิงพะ
กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง
เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง
ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ
เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดจ้า
จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน
ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร
คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมือง " ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น