.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ตุ่มสามโคก ตอน 1



ตุ่มสามโคก ตอน 1
"ตุ่มสามโคก " ตุ่มดินเผาเนื้อดินสีแดงจากฝีมือชาวรามัญ เมืองสามโคกที่อพยพมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ดังความปรากฏใน " พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส " ความว่า...
" ลุศักราช ๑๐๒๑ ครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยาสมบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุขด้วยบารมีสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ขณะนั้นฝ่ายข้างเมืองอังวะเกิดศึกเพราะจีนฮ่อ ชื่อ อูติงผา พากันอพยพประมาณพันหนึ่งหนีมาพึ่งอยู่ที่เมืองอังวะ ชาวเมืองฮ่อยกทัพตามยังเมืองอังวะ จะให้ส่งตัวฮ่อพันหนึ่งให้พระเจ้าอังวะไม่ส่ง กองทัพฮ่อจึงตั้งล้อมเมืองอังวะไว้
ฝ่ายนางนันทมิตรผู้เป็นอาพระเจ้าอังวะครองเมืองเมาะตะมะแจ้งเหตุ ดังนั้นจึงเกณฑ์มอญสามสิบสองได้สามพันเศษยกไปตามทาง มอญไม่เต็มใจชวนกันหนีกลับมาเป็นอันมาก
นางนันทมิตรจับเอามอญที่หนีนั้นใส่ตะรางไว้เพื่อจะคลอกไฟเสีย ฝ่ายสมิงเปอแจ้งดังนั้นก็คิดกันกับพวกเพื่อนสมิงสิบเอ็ดคนคุมไพร่มอญห้าพันยกเข้าเผาเมืองเมะตะมะไหม้ แล้วจับตัวนางนันทมิตรมัดจำไว้ แล้วคิดกันว่าเราจะทำการครั้งนี้ ถ้ารู้ถึงพระเจ้าอังวะก็จะพากันตายเสียสิ้นเราหาที่พึ่งไม่ได้ ครั้งนี้จำจะต้องไปพึ่งกรุงพระนครศรีอยุธยาจึงจะพ้นภัย
คิดพร้อมกันแล้วคุมกันอพยพครอบครัวประมาณหกพันเศษ พร้อมทั้งตัวนางนันทมิตรรีบหนีเข้ามาบอกให้เสนาบดีนำกราบทูลพระกรุณาทุกประการ จึงทรงพระกรุณาสั่งให้สมิงรามัญเก่าทั้งนายและไพร่ออกไปรับเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แล้วจัดแจงให้ไปอยู่ที่สามโคก โปรดให้สมิงตัวนายสิบเอ็ดคนเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม โปรดพระราชทานเงินตราผ้าเสื้อเป็นอันมาก "
... ชาวมอญที่อพยพเข้ามาได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ เป็นพวกริมฝั่งตะวันตกของลำน้ำเจ้าพระยาที่สามโคก ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โปรดให้แต่งตั้งผู้นำชาวมอญปกครองดูแลกันมียศศักดิ์ลดหลั่นกันเช่นพระยาเกียรติ พระยาราม โดยขึ้นอยู่กับพระยาบำเรอภักดี พระยารามัญวงศ์จักรีมอญผู้ควบคุมกองมอญทั้งหมด ชาวมอญมีฐานะเป็นไพร่หลวงเช่นเดียวกับชาวไทยมีหน้าที่เข้าเวรรับราชการตามกำหนดปีละหกเดือน
ชาวมอญเมืองสามโคกได้ก่อตั้งและบูรณะวัดต่างๆ ในชุมชนได้แก่ วัดสิงห์ วัดสามโคก วัดสระแก วัดแจ้ง วัดป่าฝ้าย และวัดไก่เตี้ย ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อพระพุทธศาสนา ในด้านอาชีพส่วนหนึ่งได้ทำการเกษตร ทำนาทำไร่ และค้าขาย
ในอีกส่วนหนึ่งเป็นช่างปั้นมาก่อนตั้งแต่อยู่เมืองเมาะตะมะ ได้ก่อตั้งเตาเผาตุ่มขึ้นตามริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสิงห์ วัดไก่เตี้ย วัดป่าฝ้าย ได้ปั้นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อ ไห กระปุก อ่าง โอ่ง กระโถน กระถาง กระทะ เตา ตุ่ม นำบรรทุกไปขายยังหัวเมือง
ตำนานตุ่มสามโคก
ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลสามโคก ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ......
" นานมาแล้วมีมอญสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ แมะกะลอย คนน้องชื่อ แมะกะเล็ด ทั้งสองคนเคยมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาสืบมาแต่รามัญประเทศ ได้อพยพหลบภัยมาอยู่ยังแผ่นดินสยามประเทศ อยู่ที่บ้านสามโคก
ทั้งสองคนได้ช่วยกัน ขุดดินเป็นเนินถมเป็นโคกให้สูงขึ้นพ้นฤดูน้ำหลากสองโคก และได้ก่อเตาเผา หม้อ ไห เตา ตุ่มโคกหนึ่งเป็นของผู้พี่แมะกะลอย โคกสองเป็นของน้องชื่อแมะกะเล็ด กิจการของทั้งสองพี่น้องเจริญรุ่งเรืองมีเรือมารับซื้อรับขายกันมากมาย เพื่อนำไปขายยังหัวเมืองต่างๆ ครอบครัวและหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
ต่อมาแมะกะเล็ดได้ทำตัวเสเพล ไม่ขยันประกอบกิจการ คบคนพาลเป็นมิตร ไม่สนใจประดิษฐ์คิดปั้น และควบคุมการผลิต จนเป็นผลให้ลูกค้าต่างหลีกหนี ไม่นิยมซื้อเครื่องปั้นดินเผา จึงเกิดจิตใจริษยากิจการของพี่ชายที่นับวันแต่จะเจริญยิ่งขึ้น
คืนหนึ่งแมะกะเล็ดได้รวบรวมสมัครพรรคพวกอันธพาลของตนกลุ่มหนึ่งแล้วลอบเข้าไปเผาทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายแมะกะลอยพินาศวอดวายสิ้น ผู้เป็นพี่นั้นสุดจะแค้น และเสียใจที่น้องมาทำกับตนดังโจรเข้าปล้นทำลายล้าง ต่างก็ตัดใจได้มิได้คิดอาฆาตร้ายหรือตอบโต้แต่อย่างไร
กลับคิดมีมานะรวบรวมกันขุดแต่งโคกขึ้นใหม่ให้อยู่ใกล้บ้านตน เพื่อสะดวกในการดูแลและก่อตั้งเตาเผาขึ้นใหม่ เอาใจใส่ประดิษฐ์คิดปั้น มิช้ามินานกิจการก็เจริญรุ่งเรืองกว่าเดิม แมะกะเล็ดผู้น้องผู้มีจิตริษยาและหลงผิดคิดว่าทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายเสียแล้วกิจการของตนคงเจริญ
กลับตรงกันข้ามฐานะกลับตกต่ำลง ลูกค้าต่างหลีกหนี ได้รับความยากลำบาก ขาดมิตรคบค้าสมาคมด้วยก็สำนึกผิด คิดขึ้นมาก็ละอายแก่ใจ ในวาระสุดท้ายก็ต้องย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น