.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ชุดพระราชทานชาย

ชุดพระราชทานชาย
สตรีไทยมี ชุดไทยพระราชนิยม กันมาตั้งแต่ต้นสมัย และนิยมสวมใส่ในพิธีการ ต่างๆกัน จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นิยมใช้กันในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสมกับโอกาสสถานที่ ส่วนชุดของผุ้ชายนั้น ก็ยังคงแต่งชุดสากล อย่างฝรั่ง เรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินนีนาถ ทรงคิดหาทาง ให้ช่างผู้ชำนาญของกรมศิลปากร ออกแบบเครื่องแต่งกาย ชาวไทยขึ้น โดยนำแบบตามประวัติศาสตร์ มาประยุกต์ให้ทันสมัย เหมาะกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ความสะดวก สบายตามเทศะ โอกาสและสภานที่ แบบที่ออกมานี้จึงมีลักษณะคล้าย เสื้อราชปะแตนในรัชกาลที่ 6 ผิดกันตรงที่ การใช้วัสดุ และส่วนปลีกย่อย คือ แทนที่จะใช้ผ้าเนื้อหนา สีขาว แบบฝรั่ง ก็หันมาให้ผ้าทอพื้นเมืองแทน จึงมีสีสัน งดงาม คอเสื้อตั้ง แขนสั้นหรือยาว มีกระเป๋าล่าง 2 ใบเจาะ หรือ กุ๊น ปากกระเป๋า ตามแบบเสื้อชาย กระดุม 5 เม็ด อาจจะใช้ผ้าตกแต่ง ให้ดูเด่นขึ้นก็ได้ สวมแล้วเคียนเอวด้วย ผ้าคะม้า ใช้ในงานลำลองก็คงเป็นฝ้าย และแขนสั้น ส่วนโอกาส พิเศษใช้แขนยาว วัสดุที่ใช้ก็คงจะต้องเป็นผ้าไหม
ส่วนการแต่งกายของชายนั้น ได้กำหนดแบบเสื้อคอตั้ง มีทั้งแขนสั้น แขนยาว และแบบแขนยาวมีผ้าคาดเอว เรียกว่า "เสื้อชุดไทย" หรือ "เสื้อชุดไทยพระราชทาน" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้แบบเสื้อชุดไทยพระราชทาน ใช้แทนชุดสากลได้ (ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๓)
เสื้อชุดไทยตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวง ศึกษาธิการ กำหนดแบบไว้ มีดังต่อไปนี้


๑. แบบแขนสั้น
เป็นเสื้อคอตั้งสูง ประมาณ ๓.๕-๔ เซนติเมตร ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย และผ่าอกตลอด มีสาบกว้างประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีขลิบรอบๆ คอและสาบอก ปลายแขนมีขลิบหรือพับแล้วขลิบที่รอยเย็บ ติดกระดุม ๕ เม็ด กระดุมมีลักษณะเป็นรูปกลมแบน ทำด้วยวัสดุหุ้มด้วยผ้าสีเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกับเสื้อ กระเป๋าบนมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เป็นกระเป๋าเจาะข้างซ้าย ๑ กระเป๋า กระเป๋าล่างเป็นกระเป๋า เจาะข้างละ ๑ กระเป๋า อยู่สูงกว่าระดับกระดุมเม็ดสุดท้ายเล็กน้อย ขอบกระเป๋ามีขลิบ ชายเสื้อ อาจผ่ากันตึง เส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เดินจักรพับตะเข็บ


๒. แบบแขนยาว
เป็นเสื้อคอตั้งสูงตัด แบบเดียวกับแบบแขนสั้น จะต่างกันเฉพาะแขนเสื้อตัดแบบเสื้อสากล ปลายแขนเย็บทาบด้วยผ้า ชนิดและสีเดียวกันกับตัวเสื้อ กว้างประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร โดยเริ่มจากตะเข็บด้านใน อ้อมด้านหน้า ไปสิ้นสุดเป็นปลายมนทับตะเข็บด้านหลัง นอกนั้นเหมือนแบบเสื้อแขนสั้นทุกอย่าง


๓. แบบแขนยาวคาดเอว
ตัวเสื้อ เหมือนแบบที่ ๒ แต่มีผ้าคาดเอว ขนาดความกว้าง ความยาวตามความเหมาะสม สีกลมกลืนหรือตัดกับเสื้อ ผูกเงื่อนแน่นทางซ้ายมือของผู้สวมใส่
ชนิดของผ้า
เสื้อชุดไทยนี้ควรเลือกใช้ผ้าตามความเหมาะสม และควรเป็นผ้าที่ทำในประเทศไทย สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ตามความเหมาะสมกับโอกาสในการสวมใส่
เสื้อชุดไทยนี้ให้ใช้ควบคู่กับกางเกงสีสุภาพ หรือสีเดียวกันกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากล นิยมได้ทุกโอกาส แต่มิใช่เป็นการทดแทนชุดสากลโดยสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. ชุดไทยแขนสั้น
ใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพในโอกาสธรรมดาทั่วไป หรือในการปฏิบัติงาน หรือในโอกาสพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มได้ในโอกาสพิธีการเวลากลางคืน
๒. ชุดไทยแขนยาว
ใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพในโอกาสพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในโอกาสพิธีการเวลากลางคืนได้
๓. ชุดไทยแขนยาวคาดเอว
ใช้ใน โอกาสพิธีการที่สำคัญมากๆ
๔. โอกาสงานศพ
ให้ใช้เสื้อแขนสั้น หรือแขนยาวสีขาว กางเกงสีดำ หรือสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุดไม่ติดแขนทุกข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น