.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ชุดราชปะแตน



ชุดราชปะแตน
ชุดราชปะแตน (Raja Pattern) ชุดประจำชาติไทย ที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่5 ทรงดำริขึ้น
เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกาย ตลอดจนทรงผมของชาวสยาม เริ่มปรากฎขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเสด็จประพาสชวาและสิงคโปร์ เมื่อพ.ศ. 2413 เพื่อทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง โปรดเกล้าฯ ปรับปรุงเครื่องแต่งกายของข้าราชสำนักที่ตามเสด็จฯ โดยโปรดฯ ให้นุ่งผ้าดังเดิม ทว่าสวมถุงน่องรองเท้าอย่างฝรั่ง และให้สวมเสื้อชั้นนอกคอแบะ ผูกผ้าผูกคอแบบฝรั่ง
ต่อมาเมื่อเสด็จฯ ประพาสอินเดีย และพม่า จึงได้โปรดฯ ให้ช่างในเมืองกัลกัตตา ตัดฉลองพระองค์ ตามพระราชดำริ คือเป็นเสื้อคอปิด มีกระดุมตลอดอกตั้งแต่คอ เพื่อที่จะไม่ต้องสวมเสื้อข้างในเมื่อสวมในเมืองไทย เมื่อพ.ศ. 2415 ชุดราชปะแตน ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในสยามประเทศ ทรงเล็งเห็นว่าเสื้อนอกของฝรั่งใส่แล้วร้อน เพราะต้องมีเสื้อใน และผ้าผูกคอ จึงทรงคิดแบบเป็นฉลองพระองค์ คอปิด กระดุม 5 เม็ด ไม่ต้องสวมเสื้อด้านใน เรียกว่า ราชปะแตน (Raja + Pattern)
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ขณะนั้นยังเป็นนายราชานัตยานุหาร เรียกสั้น ๆ ว่านายราชานัต ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นผู้ติดตามเสด็จฯ ในฐานะราชเลขานุการ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต คิดชื่อถวายว่า 'ราชแพทเทิร์น'โดยนำภาษามคธ บวกกับภาษาอังกฤษ (Pattern) แปลว่า เสื้อแบบหลวง แต่สำเนียงไทย นานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น 'ราชปะแตน' ไป
เสื้อราชปะแตนนี้ ต่อมาเป็นเสมือนเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนไป โดยส่วนมากสวมกับผ้านุ่งโจงสีกรมท่า ผ้านุ่งโจงนั้นเรียกกันสั้นๆว่า 'ผ้าม่วง' หากมิใช่นุ่งไปทำงาน ก็นุ่ง 'ผ้าม่วง' สีต่าง ๆ กับเสื้อราชปะแตน ซึ่งบางทีตัดด้วยแพรบ้าง ผ้าลายบ้าง ต่อมาไม่สวมแต่เฉพาะกับผ้าม่วง หากแต่สวมกับกางเกงแพรด้วย
เสื้อราชปะแตนเป็นที่นิยมอยู่นาน จนยุคต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีประกาศกฎหมายวัฒนธรรม ห้ามนุ่งผ้าม่วง และ
กางเกงแพร ตั้งแต่นั้น เสื้อราชปะแตนก็เลยพลอยหมดไปด้วย
เสื้อราชปะแตนนั้นน่าจะทรงได้แบบรูปมาจากเสื้อทูนิคของฝรั่ง เสื้อทูนิคนั้นเป็นเสื้อคอตั้ง ดุม ๗ เม็ด มีรอยต่อระหว่างตัวเสื้อส่วนบนกับส่วนล่างโดยรอบตัว ที่สำคัญเสื้อทูนิคไม่มีกระเป๋าบน แต่บางทีก็มีกระเป๋าที่ด้านล่างทำเป็นทรงโค้ง เสื้อทูนิคบางแบบมีเดินเส้นตามตะเข็บเสื้อด้วย เมื่อทรงดัดแปลงมาเป็นเสื้อราชปะแตนหรือในเอกสารเก่าเรียกว่า เสื้อแบบราชการนั้น คงเป็นเสื้อคอตั้งเหมือนเสื้อทูนิค แต่เปลี่ยนเป็นดุม ๕ เม็ดตามขนาดร่างกายของคนไทนที่ไม่สูงใหญ่เหมือนฝรั่ง เพิ่มกระเป๋าใบปกชายแฉลบที่อกเสื้อทั้งสองข้าง กับมีกระเป๋าเจาะที่ตอนล่างของจัวเสื้อ กับไม่มีรอยต่อที่เอวเสื้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น