ที่มาที่ไปของโทนสีของไทย
คนไทยชอบใช้คำอุปมาเวลาพูดถึงสีต่างๆ คนโบราณนี่มีความคิดสร้างสรรค์ คือ เมื่อพยายามจะอธิบายว่า ผ้าของคนนั้นสีอะไร รถสีอะไร กระโปรงของแม่สาวหน้าแฉล้มสีอะไร ผ้าม่านบ้านฝั่งตรงกันข้ามสีอะไร เพื่อให้คนฟังนึกออก ก็จะหยิบเอาสิ่งใกล้ตัวมาเปรียบเทียบ อันนี้เป็นภูมิปัญญามั้ย? ภาษาอื่นมีคำเปรียบเทียบสีที่ใกล้ชิดกว่านี้มั้ย? ใครเป็นคนเริ่มเปรียบเทียบ ช่างอธิบายให้เห็นภาพ คนไทยอธิบายเก่งนะ ยังขาดก็แต่ยังอธิบายความหวานของน้ำตาลไม่ได้ กระนั้นก็ตามบรมครูกวีพรรณนาความรักได้อย่างดูดดื่มปานน้ำผึ้ง สำหรับสีนั้น คนไทยมีคำอธิบายให้คนอื่นที่ยังไม่เห็นสิ่งของที่ถูกพูดถึง คือ ยกเอาสีของอะไรใกล้ๆตัวที่เห็นกันบ่อยๆ และสีคงตัว-ไม่เปลี่ยนแปลง มาเปรียบเทียบ (เป็นที่รู้กันว่า จิ้งจกนั้นเราเห็นกันบ่อย แต่ถ้าบอกว่าสีแบบหนังจิ้งจกคงไม่ได้ เพราะจิ้งจกมันเปลี่ยนสีบ่อย)
โดยมากแล้ว การเปรียบเทียบสีจะอิงกับธรรมชาติรอบๆตัว อย่างที่ว่าแหละว่าสีอะไรบ้างที่เมื่อพูดถึงแล้วนึกออกเลย? เห็นภาพเลย หรือเข้าใจตรงกันเลย แดงเลือดนก แดงคล้ำช้ำๆนั้นแหละ แดงเพลิง อันนี้ไม่ต้องอธิบาย มันไม่แดงเท่าไรออกไปทางอมส้ม ส่วนสีเลือดหมูนั้นแดงออกไปทางน้ำตาล สีปูนแห้ง บ้านใครที่มีคนเฒ่าคนแก่กินหมากคงนึกออกว่าเป็นสีอย่างไร เป็นสีเฉพาะตัวครับ คนไทยโบราณนี่กินหมากกันแพร่หลาย (มาถูกบังคับให้เลิกกินสมัยจอมพล ป. หลังยุคจอมพล ป. ก็กินกันต่อ) ดังนั้นนอกจากสีปูนแห้งก็มี สีหมากสุก ลูกหมากนะครับ เวลาสุกสีออกส้ม-สีสดครับ สีอิฐ อิฐแดงที่เผาแดงออกชมพู แต่ก็ให้สีคนละโทนกับสีปูนแห้ง สีน้ำตาลไหม้ สมัยนี้หลายๆครัวไม่เคี่ยวน้ำตาลทำตังเม น้อยคนจะได้มีโอกาสเห็นว่าน้ำตาลไหม้มันสีอย่างไร เช่น ม้าสีน้ำตาลไหม้ มันสีอย่างไร? ก็ออกน้ำตาลดำนั่นแหละ ซึ่งตรงกันข้ามกับสีจำปา ซึ่งหมายถึงเหลืองนวล (อ่อนไปทางขาว) ในโทนของสีดอกจำปา ที่ให้ความรู้สึกนวลตา เย็นตา สีเปลือกมังคุด ม่วงอย่างเปลือกมังคุด (สุกแล้ว) ซึ่งแตกต่างจากสีเม็ดมะปราง สีสดกระเดียดไปทางม่วง-ชมพู บ้านผมเรียกยายเรียกสีเม็ดมะปริง และสีเม็ดมะปรางก็ไม่เหมือนสีดอกอัญชัน (ม่วงแบบม่วงเข้ม) และสีดอกอัญชัญก็คนละอย่างกับสีดอกตะแบก คนละม่วงกัน และสีโอรส (ส้ม-ชมพู) ก็ว่าเสน่ห์ แต่น้อยกว่าสีบานเย็น
ส่วนทางด้านโทนเขียว ก็มีคำเปรียบเทียบไม่น้อยกว่ากัน เขียวไข่กา ใครสักกี่คนเคยเห็นกันบ้างนี่? เขียวขี้ม้า สมัยก่อน ม้าคงมีกันเกลื่อนเมือง ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า นี่แหละชุดเขียวของเสื้อผ้าทหาร) สีเขียวสดอีกสีที่รู้จักกันดีคือ เขียวหัวเป็ด เขียวหัวเป็ดนี่เขียวแก่นะ ส่วนทางด้านโทนอ่อนก็มี สีสมอ ลูกสมอนั่นแหละครับ สมัยนี้น้อยคนจะรู้จักลูกสมอ สีเขียวเหลือง ลูกเล็กๆ เอามาจิ้มเกลือ เป็นผลไม้ทางภาคอีสาน รสชาติฝาดๆ เปรี้ยว เขียวตองอ่อน หมายถึงเขียวแบบอ่อนอย่างใบตองอ่อนนั้นแหละ สีนี้เขาชอบเอามาทำผ้าสไบ สาวใดจะใส่ไปตักบาตร ก็ต้องหาผ้านุ่งสีเขียวแก่ๆแซมลายทอ อย่างทอหางกระรอกเข้าไว้ เขียวตองอ่อนขับผิวขาวของสาวให้ขาวขึ้น แต่ถ้าสาวผิวคล้ำ ถ้ายังอยากดูดีต้องเปลี่ยนไปใช้สีอื่น เสื้อสีเม็ดมะปราง ผ้านุ่งสีเปลือกมังคุด สายตาคนเราไม่มองว่าสีสวย แต่มองความเข้ากันและกลมกลืนและกลมกลึง โค้ง เว้า.. เรทอีก...
ไปดูด้านโทนเหลือง เทากันบ้างดีกว่า เท่าที่พอจะนึกออกอีกก็คือ จีวรของพระนั้น สีเหลืองเข้มๆ เรียกว่า สีกลัก ส่วนสีไข่ไก่นั้นไม่เหลือง ไม่ชมพู แต่...เดินดูในตลาดเองเถอะครับ 10 ฟองยี่สิบสองบาท (ไข่เป็ด-ไก่ยังคงเป็นดัชนีวัดความสามารถในการควบคุมค่าครองชีพ Cost of living -- ฆ่าครองชีพ ของรัฐมาหลายสมัย และบอกถึงดัชนีทางเศรษฐกิจได้หลายค่า อันหมายความว่าถ้านโยบายทางการเงินของรัฐไม่ดี มีผลกระทบถึงไข่แน่ๆ ) บางคนเปรียบน้ำในคลองหน้าฝนที่ท่วมเอ่อล้นว่าสีเปลือกมะพร้าวแห้ง..น้ำตาลอ่อน นอกจากนี้คำเปรียบเทียบที่เกินจริงที่เคยได้ยิน คือ เปรียบเทียบสีผิวของเด็กว่าขาวหยั่งสำลี ก็เห็นภาพน่ะว่าสำลีขาวอย่างไร สีผิวไม่หมายถึงขาวขนาดนั้น แต่ถ้าเปรียบแบบนั้นก็แสดงว่า ขาวมากๆ แล้ว คนแก่ ผมเริ่มหงอก เปลี่ยนสี ว่าเป็นสีดอกเลา ดอกนี้ไม่เคยเห็นเหมือนกัน ส่วนฝรั่งที่มาเมืองไทยนั้นเคยได้ยินเปรียบเทียบว่าตาสีน้ำข้าว ขาว..ขุ่น ไม่ใส เคยได้ยินมั้ยครับ ตาสีน้ำข้าว แล้วผมสีอะไร ผมสีซังข้าวโพด สีซังข้าวโพดคืออย่างไร ก็จะเหลืองก็ไม่เหลือ ทองก็ไม่ทอง วันต่อไปซื้อข้าวโพดต้มกินแล้วเหลือซัง ค่อยสังเกตก็ยังไม่สาย
เสน่ห์ของภาษาไทยเลยนะนี่ หาคำเปรียบเทียบได้ตลอด แถมเกร็ดนิดหน่อย ถ้าเขาบอกว่า สีออกแดงๆ นั้นไม่ใช่ว่าแดงยิ่งกว่าแดงนะ แต่หมายถึงไม่ค่อยแดงเท่าไร เหมือนหวานปะแล่มๆนั่นแหละ ไม่ค่อยหวาน
หมดหรือยัง สำหรับความเจ้าเปรียบเทียบของคนไทย ยังครับยังเหลือส่วนคำเปรียบเทียบ แต่สีพวกนั้น ต้องเฉพาะคนในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่จะสื่อกันถึง หรือเข้าใจเหมือนกัน เช่น แดงพุทธรักษา แดงกุหลาบ แดงชบา แดงคุณนายตื่นสาย หรือแดงแบบลูกตำลึง พวกนี้มีโทนสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ก็มีคำกล่าวถึงสีเฉพาะอีก เช่น สีกรมท่า ออกเสียงกว่าสี กรม-มะ-ท่า นี่ไม่รู้ว่าถูกเปล่า? แต่ฟังว่างั้น หมายถึงสีน้ำเงินหม่นๆ สีกรมท่านี้มีที่มาอย่างไร ใครทราบบ้างมั้ย? นอกจากนี้ก็มีสีกากี สีกากีนี่ไม่ถือเป็นคำเปรียบเทียบที่เห็นภาพว่าเป็นสีอะไร แต่ฟังแล้วจะเป็นภาพว่า-มีอำนาจบาตรใหญ่ (คำนี้ ไม่เขียน บาทใหญ่ เพราะคนมีอำนาจ ไม่จำเป็นต้องมีเท้าใหญ่) และแก่-อ่อนไม่เท่ากัน ชุดครูกับชุดตำรวจก็คนละสี
หมดหรือยัง สำหรับความเจ้าเปรียบเทียบของคนไทย ยังครับยังเหลือส่วนคำเปรียบเทียบ แต่สีพวกนั้น ต้องเฉพาะคนในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่จะสื่อกันถึง หรือเข้าใจเหมือนกัน เช่น แดงพุทธรักษา แดงกุหลาบ แดงชบา แดงคุณนายตื่นสาย หรือแดงแบบลูกตำลึง พวกนี้มีโทนสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ก็มีคำกล่าวถึงสีเฉพาะอีก เช่น สีกรมท่า ออกเสียงกว่าสี กรม-มะ-ท่า นี่ไม่รู้ว่าถูกเปล่า? แต่ฟังว่างั้น หมายถึงสีน้ำเงินหม่นๆ สีกรมท่านี้มีที่มาอย่างไร ใครทราบบ้างมั้ย? นอกจากนี้ก็มีสีกากี สีกากีนี่ไม่ถือเป็นคำเปรียบเทียบที่เห็นภาพว่าเป็นสีอะไร แต่ฟังแล้วจะเป็นภาพว่า-มีอำนาจบาตรใหญ่ (คำนี้ ไม่เขียน บาทใหญ่ เพราะคนมีอำนาจ ไม่จำเป็นต้องมีเท้าใหญ่) และแก่-อ่อนไม่เท่ากัน ชุดครูกับชุดตำรวจก็คนละสี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น