.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

การนุ่งสีตามวัน




การนุ่งสีตามวัน
การแต่งกายของคนไทยโดยเฉพาะของสตรีในพระราชสำนัก ยิ่งปรากฏให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยแท้ที่มักเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ากับความเชื่อเรื่องโชคลาง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการแต่งกาย เช่นเชื่อว่าสีของเสื้อผ้ามีอิทธิพลบันดาลให้เกิดโชคลาภ ทุกข์สุขแก่ผู้สวมใส่ ความเชื่อเรื่องนี้มีผลสืบเนื่องจากการเชื่อเรื่อง "เทวดาสัปตเคราะห์" หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ "แม่ซื้อ" ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๗ องค์ แต่ละองค์มีสีกายแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของสีประจำวันทั้งเจ็ด และเชื่อกันว่าการสวมเสื้อผ้าให้ตรงกับสีประจำวัน จะเกิดมงคลกับตัวเอง ช่วยส่งเสริมอานุภาพและบารมีให้มากยิ่งขึ้น
สีของเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามโฉลกของแต่ละวัน คือ วันอาทิตย์-สีแดง, วันจันทร์-สีขาวนวล, วันอังคาร-สีชมพู, วันพุธ-สีเขียว, วันพฤหัสบดี-สีเหลืองอ่อน, วันศุกร์-สีฟ้าอ่อน และวันเสาร์-สีดำ
สตรีในวังนำเอาเค้าของสีมงคลมาแต่งเติมเสริมกับสีอื่น ๆ ให้เข้ากันเป็นชุดดูสวยงาม ดังนี้
วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อน ห่มน้ำเงินอ่อนหรือบานเย็น นุ่งน้ำเงินนกพิราบ ห่มจำปาแดง
วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก นุ่งโศกหรือเขียวอ่อน ห่มม่วงอ่อน
วันพุธ นุ่งสีตะกั่วหรือสีเหล็ก ห่มจำปา
วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก นุ่งแสด ห่มเขียวอ่อน
วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ ห่มเหลือง
วันเสาร์ นุ่งม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มโศก
วันอาทิตย์ แต่งเหมือนวันพฤหัสบดี หรือนุ่งเขียว ห่มแดง นุ่งผ้าลายสีลิ้นจี่ หรือผ้าลายสีเลือดหมู ห่มโศก
เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายและสีเครื่องแต่งกายนี้ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ได้บรรายไว้ในบันทึกความทรงจำของท่านว่า
"....วันอาทิตย์ทรงผ้าลายสีลิ้นจี่ ทรงสะพักแพรสีโศก หรือทรงผ้าสีเขียวใบไม้ ทรงสะพักสีทับทิม วันจันทร์ทรงผ้าเหลืองอ่อน ทรงสะพักแพรสีน้ำเงิน หรือทรงสีบานเย็น ทรงผ้าสีนกพิราบน้ำเงินหม่น ทรงแพรสีจำปาแดง วันอังคารทรงผ้าสีม่วงอ่อน ทรงแพรสีโศก หรือทรงผ้าสีโศก ทรงแพรสีม่วง วันพุธทรงผ้าสีเหล็กหรือสีถั่วเขียว ทรงแพรสีจำปาอ่อนหรือแก่ก็ได้ วันพฤหัสบดีทรงผ้าสีแสด ทรงแพรสีเขียวอ่อน หรือทรงผ้าสีเขียวใบไม้ ทรงสะพักสีแดงเลือดนก (ทับทิม) วันศุกร์ทรงผ้าสีน้ำเงินแก่ ทรงแพรสีเหลือง (ดอกกะบอก) หรือทรงแก่กว่าหน่อยก็ได้ วันเสาร์ทรงผ้าลายพื้นม่วง ทรงแพรสีโศก วันพระทรงผ้าสีแดง ทรงสะพักสีชมภู เวลาไว้ทุกข์ใช้ผ้าทรงสีม่วง ทรงสะพักแพรสีนวล หรือผ้าทรงสีเขียว ทรงแพรสีม่วงอ่อน ม่วงแก่ตามที่ชอบ...."
วัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีในพระราชสำนักได้รับการพัฒนาตลอดมา แต่ยังคงรูปแบบเดิมคือ นุ่งจีบนุ่งโจง ห่มสไบแนบตัว หรือเสื้อกระบอก ห่มสไบเฉียงทับเสื้อ จะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนวิธีการประดับตกแต่งให้ดูงดงามขึ้นกว่าเดิมเพื่อใช้ในโอกาสต่าง ๆ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเริ่มรับวัฒนธรรมจากประเทศทางยุโรปบางประการมาใช้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกาย บรรดาข้าราชสำนักฝ่ายใน พากันตื่นตัวรับแบบอย่างและวิธีการแต่งกายมาผสมผสานดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมของไทย...
Cr: เรื่องเล่าชีวิตสาวชาววัง หอมติดกระดาน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น