.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ตุ่มสามโคก ตอน 3




ตุ่มสามโคก ตอน 3
ท่านสุนทรภู่ได้ระบุภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจากเตาสามโคกที่ผลิตสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย จากสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ " อีเลิ้ง " ตุ่มสามโคกตุ่มดินเผา ซึ่งเป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดจากเตาแหล่งนี้ และได้ผลิตมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓)
" นายโมรา " ทหารกรมมหาดเล็กตลกหลวง มีหน้าที่อ่านหนังสือตลกถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาทรงเครื่องใหญ่ได้ตามเสด็จประพาสพระราชวังบางประอิน ทางเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ผ่านเมืองสามโคก ได้แต่งนิราศไว้ความว่า
... " หนึ่งโคกเขตชื่อตั้ง เมืองปทุม
มอญมากกว่าไทยคุม พวกพ้อง
ทำอิฐโอ่งอ่างชุม ตาลดก ดงนา
ยลแต่มอญไม่ต้อง จิตเพ้อเสมอสมร " ...
ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายไปผลิตที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ชาวรามัญที่เกาะเกร็ดได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค
ลักษณะตุ่มสามโคกที่เกาะเกร็ดนั้นมีการตกแต่งปากและไหล่ของตุ่มเป็นเกลียวเชือก ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ลายกนก รูปทรงของตุ่มเพียงสูงขึ้น ป่องกลางน้อยลง เทคนิคการผลิตดีขึ้น สามารถผลิตตุ่มขนาดใหญ่ๆ ได้
ปัจจุบันนี้หาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตามบ้านเรือนนั้นหาอยู่ได้น้อยมาก คงเหลือตุ่มสามโคก เตาปากเกร็ด
และจะหมดไปในที่สุดด้วยวิวัฒนาการทางเทคนิคของโอ่งดินเผาเคลือบผิวน้ำหนักเบาของช่างปั้นชาวจีน ซึ่งได้รับความนิยมจนติดตลาดการค้าแทนตุ่มสามโคก "โอ่งมังกร " เมืองราชบุรี ซึ่งชาวมอญเมืองสามโคกรับมาขายสืบต่อแทนตุ่มสามโคกจนถึงปัจจุบัน
cr:ความรู้คือประทีป ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น