.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อักษรไทยในสมัยสุโขทัยตอน 1

อักษรไทยในสมัยสุโขทัยตอน 1



ภาษาเขียนของคนไทยเกิดขึ้นหลังจากที่คนไทยสร้างเมืองของตนเองขึ้นแล้ว คือ สุโขทัย เมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓  ของเมืองสุโขทัย ทรงจารึกเรื่องตัวหนังสือไทยไว้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า

          เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ที่แล้วมา เมืองสุโขทัยของคนไทยนับว่าเป็นเมืองใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านั้นชนชาติอื่นๆ  รอบด้าน มีการรวมตัวกันเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้วและที่เป็นเมืองแล้วต่างก็มีภาษาเขียนเป็นของตนเองทั้งสิ้น เมืองเขมร เมืองมอญ เมืองพม่า ล้วนมีภาษาเขียนของตนเองก่อนคนไทย ในยุคนั้นและก่อนหน้านั้นเท่าที่ปรากฏในอินเดีย ลังกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจารึกเรื่องของการปกครองเมือง ศาสนา และประชาชน นับเป็นประเพณีนิยมของกษัตริย์ทั่วไป เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองเมือง เมื่อมีการทำสงคราม การทำบุญครั้งใหญ่ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นประเพณีของกษัตริย์ที่จะทรงบันทึกเรื่องราวไว้ ในอินเดียและลังกา มีการเก็บบันทึกจารึกต่างๆ ทั้งของวัดและกษัตริย์นับได้เป็นจำนวนแสน ประเพณีการจารึกเรื่องราวนี้ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในย่านนี้จารึกโบราณมีทั้งภาษาบาลีสันสกฤต และต่อมาก็มีจารึกเป็นภาษาของคนพื้นเมืองด้วย คนไทยคงจะใช้ตัวอักษรอื่นที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในย่านนั้นมาก่อนซึ่งมีทั้งอักษรมอญและขอม แต่เมื่อคนไทยมีเมืองเป็นของตนเอง มีกษัตริย์ไทยเองแล้ว แรงผลักดันที่จะต้องมีตัวอักษรของตนเองเพื่อบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมืองตามประเพณีอยู่ในขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น การใช้ภาษาของไทยเองย่อมจะทำให้เมืองไทยมีฐานะเท่าเทียมกับเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราอาจนับว่าการเป็นเมืองและประเพณีการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น


          ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีที่แล้ว เข้าใจว่าคงจะได้เปรียบเทียบหรือปรับปรุงจากตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวหนังสือในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยมากแต่ระบบของตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ยังคงเดิม


          อักษรไทยมีใช้มานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้วจึงเป็นธรรมดาที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษาในปัจจุบันทั้งในด้านการเขียนและการแทนเสียงและเพราะเหตุว่าตัวเขียนไทยเป็นตัวอักษรแทนเสียงระบบภาษาเขียนจึงเป็นเสมือนบันทึกของลักษณะเสียงของภาษาไทยเมื่อสมัยประมาณ ๗๐๐ ปี มาแล้วได้เป็นอย่างดี นักภาษาศาสตร์สามารถใช้วิธี การที่เป็นวิทยาศาสตร์อธิบายให้เห็นว่าเสียงของภาษาในสมัยสุโขทัยต่างไปจากเสียงในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์




วรรณยุกต์
          รูปวรรณยุกต์ที่ใช้เขียนกำกับในยุคสุโขทัยมีเพียง ๒ รูป คือ ไม้เอก และไม้โท แต่ไม้โทใช้เป็นเครื่องหมายกากบาทแทน สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับรูปวรรณยุกต์คือไม่ใช่ตัวอักษรแทนเสียงในทำนองเดียวกับตัวพยัญชนะและสระ เพราะไม้เอกไม่ได้กำกับเฉพาะคำที่มีเสียงเอกเท่านั้น ใน ทำนองเดียวกันไม้โทก็ไม่ได้กำกับเสียงโทเท่านั้นแต่เสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนไปตามลักษณะพยัญชนะต้นของคำ คือ ไม้เอก บอกเสียงเอกในคำที่ขึ้นต้น ด้วยอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงโทในคำที่ขึ้น ต้นด้วยอักษรต่ำ และไม้โท บอกเสียงโทในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงตรีในคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรต่ำแสดงว่ารูปวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงหนึ่งเสียงใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บอกความต่างกันของเสียงเท่านั้น ซึ่งน่าจะหมายความว่ารูปวรรณยุกต์แบบนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ใช้ผันเสียงวรรณยุกต์กับอักษรสูง กลาง ต่ำ ใช้แสดงความแตกต่างกันและจะใช้กับเสียงวรรณยุกต์ในถิ่นใดก็ได้ และคงเป็นเพราะรูปวรรณยุกต์มิได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์ใดวรรณยุกต์หนึ่งนี้เองที่ทำให้จารึกในยุคหลังๆ ไม่ใช้วรรณยุกต์กำกับเลยก็มี


สระ
          การเขียนสระในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑  ต่างจากการเขียนสระในสมัยปัจจุบันมาก ทั้งรูปร่าง สระและวิธีการเขียนกล่าวคือ สระเขียนอยู่ในบรรทัดเช่นเดียวกับพยัญชนะ แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ได้กลับไปเขียนแบบให้มีสระอยู่รอบๆ พยัญชนะ คือ มีทั้งที่เขียนข้างหน้า ข้างบน ข้างหลัง และข้างล่าง พยัญชนะที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนนี้คงให้เหมือนกับระบบภาษาเขียนอื่นที่คนไทยสมัยนั้นใช้อยู่ก่อนและมีความเคยชินด้วยนอกจากเรื่องตำแหน่งแล้ว วิธีเขียนสระก็ต่างไป คือ สระอัว ในหลักที่ ๑ ใช้ วว ในคำที่ไม่มีเสียงสะกด เช่น หวว "หัว" ตวว "ตัว" ถ้ามีตัวสะกดก็ใช้ "ว" ตัวเดียว เช่นเดียวกับในปัจจุบัน เช่น  สวน แสดงว่ายังไม่มีการใช้ไม้หันอากาศ เพราะ เสียง "ะ" ในคำที่มีตัวสะกดก็ใช้พยัญชนะสะกดซ้ำ ๒ ตัว เช่น มนน "มัน" แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมาก็มีการใช้ไม้หันอากาศ ส่วนสระเอียใช้เขียนเป็น "ย" เช่น วยง "เวียง" สยง "เสียง" โดยภาพรวมแล้ว สระที่มีการเขียนเป็นตัวอักษรแทนเสียงมีจำนวนเท่ากับสระในปัจจุบัน


ตัวเลขไทย
          ตัวเลขนับเป็นส่วนสำคัญของการเขียน ดังเราได้ทราบแล้วว่า การบันทึกระยะแรกๆ ของภาษาโบราณของโลก เป็นการบันทึกเรื่องจำนวนสิ่งของและผู้คน และตัวเลขก็ยังมีความสำคัญตลอดมา
          ตัวเลขไทยคงจะประดิษฐ์ขึ้นในเวลาเดียวกันกับตัวอักษรอื่นๆ แม้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ เราจะไม่พบเลขครบทั้ง ๑๐ ตัว ขาด ๓ ๖ ๘ และ ๙ แต่เราก็อนุมานได้ในทำนองเดียวกับพยัญชนะว่าต้องมีตัวเลขเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะการประดิษฐ์ตัวเลขนั้นต้องเป็นระบบและมีลำดับ ที่สำคัญเราพบตัวเลขที่ขาดไปในจารึกสมัยของพระยาลิไท แสดงว่าตัวเลขทั้งหมดมีอยู่แล้ว ตัวเลขสมัยสุโขทัยเขียนแตกต่างไปจากตัวเลขสมัยปัจจุบันมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น