.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สำเพ็ง/สวนลุมพินี



สำเพ็ง

     ย่านการค้าสำเพ็ง เป็นย่านการค้าที่ใครหลายๆคนคงรู้จักกันดี เพราะเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่รวมสินค้ามาไว้หลากหลายชนิด เป็นย่านที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนทั้งพ่อค้า แม่ค้า ประชาชนที่เข้ามเลือกซื้อ รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมชมย่านนี้อยู่บ่อยๆ
     ย่านสำเพ็งมีที่มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตอนที่พระองค์ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในพุทธศักราช ๒๓๒๕ พระองค์ทรงโปรดให้ชาวจีนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ท่าเตียน และบริเวณใกล้เคียงมาตั้งแต่สมัยธนบุรีไปอยู่สำเพ็ง ซึ่งนอกเขตกำแพงพระนครทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีอาณาบริเวณตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) จนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ทั้งนี้เพื่อใช้ที่ดินเดิมซึ่งเป็นที่ดอน และอยู่กึ่งกลางพระนคร เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของราชวงศ์ใหม่ กับทั้งเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของทางการไทยในการควบคุมชาวต่างชาติ ให้ตั้งชุมชนอยู่เรียงรายนอกเขตกำแพงพระนคร เป็นการป้องกันมิให้ท้าทายอำนาจทางการเมืองได้ง่าย อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา 

     คำว่า สำเพ็ง ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า มีที่มาจากไหน และมีความหมายอย่างไร มีผู้รู้ให้คำสันนิษฐานเป็นหลายประการ ดังนี้
ประการแรก คำสำเพ็งนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สามแผ่น” อันหมายถึงลักษณะภูมิประเทศของย่านนั้นที่มีคลองขวางอยู่ ๒ คลอง ได้แก่ คลองเหนือวัดสำเพ็งและคลองวัดสามปลื้ม ทำให้ตัดแผ่นดินออกเป็นสามตอนหรือสามแผ่น คือ แผ่นวัดสำเพ็งตอนหนึ่ง และแผ่นวัดสามปลื้มอีกตอนหนึ่ง คนทั่วไปจึงเรียกย่านนี้ว่า “สามแผ่นดิน” หรือ “สามแผ่น” คำว่า สามแผ่นนี้ต่อมาเพี้ยนไปจามสำเนียงคนจีนว่า “สำเพ็ง”     ประการที่ ๒ คำสำเพ็งนี้น่าจะเพี้ยนมาจาก “สามแพร่ง” ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะภูมิประเทศในย่านนี้
     ประการสุดท้าย มีผู้สันนิษฐานว่า คำสำเพ็ง น่าจะมาจากชื่อพืช ตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลัษณะคล้ายใบโหระพา เรียกว่า “ลำเพ็ง” พืชชนิดนี้มีขึ้นทั่วไปในบริเวณดังกล่าว ผู้คนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า ลำเพ็ง และเพี้ยนเป็น “สำเพ็ง” ในที่สุด
     ข้อสันนิษฐานทั้ง ๓ ประการนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานเอกสารปรากฏ แต่คำว่าสำเพ็งที่ปรากฏหลักฐานคือชื่อสถานที่ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งโปรดให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี้นั้น โปรดให้ย้ายพระยาราชาเศรษฐีกับพรรคพวกจีนซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่ซึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างพระบรมมหาราชวังไปอยู่ ณ บริเวณที่เรียกว่า “สำเพ็ง”

     สำเพ็งในครั้วนั้นเป็นท้องที่เปลี่ยวรกรุงรังด้วยป่าหญ้า อยู่นอกกำแพงพระนคร ซึ่งก็ได้วิวัฒนาการเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ จนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงชื่อสำเพ็งจะคิดถึงย่านการค้าเก่าและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอดีตของกรุงเทพมหานคร

สวนลุมพินี

     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยพระราชประสงค์จะเปิดหูเปิดตาประชาชนให้ได้เห็นสินค้าต่างๆ ที่ตนอาจจะทำเองได้บ้าง และโชว์สินค้าไทยให้ชาวต่างประเทศได้เห็น เมื่อมีการซื้อขายกันก็จะทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

     สถานที่จัดงานจะต้องเป็นสถานที่กว้างขวาง ตอนนั้นรัฐบาลก็ไม่มีเงินจะซื้อ จึงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ ทุ่งศาลาแดง ประมาณ ๓๓๖ไร่ ให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อจัดงานนี้ในฤดูหนาวปี ๒๔๖๘ เรียกว่า  งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์  ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองที่ทรงครองราชย์มาครบ ๑๕ ปีเท่ารัชกาลที่ ๒ ด้วย พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า สวนลุมพินี  ตามชื่อ อุทยานลุมพินี  สถานที่ประสูติพระพุทธองค์

     อีกทั้งยังทรงมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานนี้แล้ว สถานที่นี้จะเป็นอุทยานที่สวยงามแห่งหนึ่งของพระนคร เป็นรมณียสถานสำหรับประชาชนเตร็ดเตร่หย่อนใจในยามว่าง ขณะที่การเตรียมงานต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่นำดินขึ้นถมที่ มีเกาะลอยอยู่กลางน้ำ บนเกาะก็ปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคของประเทศ ร้านค้าของทางราชการและเอกชนก็ใกล้เสร็จ
รวมทั้งวางรางรถรางจากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลมผ่านสวนลุมพินีไปสุดที่ประตูน้ำ อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาชมงาน แต่แล้วประชาชนชาวไทยก็หัวใจสลาย เมื่อองค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินีได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ความห่อเหี่ยวหัวใจทำให้ งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่มีกำหนดเปิดในวันที่ ๑ มกราคมนั้น ต้องล่มสลายลงไม่มีโอกาสได้เปิด       แต่งานครั้งนั้นยังอยู่ในระยะเพียงเตรียมการ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน โครงการต่างๆ จึงต้องยุติลงโดยปริยาย

       สวนลุมพินีได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้อยู่หัว โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระยาคทาธรธิบดีสีหราชบาลเมือง “เทียม อัศวรักษ์” เช่าที่ด้านใต้ของสวนลุมพินีประมาณ ๙๐ ไร่ จัดเป็น วนะเริงรมย์ เปิดการแสดงมหรสพ ออกร้านขายของ ขายอาหาร มีเครื่องเล่นสำหรับเด้ก เช่น กระเช้าสวรรค์ ม้าหมุน เป็นต้น และนำเงินที่ได้จากค่าเช่านี้มาปรับปรุงที่ดิน ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้เข้าใช้พักผ่อนหย่อนใจตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมเชษฐาในการพระราชทานโฉนดที่ดินสวนลุมพินีนี้ ทรงมีพระราชกระแสตอนหนึ่งว่า
       “...ที่นี่ต้องให้เป็นวนะสาธารณะอย่างเดียว จะไปทำอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากฉันและกุลทายาทต่อ ๆ ไปเท่านั้น...”
       ปัจจุบันสวนลุมพินีนับเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงเทพมหานคร และเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดสวนลุมพินี ประดาฐาน ณ ด้านหน้าของสวนลุมพินี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น