.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“สะพานดำรงสถิตย์ - สะพานพิทยเสถียร/สะพานมัฆวานรังสรรค์

  



“สะพานดำรงสถิตย์ - สะพานพิทยเสถียร”


แรกเริ่มเดิมที ก่อนรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ สะพานข้ามคลองรอบพระนครชั้นใน (คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง ซึ่งขุดในรัชกาลที่ ๑) และสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (คลองรอบพระนครชั้นนอกขุดในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๕) ล้วนเป็นสะพานไม้ทั้งสิ้น จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๐๔ จึงได้มีการสร้างสะพานเหล็กขึ้นสองแห่งเป็นครั้งแรก คือ สะพานเหล็กบนข้ามคลองบางลำพู-โอ่งอ่าง เชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุง ในกำแพงพระนครกับนอกกำแพงพระนคร เป็นสะพานเหล็กไขให้เปิดปิดได้ เพราะสมัยก่อนโน้นยังมีขบวนเรือแห่พระราชพิธีอยู่ กับโปรดฯให้รื้อสะพานหันเดิม ซึ่งเป็นสะพานไม้หันได้ สร้างเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกันอีกสะพานหนึ่ง 


      สมัยนั้นยังไม่ได้พระราชทานชื่อสะพาน ชาวบ้านจึงเรียกสะพานเหล็กที่สร้างใหม่ (ยังไม่มีบนและล่าง) ว่า ‘สะพานเหล็ก’ บ้าง ‘ตะพานเหล็ก’ บ้าง ส่วนตรงสะพานหันเดิม ยังคงเรียกว่า สะพานหัน-ตะพานหัน ตามที่เคยเรียกกันมา (แม้ต่อมาจะเปลี่ยนรูปสะพานเป็นสะพานโค้งขายของสองฟาก คนก็ยังเรียกกันว่าสะพานหัน จนทุกวันนี้) 

      ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ จดเรื่องการสร้างสะพานเหล็กสองสะพานนี้ไว้ว่า “การถนนแล้วยังไม่มีสพาน (คือทำถนนเจริญกรุงเสร็จแล้ว-จุลลดาฯ) ได้บอกบุญขุนนางและเจ๊สัวตามแต่ผู้ใดจะศรัทธา รับทำสพานข้ามคลองที่ตรงถนนใหม่ข้ามท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๕) ที่สมุหพระกลาโหมรับทำสพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงริมวังเจ้าเขมรข้าม คิดทั้งเหล็กสพานค่าจ้าง ค่าไม้ ค่าอิฐ รวมเป็นเงิน ๑๖๐ ชั่ง ที่สะพานหันเก่าข้ามคลองรอบกรุงลงไปวัดจักรวรรดิ์ ทำสะพานเหล็กอีกสะพานหนึ่งเป็นของหลวง ราคาเครื่องเหล็กที่สั่งเข้ามาก็เหมือนกัน” 

      ต่อมาตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สะพานไม้เก่าข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตอนใกล้จะออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปลายๆ คลอง ตำบลสี่พระยา ซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สร้างถวายเช่นกัน มีพวกฝรั่งร้องเรียนว่าสะพานไม่แข็งแรง พวกฝรั่งต้องนั่งรถม้าบ้าง ขี่ม้าบ้าง ข้ามไปข้ามมาบ่อยๆ เกรงว่าจะเกิดอันตราย พระบาทสมเด็จพระพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯให้เปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกับสะพานเหล็ก ๒ สะพานแรก ชาวบ้านจึงเรียกสะพานเหล็กแห่งนี้ว่า สะพานเหล็กล่าง และเรียกสะพานเหล็กเดิมว่า สะพานเหล็กบนเป็นคู่กัน 

      ถึงรัชกาลที่ ๕ โดยเหตุที่วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่เริ่มเสด็จออกวังอยู่ตรงที่ริมเชิงสะพานเหล็กบน จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสะพานเหล็กบนว่า ‘สะพานดำรงสถิตย์’ 

      วังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ดังกล่าวเป็นที่บ้านของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ผู้เป็นขรัวตาของสมเด็จฯ ทรงได้รับมรดก และประทับอยู่ ณ วังริมเชิงสะพานดังกล่าว จึงได้สร้างวังวรดิศที่ถนนหลานหลวง และย้ายไปประทับที่วังวรดิศต่อมาจนสิ้นพระชนม์ 
      ส่วนสะพานเหล็กล่างนั้นอยู่ใกล้วังตลาดน้อยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระราชทานชื่อว่า ‘สะพานพิทยเสถียร’ คล้องจองกัน

สะพานมัฆวานรังสรรค์


    สะพานแห่งนี้ในอดีตจนถึงปัจจุบันนับว่าเป็นสะพานที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการเมืองเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการใช้เป็นจุดรวมพลเพื่อชุมนุมเรียกร้องข้อต้องการต่างๆ สะพานที่ว่านี้คือ สะพานมัฆวานรังสรรค์ 


   สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็น สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมถนน ราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตพระนคร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๓ มีพระราชประสงค์ให้เป็นสะพานที่มีขนาดใหญ่และงดงามเป็นพิเศษ พร้อมกับให้กรมสุขาภิบาลตัดถนนราชดำเนินนอก เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังดุสิต การสร้างสะพานและถนนเสร็จลงในพุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๖ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ ปี อันนับเป็นมงคลสมัย

   ลักษณะสะพานเป็นสะพานที่มีความงดงามประณีตมาก ตัวสะพานเป็นตัวคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานสองข้างเป็นเหล็กหล่อที่มีลวดลายละเอียดงดงามมาก กึ่งกลางราวสะพานด้านนอกมีแผ่นโลหะกลมหล่อเป็นรูปช้างเอราวัณ ๓ เศียร ซึ่งเป็นเทพพาหนะของท้าวมัฆวาน เหนือแผ่นโลหะนี้เป็นเสาโคมไฟโลหะขนาดเล็ก ปลายสุดของราวสะพานทั้งสองฝั่งเป็นเสาหินอ่อน มีโคมไฟโลหะอยู่บนยอด ที่บริเวณหัวเสาประดับด้วยลายเฟื่องอุบะโลหะ เครื่องประดับบางชิ้นเป็นโลหะกะไหล่ทอง มีจารึกนามสะพานอยู่ที่กลางเสาหินอ่อน ปลายสะพานทั้งสี่ต้นนี้ ถัดจากเสานี้ไปเป็นพนักเชิงลาดของสะพานซึ่งประดับด้วยหินอ่อน ที่คานด้านข้างสะพานทั้งสองข้าง มีลวดลายประดับเช่นกัน ปัจจุบันได้ปรับปรุงขยายสะพานให้มีผิวจราจรกว้างขึ้นและรักษาเครื่องประดับสะพานให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมที่สุด

   กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนสะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๖๑ วันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น