.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถนนเจริญกรุง/ถนนบำรุงเมือง/ถนนเฟืองนคร




ถนนเจริญกรุง

ถนนเจริญกรุง เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๔ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๐๗ สาเหตุของการสร้างมาจากการที่พระองค์ได้ทรงรับคำกราบบังคมทูลอธิบายจากชาวต่างประเทศว่า ในประเทศทางยุโรปนั้น จะสร้างถนนที่สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล โดยใช้อิฐและหินก้อนใหญ่ก้อนเล็กปูเป็นชั้นๆ ทำให้พระองค์สนพระทัยมาก ประกอบกับกงสุลจากประเทศต่างๆ ได้เข้าชื่อถวายฎีกา ขอพระราชทานถนนโดยได้กราบบังคมทูลว่า 

         "ชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้า เที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าไปเที่ยวพากันเจ็บไข้เนืองๆ"       เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบความในหนังสือแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน สร้างถนนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านสำเพ็ง (ย่านการค้าของชาวจีน) ผ่านบางรัก (ย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตก) ถึงบางคอแหลม (ถนนตก)
       ถนนเจริญกรุง แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ถนนเจริญกรุงในเขตกำแพงเมือง เริ่มจากบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจนถึงสะพานดำรงสถิตย์ ต่อกับถนนเจริญกรุงตอนนอกกำแพงเมืองจนถึงตำบลดาวคะนอง


ถนนบำรุงเมือง

  ถนนบำรุงเมืองสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๔๐๖ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมบริรักษ์เป็นนายงานขยายถนนสร้างไปทางเสาชิงช้า เริ่มตั้งแต่ถนนสนามชัย(ถนนตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกรหัวมุมกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งเหนือตรงข้ามศาลหลักเมือง ถึงถนนมหาราชและถนนราชินี) ผ่านเสาชิงช้า ประตูผี (ชื่อนี้เพราะเป็นประตูที่นำศพออกจากเมืองไปเผานอกเมืองเพื่อไม่ให้เถ้าถ่านจากการเผาศพฟุ้งกระจาย เป็นประเพณีที่ถือกันมาแต่โบราณว่าถ้านำศพออกทางประตูอื่นที่มิได้กำหนดไว้เป็นประตูผีจะเกิดเสนียดจัญไรขึ้นในบ้านเมือง แต่ชื่อนี้ต่อมาทางราชการเห็นว่าฟังแล้วน่าขนลุกและไม่เป็นมงคลจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เสียไพเราะว่า “สำราญราษฎร์”) วัดสระเกศไปจนถึงสะพานยศเส เป็นระยะทางยาว ๒๙ เส้น ๑๔ วา ๓ ศอก สิ้นค่าใช้จ่ายในการสร้าง ๑๕,๐๙๒ บาท ถนนเส้นนี้ในอดีตสันนิษฐานว่าเป็นทางเดินมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุง เพราะมีชื่อเรียกกันมาแต่เดิมว่าถนนรีและถนนขวาง เป็นถนนที่นับได้ว่ามีคนจีนอาศัยอยู่มาก ทำกิจการค้าหลากหลายประเภท ในอดีตบริเวณริมถนนบำรุงเมืองเคยเป็นที่ตั้งศาลเจ้าเสือเรียบร้อย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์จะขยายถนนบำรุงเมืองให้กว้างเพื่อเป็นทางรถและสร้างตึกแถว จำเป็นต้องรื้อศาลเจ้าไปไว้ที่อื่น จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึก- ราชเศรษฐี (เถียน) จัดการรื้อศาลเจ้าแห่งนี้ไปสร้างใหม่ในที่พระราชทานริมถนน เฟื่องนครใกล้วัดมหรรณพาราม(ศาลเจ้าพ่อเสือในปัจจุบัน)

ถนนเฟืองนคร


   รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ เป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้วิธีการสร้างแบบยุโรป ถนนสายนี้เริ่มต้นจาก สี่กั๊กพระยาศรี บรรจบกับ ถนนบำรุงเมือง ที่ สี่กั๊กเสาชิงช้า ความยาวประมาณ ๐.๕ กิโลเมตร ได้รับพระราชทานนามโดยมีความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองว่า ถนนเฟื่องนคร เมื่อสร้างเสร็จแล้วนับว่าเป็นถนนที่ทันสมัย มีความสะดวกสบาย ในอดีตเป็นย่านที่จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ และเป็นสถานที่ตั้งของโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันมีร้านค้าสองฝั่ง ถนนยังคงสภาพเดิมไว้เป็นส่วนมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติไว้แล้ว
     ถนนทั้งสามสายเมื่อสร้างสำเร็จแล้วนับเป็นเส้นทางคมนาคมที่ทันสมัยสะดวกสบาย และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดพระราชทานนามถนนทั้งสามสายนี้ให้มีความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองว่า “ถนนเจริญกรุง” “ถนนบำรุงเมือง” และ “ถนนเฟื่องนคร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น