.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถนนสี่พระยา/ ถนนเยาวราช/ถนนสุขุมวิท



ถนนสี่พระยา

      ถนนสี่พระยา ชื่อถนนที่ตัดเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนพระรามที่ ๔ ชื่อของถนนมาจากชื่อข้าราชการบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ๔ ท่าน

      ในรัชสมัยพระบาทมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการขยายอาณาเขต เมืองหลวง มีผู้มองเห็นการณ์ไกล กว้านซื้อที่ดินชานเมืองเพื่อแบ่งขาย และเพื่อให้ที่ดินได้ราคาดีจึงต้องตัดถนนผ่านที่ดิน อย่างเช่น หลวงสาธรราชายุกติตัดถนนสาธร เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ตัดถนนสุรวงศ์และถนนเดโชเป็นต้น พระยาทั้ง ๔ ท่าน ได้แก่ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง พระยาพิพัมน์โกษา พระยานรฤทธิราชหัช และ พระยานรนารภภักดี ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ร่วมทุนกันกว้านซื้อที่สวนระหว่างถนนสุรวงศ์กับคลองผดุงกรถุงเกษม พร้อมกับตัดถนนผ่านที่นั้น และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นถนนหลวง จึงโปรดพระราชทานนามถนนให้มีนัยเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ตัดถนนสายนี้ คือ “ถนนสี่พระยา”


 ถนนเยาวราช
         
          ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถนนนี้ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๔๓ ตั้งต้นจากบริเวณคลองโอ่งอ่างถึงวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นระยะทาง ๑,๕๓๒ เมตร ส่วนคำว่า เยาวราช มีความหมายว่า พระราชาที่ทรงพระเยาว์ หมายถึงรัชกาลที่ ๕ ที่ขึ้นครองราชย์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ต่อมาถนนสายนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น ไชน่าทาวน์ ของเมืองไทย เนื่องจากตลอดสายของถนนเป็นแหล่งทำมาหากิน และที่อยู่อาศัยของชนชาวจีน นับได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในอดีต ถนนเยาวราช เป็นถนนสายแรกที่มีตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่คือ ตึกเจ็ดชั้นและตึกเก้าชั้น บนสองฟากของถนนมีภัตตาคารจีนชั้นดี มีโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรีที่ทันสมัยในยุคนั้น มีร้านขายทองคุณภาพดีที่เชื่อถือได้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งอาหารสด และอาหารแห้งเพื่อนำไปประกอบอาหารจีนมากมาย  และในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่างเช่น เทศกาลถือศีลกินเจ และเทศกาลตรุษจีน บนถนนสายนี้ก็มีการจัดกิจกรรมและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศมากมายมาเข้าร่วมเฉลิมฉลอง นับว่าเป็นถนนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

ถนนสุขุมวิท
       ถนนสุขุมวิท เป็นอีกถนนหนึ่งที่คับคั่งไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ และยังเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถนนสุขุมวิทเป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ ตัดผ่านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ชื่อถนนนี้มาจากชื่อบรรดาศักดิ์ของ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ ๕ ที่ได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังความรู้ มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จของงานสร้างทางหลวง เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่ท่านในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงมีมติตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ – ชลบุรี – ระยอง – จันทบุรี – ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” 

       นอกจากนี้ถนนสุขุมวิทยังมีซอยแยกออกไปอีกมากมาย เช่น เช่น ซอยนานา,อโศก,ประสานมิตร,สวัสดี,อารีย์ และพร้อมพงษ์ฯลฯ ไหน ๆ ก็เกริ่นชื่อซอยขึ้นมาแล้ว ดิฉันก็ขอนำเสนอที่มาเล็กๆ น้อยๆ ของชื่อซอยเหล่านี้สักหน่อย ดิฉันขอยกซอยนานา และซอยพร้อมพงษ์ ขึ้นมาเล่าแล้วกันค่ะ
       ซอยนานา (สุขุมวิท ซอย ๔) เป็นชื่อซอยที่มีคนแขกอาศัยอยู่เยอะ ส่วนที่มาของชื่อก็มาจากนามสกุลของ เล็ก นานา อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาผู้นี้เป็นเจ้าของที่ดินหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จนได้รับฉายาว่า "ราชาที่ดินกรุงเทพมหานคร" และจากการที่มีที่ดินมากจึงทำให้ซอยหนึ่งในถนนสุขุมวิทได้รับการตั้งชื่อตามนามสกุลตนเอง

       ซอยพร้อมพงษ์ (ซอยสุขุมวิท ๓๙) มีประวัติมาจากตระกูลของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (พร้อม สนิทวงศ์ ) ต้นสกุล "สนิทวงศ์" มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ครั้งเมื่อท่านรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้ และปลูกบ้านไว้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัว พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราชมีพระโอรสธิดาที่เกิดจากหม่อมต่างๆ ทั้งสิ้น 14 องค์ ซึ่งซอยต่างๆ ในละแวกนี้จึงมาจากชื่อพระโอรสธิดา และในส่วนของชื่อซอยพร้อมพงษ์ก็เป็นชื่อของพระโอรสองค์เล็ก ซึ่งน่าจะไปพ้องเสียงกับคำว่า พร้อมพงศ์ ซึ่งเป็นชื่อพระบิดา จึงได้ใช้ชื่อ พร้อมพงษ์ เป็นชื่อซอยหลัก และใช้ชื่อพร้อมต่างๆ เป็นชื่อของซอยรอง ส่วนซอยพร้อมมิตรนั้นไม่ได้เป็นญาติกัน แต่เป็นการตั้งชื่อให้เป็นไปในทางเดียวกันนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น