.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คลองแสนแสบ/คลองสาธร



คลองแสนแสบ

"อกพี่กลัดหนอง พี่หมองดั่งคลองแสนแสบ เจ็บจำดั่งหนามยอกแปลบๆ แสบแสนจะทน ......"
      เมื่อได้ยินเพลงนี้ก็ทำให้อดหวนคิดถึงภาพยนตร์ดังเรื่องหนึ่งไม่ได้ ซึ่งเรื่องที่ว่านี้ก็คือภาพยนตร์เรื่อง  "แผลเก่า" บทประพันธ์อันเลื่องชื่อของ ไม้ เมืองเดิม  ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ครองใจหลายๆ คน ฉากในเรื่องเกิดที่ทุ่งบางกะปิ เป็นเรื่องของหนุ่มสาวที่รักกัน แต่ไม่สมหวังในความรักเพราะพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายกีดกัน ต่อมาความรักของทั้งสองก็ต้องเสื่อมคลายลง เมื่อหญิงสาวเดินทางเข้ากรุงเทพ และก็หลงใหลกับเมืองฟ้าอมร จนลืมไอ้หนุ่มบ้านนาคนที่เคยสาบานรักกันไว้ ส่วนชายหนุมก็ปวดใจ เจ็บแสบกับความรักของตน จึงเป็นที่มาของการแต่งเพลงแสนแสบประกอบละคร ส่วนในเนื้อเพลงก็ได้เปรียบเปรยความรักซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บแสบว่าเหมือนชื่อคลองแสนแสบ 

      คลองแสนแสบเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลบางขนาก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ ใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางไปยังเมืองปราจีนและเมืองฉะชิงเทรา มีพระราชประสงศ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ  และเสบียงอาหารไปยังประเทศญวนในราชการสงครามไทย-ญวนซึ่งใช้เวลารบถึง  ๑๔ ปี เรียกว่า  “สงครามอันนัมสยามยุทธ”      ชื่อของคลองน่าจะพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศที่คลองนี้ขุดผ่าน ซึ่งล้วนเป็นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ใหญ่ที่สุด อันได้แก่ ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่งหนองจอก และจากหลักฐานสำคัญซึ่งอาจสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อแสนแสบเป็นอย่างดีก็คือ รายงานการเดินทางของนาย ดี.โด.คิง (D.O. King) นักสำรวจชาวอังกฤษแห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของผู้คนแถบคลองแสนแสบนี้ว่า
      “..คลองนี้มีความยาว  ๕๕ ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ ๔ ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ....”
       จากข้อความตามในรายงานของนาย ดี.โอ.คิง ก็น่าที่จะเป็นข้อสันนิษฐานว่าชื่อคลองแสนแสบนี้น่าจะเกิดจากความเจ็บแสบอย่างสาหัสของชาวบ้านแถบนั้นที่ถูกยุงกัด  และปัจจุบันคลองแห่งนี้ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการคมนาคมเพราะมีเรือบริการผู้โดยสารซึ่งจะเริ่มออกจากท่าเรือที่วัดศรีบุญญเรืองไปจนสุดเส้นทางที่ท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 

คลองสาธร ถนนสาธร

       คลองสาทรและถนนสาทรมีที่มา คือ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการค้าข้าวของประเทศรุ่งเรืองมาก มีชาวจีนและฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น แต่การคมนาคม  การขนส่งมีความยากลำบาก ทางราชการต้องการพัฒนาที่ดิน และขุดคลองเป็นจำนวนมาก จึงเชิญชวนเอกชนทำการขุดคลอง โดยจะยกสิทธิ์ในที่ดินสองฟากคลองเป็นการตอบแทน ต่อมาเจ้าสัวยม ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม จ้างกรรมกรจีนทำการขุดคลองขนาดใหญ่ จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ไปบรรจบกับคลองถนนตรง (คลองวัดหัวลำโพง)  คลองที่ขุดขึ้นนั้น ชาวบ้านเรียกชื่อตามนามของผู้ขุดว่า “คลองเจ้าสัวยม” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เรียก “คลองนายยม” และได้นำดินที่ขุดคลองทำถนน ทั้ง ๒ ฝั่งคลองด้วย จึงเรียกชื่อถนนตามชื่อคลองด้วย ภายหลังเจ้าสัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงสาทรราชายุกต์ ราษฎรพากันเรียกคลองขุดใหม่นี้ว่า “คลองสาทร” ส่วนที่ดินที่ได้จากขุดคลอง นำมาถมสองฟาก และตัดเป็นถนนสาทรเหนือ และถนนสาทรใต้ ในภายหลัง
สาทร หรือ สาธร ?
        คงมีหลายๆ คน ที่ผ่านไปแถวเขตสาทรและเห็นป้ายร้านค้าบางแห่งสะกด "สาทร" ด้วย "ท ทหาร" แต่บางที่ก็เขียน "สาธร" โดยใช้ "ธ ธง" ทั้งนี้ก็มีคนเถียงกันว่าสรุปจะใช้ตัวไหนกันแน่
        เดิมทีชื่อเขตสาทรนั้นสะกดด้วย "ธ" แต่คำว่า "สาธร" ไม่มีประวัติความเป็นมาและความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่คลองสาทรกับ ถนนสาทร มีประวัติความเป็นมา จากบรรดาศักดิ์ขุนนาง ในสมัยในรัชกาลที่๕ คือ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ มีคหบดีจีนชื่อ เจ้าสัวยม บุตรพระยาพิศลสมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) อุทิศที่ดินของตนและทำการขุดคลองขึ้น จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ไปบรรจบคลองวัดหัวลำโพง นำดินที่ขุดคลองทำถนนทั้งสองฝั่งคลอง คนทั่วไปเรียก “คลองเจ้าสัวยม” เมื่อเจ้าสัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสาทรราชายุกต์ คลองและถนนทั่งสองฝั่ง เรียกว่า “คลองสาทร” และ “ถนนสาทร”

        ต่อมาเมื่อการเขียนภาษาไทย ได้มีการเขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “สาธร” จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเขียนชื่อคลอง และถนนสาทร ผิดไปจากความเป็นมาในอดีต เมื่อจัดตั้งสำนักงานเขตขึ้น ได้นำชื่อถนนสาทรมาใช้เป็นชื่อเขตสาทร  โดยใช้ "ธ ธง" จึงทำให้ไม่ถูกต้องด้วย เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า การเขียนชื่อเขตสาธร คลองสาธร และ ถนนสาธรเหนือ – ใต้ ไม่ถูกต้องตามประวัติความเป็นมา ของคลองและถนน ซึ่งหลักฐานว่าคำว่า “สาทร” ใช้ ท ทหาร ทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอ กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “สาธร” ไม่มีความหมาย และคำแปลตามหลักภาษาไทย  ส่วนคำว่า “สาทร” มีความหมายและคำแปลว่า “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่”  ตามหลักภาษาไทย ในพจนานุกรม และเป็นคำที่มาจากบรรดาศักดิ์ของ หลวงสาทรราชายุกต์ (เจ้าสัวยม)  ซึ่งตามประวัติอักขรานุกรม ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะใช้ ท ทหาร ทั้งหมด เมื่อเขตสาทรจัดตั้งขึ้น  และใช้ชื่อคลองสาทร และถนนสาทร เป็นชื่อสำนักงานเขต โดยใช้ "ธ ธง"  จึงเป็นการเขียนไม่ตรง กับที่มาชื่อบรรดาศักดิ์ และหลักภาษาไทย  กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๒ เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” ตามหลักฐานดังกล่าว

        ดังนั้น ชื่อสำนักงานเขตสาทร ต้องใช้ ท ทหาร และถนนสาทรเหนือ - ใต้ ตลอดจนซอยแยก จากถนนสาทร ต้องเขียนป้ายชื่อ เป็น ท ทหาร ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๓๕ ง. ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป “สาธร” เป็น “สาทร”  ที่ถูกต้อง ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ความเป็นมาแต่อดีต  และถูกต้องตามหลักภาษาไทย ซึ่งจะเป็นสำนักงานเขตสาทรที่เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ราษฎรในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น