.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วงเวียน ๒๒ กรกฎา /ท่าเตียน/สนามหลวง


วงเวียน ๒๒ กรกฎา 
      ชื่อ วงเวียนและถนนทั้ง ๓ สายนี้ เป็นชื่อที่ได้มาจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน คือเป็นอนุสรณ์ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าสู่สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎา พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะ ทรงชี้แจงเหตุผลของการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ว่า เพื่อรักษาความเป็นธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ
      ครั้นสงครามสิ้นสุดลง สัมพันธมิตรเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และ การทหาร รวมทั้งยังทำให้ประเทศไทยสามารถเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของชาติมหาอำนาจที่เคยทำไว้กับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุ พระราชทานนามให้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้คือ
      วงเวียน ๒๒ กรกฎา มีรัศมี ๒๒ เมตร อยู่ระหว่างกลางถนนสามสายเป็นที่ระลึกวันประกาศสงคราม
      ถนนสามสายที่แยกจากวงเวียนนี้ได้แก่
      ถนนไมตรีจิต จาก วงเวียน ๒๒ กรกฎา ถึงหัวลำโพง
      ถนนมิตรพันธ์  วงเวียน ๒๒ กรกฎา ถึงสะพานนพวงศ์
      ถนนสันติภาพ วงเวียน ๒๒ กรกฎา ถึงถนนกรุงเกษม
      ชื่อวงเวียนและถนนทั้ง ๓ สายนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความเกี่ยวเนื่องกันดังนี้
      “ด้วย ไมตรีจิต ที่ได้เข้าร่วมกับ สัมพันธมิตร เพื่อผดุง สันติภาพ ของโลก จึงได้ประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎา คม”      คำ ว่าพันธมิตร ทรงใช้เป็นมิตรพันธ์ เพื่อให้คล้องจองกัน

ท่าเตียน
       ท่าเตียนแห่งนี้เป็นชุมชนมาตั้งสมัยอยุธยาแล้วเรียกว่าชุมชนบางกอก ในสมัยรัตนโกสินทร์บริเวณท่าเตียนแห่งนี้เคยเป็นตลาดท้ายสนมหรือตลาดท้ายวังมาก่อน และเป็นตลาดที่มีความคึกคัก มีเรือมาจอดเทียบท่าส่งของ และค้าขายกันเต็มท่า ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางตลาด ขนส่งสินค้าทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ แล้วยังถือได้ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการคมนาคมทางน้ำอีกด้วย ไม่ว่าใครจะเดินทางไปไหนมาไหนหรือจะไป ต่างประเทศ ก็ตามก็ต้องมาขึ้นลงเรือที่ท่านี้ทั้งสิ้นและตลอดสองฟาก ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เต็มไปด้วยเรือนแพ ของชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่และค้าขายในแถบนี้
       คำว่า ท่าเตียน ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่นอนว่า ชื่อนี้มาจากไหน ใครเป็นผู้ตั้ง มีแต่คำบอกเล่าหรือคำสันนิษฐานสืบต่อกันมาเป็น ๒ ประการ คือ
       ประการแรก สาเหตุที่เรียกสถานที่บริเวณนี้ว่าท่าเตียน เพราะเดิมเคยเป็นบริเวณที่มีทั้งวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ บ้านเรือนเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย เรือนราษฎร โรงงานหลวง ตั้งอยู่อย่างแออัด เป็นแนวยาวตามริมน้ำเจ้าพระยา จากมุมพระบรมราชวังด้านใต้จนถึงตีนท่าน้ำวัดโพธิ อันเป็นท่าจอดเรือข้ามฟากไปวัดแจ้ง  จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่บริเวณนี้ ปรากฏความเสียหายบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า
        “...เพลิงไหม้ ๕  ๑ ค่ำ ว่า เวลายามเศษ ไฟไหม้เสียหายจำนวนมาก เป็นเรือนหม่อมเจ้าในกรมสุรินทร์รักษ์ ๒๘ หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ ๓ หลัง เรือน ๑๓ หลัง เรือนข้าราชการและราษฎร ๔๔ หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง ๑ ประตูท่าช้างล่าง ตัวไม้ในโรงเรือนที่จะใช้สร้างวังและพระอารามหลวงกว่าร้อยต้น... ”     
 เพลิงไหม้ในครั้งนั้นกินเนื้อที่กว้างขวางมาก เป็นเหตุให้บริเวณนั้นราบเตียนโล่งผิดตาจากเดิม จนคนทั่วไปใช้เป็นที่หมายเรียกลักษณะเด่นของบริเวณนั้นว่า “ท่าเตียน”
        ประการที่สอง มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ฮาเตียน” ซึ่งเป็นชื่อเมืองหนึ่งในประเทศญวน ชาวญวนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยหลายครั้งหลายหน และกระจายอยู่ทั่วไปในพระนครและธนบุรี มีชาวญวนบางคนซึ่งเห็นภูมิภาคบริเวณนี้คล้ายคลึงกับภูมิภาคส่วนหนึ่งของประเทศฮาเตียนที่เคยอยู่อาศัย จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ฮาเตียน เพื่อให้คลาบความคิดถึงถิ่นฐานที่เคยอยู่ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ท่าเตียน”
 ทั้งข้อสันนิษฐานและคำเล่าลือทั้ง ๒ ประการนี้ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน

สนามหลวง
ท้องสนามหลวงที่เราเห็นในปัจจุบันนี้มีประวัติความเป็นมาที่มายาวนานมาก และเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งทรงตัดสินพระราชหฤทัยย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ฝั่งเดียวนั้น ทรงตั้งกำหนดเขตพระบรมมหาราชวังขึ้นที่บางกอก โดยโปรดย้ายพวกจีนซึ่งตั้งรกรากอยู่เดิมร่นไปทางใต้ที่สำเพ็ง และให้รื้อกำแพงเมืองกรุง ธนบุรีลงเหลือไว้แต่คลองคูเมืองเดิมล้อมรอบพระบรมมหาราชวังกับวังหน้า และก็ให้เว้นที่ดินระหว่าง วังหลวงกับวังหน้าไว้เป็นท้องสนามหลวง มีพื้นที่เพียงครึ่งเดียวของสนามหลวงในปัจจุบัน เพราะพื้นที่ อีกครึ่งหนึ่งด้านทิศเหนือเป็นวังหน้า 

    ท้องสนามหลวงได้ใช้ประโยชน์ในครั้งแรกคืองานพระเมรุพระบรมอัฐิพระชนกแห่ง รัชกาลที่ ๑ ต่อจากนั้นได้ใช้เป็นสถานที่เพื่องานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่อยู่ตลอดมา จนประชาชนเรียกที่ดินตำบลนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ”  นอกจากนี้บริเวณทุ่งพระเมรุยังเป็นสถานที่ที่ใช้ทำนาอีกด้วย เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระทัยถึงการเยกชื่อทุ่งพระเมรุนักนัก จึงได้ออกประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงและสนามชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งเป็นการอัปมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้ เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”

ต่อมาในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าวังหน้า ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จะลงทุนบูรณะก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้เฉพาะแต่ที่สำคัญ จึงโปรดให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริเวณวังชั้นนอกด้านตะวันออก เปิดเป็นท้องสนามเชื่อมกับของเดิมขึ้นมาทางเหนือ และครั้นเมื่อหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ร.ศ.๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงก่อสร้างดัดแปลงพระนครให้เจริญยิ่งขึ้น จึงโปรดให้สร้างถนนราชดำเนินขึ้นใหม่ ต่อจากถนนสนามชัย เป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองคูเมืองชั้นในที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วหักออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นถนนราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอกตามลำดับไปสู่พระราชวังดุสิต ถนนสนามชัยเดิมจึงถูกลบออก และขยายสนามหลวงมาทางทิศตะวันออกติดถนนราชดำเนินใน แล้วแต่งให้เป็นรูปไข่สวยงาม ปลูกต้น มะขามโดยรอบสองแถวเช่นที่เห็นทุกวันนี้ สนามหลวงจึงเป็นบริเวณที่กว้างขวางอยู่กึ่งกลางพระนครเหมาะสมสะดวกในการคมนาคม ได้ใช้เป็นที่สาธารณะประโยชน์อย่างเหลือหลายคุ้มค่าจริง ๆ มาตราบจนปัจจุบันนี้
ท้องสนามหลวงยังเป็นสถานที่เล่นและแข่งว่าวที่โด่งดังมากในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ตามปกติฤดูกาลเล่นว่าวของคนไทยมักจะมีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เพราะจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือลมตะเภาพัดมาจากอ่าวไทย ถ้าใครมีโอกาสว่างๆ ก็ลองไปร่วมชมการแข่งว่าวที่สนามหลวงดูนะคะ ทุกท่านจะได้พบเห็นภาพว่าวหลากสีสันและเทคนิคการแข่งขันของผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละคนที่งัดออกมาโชว์ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากอีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาไทยอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น