นานาสัตว์ในสัตว์สำนวนไทย กระต่ายน้อย
สัตว์น่ารักอย่างกระต่ายก็กระโดดหยองแหยงเยี่ยมหน้าเข้ามา ปีขาลเคลื่อนผ่านไป ปีกระต่ายก็คืบคลานเข้ามา ถ้าเสือเจอกับกระต่ายก็คงจับกระต่าบกินอย่างแน่นอน หูยาวๆ ตัวขาวๆ ขนฟูๆ เป็นความน่ารักของกระต่าย สัตว็สัยลักษณ์ประจำปีเถาะ
อย่างที่บอกไปแล้วว่าเสือเป็นสัตว์ดุร้าย กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร กระต่ายก็อยู่ในข่ายอาหารของเสือด้วย สำนวนว่า "กระต่ายแหย่เสือ" จึงหมายถึงการล้อเล่นกับอันตราย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงแล้วกระต่ายเป็นสัตว์ขี้ขลาดขี้ตกใจ ตามนิทานที่เล่ากันถึงกระต่ายซึ่งอยู่ใต้ต้นมะพร้าว เพียงลูกมพร้าวหล่นกระต่ายก็ตื่นตระหนกตกใจ ไม่ทันดูให้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เที่ยววิ่งไปบอกใครว่าฟ้าถล่ม สำนวนว่า "กระต่ายตื่นตูม" จึงหมายถึง การตื่นเต้นในเรื่องไร้เหตุผล ใช้เปรียบเทียบกับคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่าย ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันสำรวจหรือพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน เป็นการกระทำที่ขาดสติ ไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด
กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดไม่โตมากนัก หูยาว ขนปุย มี ๔ ขา มีนิทานที่เล่าถึงศิษย์วัดที่ขโมยกินขากระต่ายไป ๓ ขา พอถูกสอบสวนก็ยืนยันว่ากระต่ายมีขาเดียว แต่บางครั้งก็เล่ากันว่าขโมยไปเพียง ๑ ขา จึงยืนยันว่ากระต่ายมี ๓ ขา ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านิทานดังกล่าวทำให้เกิดสำนวน หรือเป็นนิทานที่คิดขึ้นมาเพื่ออธิบายที่มาของสำนวนดังกล่าว หรือนิทานและสำนวนมาพ้องกันโดยบังเอิญก็ได้ อย่างไรก็ตามทั้งสำนวนว่า "กระต่ายขาเดียว" และ "กระต่ายสามขา" ล้วนหมายถึงยืนกรานไม่ยอมรับ หรือบางครั้งหมายถึงพูดยืนยันอยู่คำเดียว ยืนยันความคิดเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ความหมายหลังนี้ "กาญจนาคพันธุ์" สันนิษฐานไว้ว่า"กระต่าย" ที่ปรากฎอยู่ในสำนวนน่าจะเป็นจากกระต่ายขูดมะพร้าว ซึ่งมีขาหน้าขาเดียว ยืนทรงตัวอยู่ได้ด้วยขาเดียว คำว่า "ยืน" อาจหมายถึง ยั่งยืน คงที่ บางครั้งจึงใช้เป็นสำนวนว่า "ยืนกระต่ายขาเดียว" หมายความว่า พูดยืนยันอยู่อย่างเดียวไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น
ธรรมชาติของกระต่ายมักอาศัยอยู่ตามชายป่า ชายทุ่ง บางครั้งก็ออกมาหากินเวลากลางคืน เมื่อเดือนหงายเราจะเห็น กระต่ายออกมาวิ่งเล่น คนสมัยก่อนจึงจินตนาการว่า กระต่ายหลงแสงจันทร์ แต่กระต่ายเป็นสัตว์เดินดิน ไม่มีความสามารถที่จะโผบินเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ได้แม้แต่น้อย ดวงจันทร์จึงเป็นสิ่งสูงส่ง ที่แม้กระต่ายจะชื่นชอบสักเพียงไดก็ไม่มีโอกาสใกล้ชิด กวีโบราณจึงมักเปรียบดวงจันทร์กับผู้ญิงสูงศักดิ์ และเปรียบกระต่ายกับชายต่ำศักดิ์ สำนวนว่า"กระต่ายหมายจันทร์" จึงหมายถึงชายที่หมายปองหญิงสูงศักดิ์หรือหญิงที่มีฐานะดีกว่า
สำนวนที่จะกล่าวถึงเป็นการส่งท้ายปีเถาะ คือ สำนวน "หนวดเต่าเขากระต่าย" คงไม่มีใครเคยเห็นเต่ามีหนวดและกระต่ายมีเขา สำนวนนี้จึงหมายถึง ของที่ไม่มี ของที่หาไม่ได้ มักใช้ในกรณีที่หมายถึงของดีของวิเศษกว่าของธรรมดา ย่อมหาไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น