ทำไมถึงเรียก ลอดช่องสิงคโปร์
ลอดช่องสิงคโปร์ หรือ เชนดอล เป็นขนมพื้นบ้านที่มีจุดกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่นิยมในอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และสิงคโปร์
ส่วนสาเหตุที่ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” นั้น มาจากเมื่อ พ.ศ. 2504 ร้านลอดช่องร้านแรกในประเทศไทย “สิงคโปร์โภชนา” ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช ผู้คนไปรับประทานจึงมักจะเรียกว่า “ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” จนในที่สุดตัดทอนเหลือแต่เพียง “ลอดช่องสิงคโปร์“ ร้านสิงคโปร์โภชนาก็ยังขายลอดช่องสิงคโปร์อยู่จนถึงปัจจุบัน
ส่วนผสมทั่วไปของลอดช่องสิงคโปร์คือกะทิ แป้งปั้นเป็นรูปแท่งใส่สีเขียว โดยปกติมาจากใบเตย น้ำแข็งปั่นและน้ำตาลมะพร้าว ส่วนผสมเพิ่มอื่นๆได้แก่ ถั่วแดง ข้าวเหนียว เฉาก๊วย ในซุนดา ลอดช่องสิงคโปร์เป็นขนมทำจากแป้งหรือสาคูปั้นเป็นแท่ง กินกับกะทิและน้ำเชื่อมจากน้ำตาลของต้นหมาก ไม่ใส่น้ำแข็ง ในภาษาชวา เชนดอล หมายถึงส่วนที่เป็นแป้งสีเขียวเท่านั้น ถ้านำเชนดอลมารวมกับน้ำตาลมะพร้าว และกะทิจะเรียกดาเวต ดาเวตที่นิยมมากที่สุดคือ เอส ดาเวตในชวากลาง ด้วยอิทธิพลจากสิงคโปร์ และอาหารตะวันตก ทำให้มีลอดช่องสิงคโปร์รูปแบบแปลกๆ เช่น กินกับไอศกรีมวานิลลาหรือทุเรียน
เชนดอลเป็นขนมที่นิยมทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิยมขายทั้งในศูนย์อาหาร ข้างถนนและที่อื่นๆ ลอดช่องสิงคโปร์หรือดาเวตดั้งเดิมไม่กินกับน้ำแข็ง แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำให้มีเซนดอลเย็นกินกับน้ำแข็ง (เอส เซอรัต) เป็นไปได้ว่าในแต่ละประเทศมีสูตรเฉพาะของตนเอง โดยเฉพาะเมืองเก่าของมาเลเซีย เช่น มะละกา ปีนัง และกัวลาลัมเปอร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น