.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ม.ม้าคึกคัก




นานาสัตว์ในสำนวนไทย ม.ม้าคึกคัก



มีการนำกิริยาที่ไม่น่าดูมาเทียบกับม้าอีกอย่างหนึ่ง คือ หน้าเป็นม้าหมากรุก เป็นการนำเอาตัวหมากที่ใช้ในการเล่นหมากรุก ซึ่งแกะเป็นรูปส่วนหัวของม้าขดงอให้อยู่ในท่าเหมาะที่จะเป็นตัวหมาก ดูลักษณะเป็นม้าหน้างอจึงเปรียบคนที่โกรธและทำอาการหน้างอว่า “หน้าเป็นม้าหมากรุก” ใช้ได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง สำนวนเกี่ยวกับม้าที่มาจากการเล่นหมากรุกอีกสำนวนหนึ่งคือ “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” การเล่นหมากรุกคล้ายการจำลองการสู้รบมาแข่งขันกันบนกระดานที่ตีเป็นตารางใช้ตัวหมากที่จำลองมาจากสิ่งหลักๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ เช่น ตัวขุน ตัวม้า ตัวเรือ เป็นต้น หมากแต่ละตัวมีวิธีการเดินที่แตกต่างกัน เช่น ตัวม้าเดินทะแยง ส่วนเรือเดินตายาวไปได้จนสุดกระดาน ในขณะเล่นหมากรุกถ้าไม่สังเกตตาซึ่งตัวม้าหรือตัวเรือที่อีกฝ่ายหนึ่งเดินให้ดีเสียก่อน เดินหมากของตนในถูกตาที่ตัวม้าหรือตัวเรือของฝ่ายตรงข้ามสกัดอยู่ ก็ต้องเสียตัวหมากของตนไป การเล่นหมากรุกจึงต้องดูตาม้าตาเรือของกันและกันให้ดี จึงเกิดเป็นสำนวน “ดูตาม้าตาเรือ” หมายถึง ต้องสังเกตระมัดระวังพินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อนที่จะทำสิ่งใด และขยายความไปถึงการพูดด้วย หากไม่ระมัดระวังคำพูดอาจพลาดพลั้งได้สำนวนนี้ใช้ได้ทั้งกรณีเตือนให้ดูตาม้าตาเรือและในกรณีของการกล่าวว่า “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” ก็ได้


ม้าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในสนามรบ สนามแข่งขัน ผู้อยู่บนหลังม้าจะใช้อาวุธ เช่น ดาบ ทวน ต่อสู้กันเป็นเพลงในพจนานุกรมให้ความหมายของเพลงไว้อย่างหนึ่งว่ากระบวนวิธีระดาบรำทวน กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาไทยได้ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่าเรื่องกระบวนรบที่นับเป็นเพลงหนึ่งเพลงนั้นกำหนดได้หลายแบบ เช่น อาจเป็นการที่ฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธตีแทงหรือฟันลงไปทีหนึ่งและอีกผ่ายรับถือเป็นเพลงหนึ่งเพลง หรืออาจมีการกดอาวุธผลัดกันพลิกไปมาแล้วแต่ใครจะมีกำลังข้อดีกว่ากัน ในขณะรบใครตี ฟัน แทง ได้ครั้งหนึ่งก็นับเป็นเพลงหนึ่ง คู่ต่อสู้ที่มีฝีมืออาจรบกันเป็นร้อยเพลง แต่ผู้ไร้ฝีมือจะสู้กันเพียงสองสามเพลงก็ถูกฟันถูกแทงตกจากหลังม้า จึงเกิดสำนวนว่า “สองเพลงตกม้าตาย” หรือ “สามเพลงตกม้าตาย” หมายความว่า แพ้งาย สู้กัน ประเดี๋ยวประด๋าวก็แพ้เสียแล้ว เป็นการต่อสู้ที่แพ้เร็วยุติเร็วไม่ยืดเยื้อ


ยังมีสำนวนสั้น ๆ เกี่ยวกับม้าอยู่อีกสองสามสำนวนคือ “หน้าม้า” ซึ่งเป็นคนละสำนวนกับ “หน้าเป็นม้าหมากรุก” หน้าม้า หมายถึง ผู้แสร้งแสดงอาการชื่นชอบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกคล้อยตาม ทำหน้าที่คล้ายนายหน้าในธุรกิจต่าง ๆ ใช้ในความหมายไม่ค่อยดีนัก อีกสำนวนหนึ่งคือ “ม้าอารี” หมายถึง ผุ้ที่ใจดีช่วยเหลือผู้อื่นจนตนเองได้รับความเดือดร้อน ส่วนสำนวน “ม้าเร็ว “ หมายถึง คนส่งข่าว ในสมัยโบราณมักใช้ม้าเร็วในการส่งข่าวเกี่ยวกับการศึก และอีกสำนวนหนึ่งคือ “ม้าใช้” หมายถึง คนรับใช้ มักใช้ในความหมายไม่ดีนัก


สำนวนว่า “ปล่อยม้าอุปการ” ที่มีมาวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ภาคปลาย เมื่อพระมงกุฎโอรสของพระรามกับนางสีดา และพระลบกุมารที่ฤาษีชุบขึ้นมา ทั้งสองพากันไปลองยิงศร โดยยิงต้นรังใหญ่ล้มลงเกิดเสียงดังสนั่น พระรามได้ยินก็เข้าใจว่าจะมีผู้มาแข่งฤทธิ์ด้วยโหรแนะนำให้พระรามปล่อยม้าอุปการ โดยแขวนกล่องพระราชสารไว้ที่คอม้าปล่อยม้าให้วิ่งไปและให้หนุมานซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาอนุชิตพร้อมทั้งพระพรตและพระสัตรุดสะกดรอยตามไป ข้อความในพระราชสารเขียนไว้ว่า นี้เป็นของพระรามหากใครพบและจงรักภักดีต่อพระราม ก็ให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาแต่ถ้าใครบังอาจขึ้นข้าก็ให้สะกดรอยตามจับมาประหารเสีย สำนวนปล่อยม้าอุปการ จึงหมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้คนออกเที่ยวพาลหาเรื่องหรือก่อให้เกิดเรื่องเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น