.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อยากรู้ไหมพยัญชนะตัว ซ ซ่อนอะไรไว้บ้าง



อยากรู้ไหมพยัญชนะตัว ซ ซ่อนอะไรไว้บ้าง

ซ โซ่ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๑ ของไทย แม้จะมีคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวนี้ไม่มากนัก แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย 
ซ เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กดของคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น ผ้ากอซ เป็นต้น ซ ตัวแรกที่แนะนำ น่าจะทำให้หลายคนรู้สึกมีความหวัง และเพิ่มกำลังใจให้ไม่น้อย นั่นคือ เซียมซี อันหมายถึง ใบทำนายโชคชะตาราศีตามศาลเจ้าหรือวัด ซึ่งจะมีเลขกำกับเพื่อเทียบกับหมายเลขในติ้วที่เสี่ยงทายได้ เช่น ใบที่หนึ่งพึงทราบอย่าสงสัย หมายสิ่งใดได้สมอารมณ์หวัง คงสำเร็จแน่ชัดเป็นสัจจัง จะพร้อมพรั่งอุปถัมภ์บำรุงตน แต่นานหน่อยจึงจะค่อยสมอารมณ์คิด ทั้งญาติมิตรเป็นสุขทุกแห่งหน ฯลฯ และใครก็ตามที่มีอายุครบ ๕ รอบนักษัตร คือ อายุ ๖๐ปีบริบูรณ์ตามคติของจีน เขาจะเรียกการทำบุญวันเกิดนั้นว่า ทำบุญ แซยิด ซึ่งสมัยก่อนถือเป็นงานใหญ่ที่เป็นมงคล ลูกหลานญาติมิตรจะมาร่วมแสดงความยินดีมากมาย เพราะในยุคที่วิทยาการไม่ก้าวหน้า คนที่จะมีอายุยืนยาวมาถึง ๖๐ ปีมีไม่มากนัก จึงถือว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่มาถึงวัยนี้ได้เป็นคนมีบุญ
และถ้าคุณไปภาคอีสานกินอาหาร แล้วถูกถามว่า แซบบ่? นั่นหมายถึง เขาถามคุณว่า อร่อย ไหม? ถ้าคุณตอบว่า แซบ ก็แปลว่า อร่อย แต่ถ้าคุณ เซ่อซ่า คือ เขลาเพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่รอบคอบ หรือเล่อล่า ไปสั่ง ซุบ ที่เป็นอาหารอีสาน คล้ายพวกยำโดยเรียกชื่อตามสิ่งที่นำมาประกอบเป็นหลัก อย่าง ซุบหน่อไม้ ซุบเห็ด กินแล้วเผ็ดก็อาจเกิดอาการเหงื่อ โซก คือ เปียกมากจนไหลอาบไปทั่ว จนต้องทำเสียง ซูดซาด อันเป็นเสียงของคนที่กินของเผ็ดเข้าไปก็ได้ แต่ถ้าเป็น ซุป ในภาษาอังกฤษ ( soup ) จะหมายถึง อาหารน้ำอีกชนิดหนึ่ง ที่ต้มด้วยเนื้อสัตว์หรือผัก นอกจากนี้ทางภาคอีสานยังมีแกงอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ซั้ว ที่ต้มด้วยผักหลายชนิดให้สุกก่อน แล้วจึงนำมาหั่นหรือฉีกเป็นชิ้นเล็กๆใส่ในหม้อต้มใหม่พร้อมกับเครื่องปรุงประสมปลาร้า เช่น ซั้วกบ ซั้วไก่

นอกเหนือไปจากอาหารอีสานแล้ว ขนมที่ขึ้นต้นด้วย ซ ยังได้แก่ ซาลาเปา ที่เรารู้จักกันดี เป็นขนมชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งสาลี ปั้นเป็นลูกกลมๆ ข้างในมีไส้ มีทั้งแบบหวานและเค็ม ถ้าถูกใคร ซุบซิบ ที่แปลตรงๆว่า พูดกันเบาๆไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน ว่าหน้าเราเป็นซาลาเปา อย่าดีใจคิดว่าเขาชมว่า หน้าตาเราน่ากินล่ะ เพราะ ซุบซิบ แบบนี้ จะเป็นสแลงหมายถึง คำนินทา ว่าเราหน้าอ้วนกลมเกินไปแล้ว แต่ถ้าชวนไปกิน ซ่าหริ่ม หรือ ซาหริ่ม ที่เป็นขนมทำด้วยแป้งถั่วเขียว เป็นเส้นๆ มีหลายสี กินกับน้ำกะทิผสมน้ำเชื่อม ค่อยทำท่า ซาบซึ้ง คือ อาการที่รู้สึกจับใจอย่างลึกซื้ง หรือปิติปลาบปลื้ม และถ้าเขาจะ เซ้าซี้ คือพูดรบเร้าร่ำไรเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ ด้วยการเชิญเราไปกิน ซาวน้ำ อันหมายถึง เครื่องกินกับขนมจีนปนกันหลายสิ่ง มีกุ้งแห้งป่น กระเทียมซอย สับปะรด หรือส้มต่างๆ เป็นต้น มักกินกับแจงลอน ซึ่งเป็นปลาหรือเนื้อโขลกแล้วปั้นเป็นก้อนหรือแผ่นเคี่ยวกับน้ำกะทิ เรียกว่า ขนมจีนซาวน้ำ ก็อย่าช้าจนเกิดการ เซ็ง อันหมายถึง จืดชืด ที่มักใช้เรียกสิ่งที่ควรบริโภคหรือจัดทำในเวลาหนึ่ง แต่ทิ้งไว้นานเกินควรจนหมดรส หรืออาจหมายถึงอาการหมดความตื่นเต้น เฉยชาก็ได้

ส่วน ซ ที่เป็น สภาพหรืออาการต่างๆ ก็มีมาก เช่น ซก หรือ ซ่ก หมายถึง เปียกชุ่มจนถึงหยด ซด คือ อาการที่กินน้ำร้อน น้ำชา หรือน้ำแกงทีละเล็กละน้อย มักมีเสียงดังซู้ด ซน หมายถึง อาการที่อยู่ไม่สุข จับโน่นฉวยนี่ หรือเล่นไม่เป็นเรื่องเป็นราวจนทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ซ้น คือ อาการที่ข้อมือหรือข้อเท้าถูกกระแทกโดยแรงทำให้เคลื่อนเลยที่เดิมเข้าไป ซบ เป็นการเอาหน้าฟุบแนบลงไป แต่ถ้า ซบเซา จะหมายถึง เงียบเหงา ไม่เบิกบาน ไม่คึกคักเช่นเดิม ซม คือ อาการอย่างเป็นไข้ในระยะรุนแรงถึงกับนอนจนไม่อยากลืมตา ซมซาน หมายถึง กระเสือกกระสนไปอย่างสิ้นท่าหรือสิ้นคิด ส่วนคำว่า ซาว นอกจากจะหมายถึง จำนวนยี่สิบในภาคเหนือแล้ว ยังหมายถึง การเอาข้าวสารล้างน้ำด้วยวิธีใช้มือคนให้ทั่วเพื่อให้สะอาดก่อนหุงต้ม เรียกว่า ซาวข้าว โดยปริยาย ก็หมายถึงการล้างสิ่งอื่นด้วยวิธีการเช่นนั้น แต่ถ้า ซาวเสียง จะหมายถึงการลองพูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นหรือคนจำนวนมาก และ ซัด ก็คือ การสาดโดยแรง ถ้าถูก ซัดทอด จะหมายถึง ถูกอ้างถึง หรือเป็นการปรักปรำพาดพิงถึงคนอื่น และถ้าคนไทยเหนือตอบเราว่า เขาเกิดปี ชง้า (ชะง้า) ก็อย่าเพิ่ง ซึม (เหงาหงอย ไม่พูดไม่จา)เพราะแปลไม่ออกล่ะ เพราะคำนี้หมายถึง ปีมะเมีย หรือปีม้า นั่นเอง
สำหรับคนไทย ใช้นามสกุลมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ส่วนคนจีนจะเรียกสกุลวงศ์ของตนว่า แซ่ เช่น แซ่จู แซ่เบ๊ แซ่ตั้ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันลูกหลานจีนที่เกิดในไทย ได้เปลี่ยนจากแซ่ไปเป็นนามสกุลเกือบทั้งหมดแล้ว และมักจะนำแซ่มาเป็นคำขึ้นต้นนามสกุล เช่น จู เจริญ ตั้ง วานิช นอกจากนี้ คำว่า แซ่ ยังหมายถึง มีเสียงอื้ออึงจนฟังไม่ได้ศัพท์ หรือโจษกันแพร่หลาย เช่น เสียงดังเซ็งแซ่ แต่ถ้า แซ่ซ้อง จะมีความหมายว่าการเปล่งเสียงแสดงความนิยมยินดี หรือสรรเสริญไปทั่ว

และ ซ ยังเป็น คำขึ้นต้นของธาตุหลายชนิด เช่น ซิลิคอน ซีนอน ซีเซียม โซเดียม ส่วน แซ็กคาริน จะเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสารประกอบเคมีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผนึกสีขาว ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีความหวานประมาณ ๕๕๐ เท่าของน้ำตาลทราย แต่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร ทางการแพทย์ใช้แทนน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวานและคนที่อ้วนมาก
ส่วน ซ ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา ได้แก่ ซวย อันแปลว่า เคราะห์ร้าย อับโชค ซ่อง ซึ่งหมายถึงที่มั่วสุมชุมนุมกันอย่างลับๆ มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ซ่องโสเภณี ซ่องโจร ซ่อมซอ คือ ไม่โอ่โถง ขะมุกขะมอม ซุ่มซ่าม คือ กิริยาที่กระทำไปโดยไม่ใช้ความระมัดระวังหรือไม่ถูกกาละเทศ ซังกะตาย คือ ไม่เต็มใจ ฝืนใจ ทำอย่างเสียไม่ได้ และ ซิฟิลิส คือ กามโรคชนิดหนึ่ง

ที่ว่าข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำต่างๆที่ขึ้นด้วยพยัญชนะตัว ซ ซึ่งได้ซ่อนความหมายต่างๆไว้มากมาย ก็หวังเท่าที่ ซอกแซก คือ ดั้นด้นไปทุกซอกทุกมุม หรือเสาะค้นขึ้นมาถามแม้ในเรื่องที่ไม่น่าถาม คงจะทำให้ท่านได้ ซักซ้อม คือ สอบให้แม่นยำ สอบให้คล่องโดยไม่ต้อง ซักไซ้ ไต่ถามไล่เลียงให้ถี่ถ้วน จนเกิดอาการ ซาบซ่าน คือ แล่นไปทั่วร่างกาย จนต้องหา ซ่าโบะ คือผ้าห่ม มาพันหรือเกิดการ แซดๆ คือ อาการที่เซส่ายไปมาทรงไม่อยู่ จนต้องกิน โซดา คือ น้ำที่เจือด้วยโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต แต่หยิบผิดเป็น ไซยาไนต์ คือ เกลือปรกติของกรดไฮโดรไซยานิก เช่น โพแทสเซียมไซยาไนต์ ( KCN ) ซึ่งเกลือไซยาไนต์ทั้งหมดเป็นพิษอย่างร้ายแรง แล้วเกิดอาการหัวหมุนเป็นพายุ ไซโคลน หรือ โซซัดโซเซ คือ เที่ยวเร่ร่อนไปมาด้วยความอดอยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น