ชื่อนี้มีที่มา ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ปัจจุบันเรียกสั้นๆจนเหลือแค่คำว่า ผัดไทย เป็นอาหารที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม บริหารประเทศ (จอมพลป. เป็นนายกรัฐมนตรี 8 สมัย ตั้งแต่ปี 2481 - 2500) ยุคนั้น มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม"หลายอย่าง เพื่อปลุกระดม "ลัทธิชาตินิยม" ในหมู่ข้าราชการและประชาชนอย่างกว้างขวาง มีความพยายามที่จะให้คนไทย "รักเมืองไทย ชูชาติไทย" "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" ออกระเบียบสำหรับประชาชนชาวไทยปฏิบัติให้ดูเป็น อารยชน เช่น การห้ามกินหมาก การแต่งกายให้สวมหมวก จนถูกเรียกว่าเป็น ยุคมาลานำไทยสู่มหาอำนาจ ฯลฯ รัฐบาลได้ผลักดันและชักจูงให้บรรดาแม่บ้าน และภริยาของข้าราชการรู้จักทำการค้า และการทำมาหากิน (แข่งกับคนจีน) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ท่านผู้นำ จอมพลป. ก็ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองไทยซึ่งแต่เดิมนั้น เรียกกันว่า ประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย เมื่อมีชาติไทยแล้วต้องมีอาหารประจำชาติ อาหารที่เป็นเส้น ๆ นั้นถูกมองว่าเป็นจีนไปหมด ทั้งก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ แม้แต่ขนมจีนยังเป็นจีน จึงได้มีการคิดค้นสูตรก๋วยเตี๋ยวผัดขึ้นใหม่ ให้มี "ความเป็นไทย" "ผัดไทย" เกิดขึ้น จะต้องมีลักษณะผัดให้ต่างจากจีน คือ แม้ว่าจะใช้ก๋วยเตี๋ยวเป็นตัวยืน แต่เลือกที่จะใช้เส้นจันทบูร ให้แตกต่างไปจากก๋วยเตี๋ยวแบบจีนโดยทั่วไป แทนที่จะใส่หมู ใส่กุ้งแห้งแทน เต้าหู้เหลือง มะนาว ใบกระเทียม หัวปลีและถั่วงอก รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกินเองภายในครอบครัวร่วมกับผักสวนครัวอื่น ๆ ดังคำโฆษณาที่ว่า "เพาะถั่วงอกขายเพื่อนบ้านเท่านั้นหมดจน" บางคนอาจสงสัยว่า ประเทศไทยก็เป็นดินแดนที่ผลิตข้าว คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักกันมานมนานเหตุใดถึงต้องคิดอาหารประจำชาติที่เป็นก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาใหม่แทนจะเป็นข้าวราดแกงหรือข้าวผัด ฯลฯ คำตอบที่บอกกันมาคือ หลังสงคราม เกิดภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ จอมพล ป.ติดอยู่ที่พระที่นั่งอานันตสมาคมจนเลยเวลาอาหารเที่ยง พอดีมีเรือขายก๋วยเตี๋ยวผ่านมา เจ้าหน้าที่เลยได้ก๋วยเตี๋ยวให้ท่านรับประทาน ทำให้ท่านเกิดปิ๊งไอเดียเรื่องก๋วยเตี๋ยวแบบไทย ๆ ขึ้นมา ช่วงหลังสงครามยุติลง ไทยต้องทำความตกลงกับอังกฤษหลายประการ หนึ่งในข้อตกลงเหล่านั้นคือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้อังกฤษเป็นข้าวจำนวน 1.5 ล้านตัน สภาพการณ์ กำลังและกรรมวิธีการผลิตข้าวจำนวนมหาศาลในเวลานั้น น่าจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการขาดแคลนข้าวที่จะบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าวหักแทน
ท่านนายกฯ เห็นว่าหากประชาชน หันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการแก้ไข เศรษฐกิจของชาติ เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของท่าน นายกฯ ในสมัยนั้นว่า"อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน"ยังได้ให้กรมประชาสัมพันธ์ ทำตำราก๋วยเตี๋ยวผัดไทยแจกด้วย ด้วยนโยบายของรัฐบาล "ผัดไทย" ก็เริ่มกลายเป็นอาหารสำคัญขึ้นมา และยิ่งเมื่อมีการเติบโตทางการท่องเที่ยวนับตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๖๐ รวมทั้งการที่มีทหารอเมริกันและคนอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ผนวกกับการที่คนไทยไปอยู่ต่างแดน และเปิดร้านอาหารไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ "ผัดไทย" กลายเป็นอาหารที่รู้จักกันในระดับสากล แพร่หลายไปทั่ว รวมทั้งมีการดัดแปลงสูตรไปในรูปแบบต่างๆ นานา เช่น ใส่กุ้งสด หรือการใช้น้ำมะขามเปียก เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น