.
วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
คลองมหานาค/คลองผดุงกรุงเกษม
คลองมหานาค
"คลองมหานาค" ชื่อนี้เป็นคลองที่มีอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นคลองที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของทหารไทย เพราะถูกขุดขึ้นใน พ.ศ.2092 รัชสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยขณะนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พม่า ได้นำกองทัพใหญ่บุกเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ชาวไทยทุกคนจึงพร้อมใจกันอาสามาช่วยชาติ ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุอย่าง "พระมหานาค" แห่งวัดภูเขาทอง ก็ยังช่วยเกณฑ์ญาติโยมมาช่วยกันขุดคูน้ำติดกับทุ่งลุมพลี บริเวณชานพระนคร เพื่อกั้นกองทัพพม่า คูน้ำนี้ภายหลังจึงได้ชื่อว่า "คลองมหานาค" หลังจากที่บ้านเมืองสงบลง คลองมหานาคนี้ก็กลายมาเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนิยมมาเล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำหลาก
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี มีพระราชดำริว่าจะทำให้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้วางผังเมืองและสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ โดยลอกมาจากผังของกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๓๒๖ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายหนึ่งแยกออกจากคูเมืองทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันเรียกว่า "คลองรอบกรุง") โดยขุดแยกออกที่เหนือวัดสะแก (ปัจจุบันคือวัดสระเกศ) เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออก แล้วพระราชทานนามตามคลองเก่าในกรุงศรีอยุธยาว่า "คลองมหานาค" กับมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่เล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำหลากเหมือนเช่นเคยทำกันในอดีต ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งริมคลองมหานาค ให้เหมือนกับเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเรียกว่า "เจดีย์ภูเขาทอง" เช่นเดียวกัน
บริเวณปากคลองมหานาคเหนือวัดสะแก นอกจากจะมี "ป้อมมหากาฬ" ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นสัญลักษณ์แล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สะพานมหาดไทยอุทิศ" (สะพานร้องไห้) ต่อจากรัชกาลก่อนจนแล้วเสร็จอีกสิ่งหนึ่งด้วย
คลองมหานาคนี้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำอันสำคัญของคนกรุงเทพมหานครในสมัยก่อน เพราะสามารถเชื่อมต่อคลองรอบกรุงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเชื่อมคลองแสนแสบที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไปได้ไกลถึงแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเลยทีเดียว บริเวณคลองมหานาคจึงกลายเป็นจุดค้าขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ เรียกว่า "ตลาดมหานาค" ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นตลาดค้าผลไม้ที่สำคัญ มีรถบรรทุกสินค้ามาลงเป็นจำนวนมากในยามค่ำคืน
ปัจจุบันคลองมหานาคที่กรุงเทพมหานครมีจุดเริ่มต้นด้านทิศตะวันตกโดยแยกออกจากคลองรอบกรุงที่สะพานมหาดไทยอุทิศ (สะพานร้องไห้) ตรงไปทางทิศตะวันออกจนบรรจบกับคลองแสนแสบที่สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ รวมความยาวประมาณ ๑.๓ กิโลเมตร
คลองผดุงกรุงเกษม
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า จากเอกสารที่เขียนโดย เซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ในหนังสือราชอาณาจักรและพลเมืองสยามว่า มีประชากรประมาณ ๖ ล้านคน (รอง ศยามานนท์ ๒๕๒๕ : ๓๐๕) เป็นผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางน้ำหรือทางบก และภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีแบบเบาริง พ.ศ. ๒๓๙๘เป็นต้นมา สถานกงสุลต่าง ๆ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการติดต่อหรือเดินทางสัญจร ไปมาระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของ การคมนาคม จึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้น ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ๒๕๐๔ : ๗๐ อ้างถึงใน รอง ศยามานนท์ ๒๕๒๕ : ๓๐๘) ความว่า
“... ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากกว่าเมื่อแรกสร จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นกงสี จ้างจีนขุดคลองคูพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง ปากคลองข้างทิศใต้ออกไปริมวัดแก้วฟ้า ปากคลองข้างทิศเหนือออกไปริมวัดเทวราชกุญชร เป็นแนวขนานกับคลองรอบกรุง ซึ่งขุดไว้ครั้งรัชกาลที่ ๑ คลอง กว้าง ๑๐ วา ลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วา สิ้นค่าใช้จ่าย ๓๙๑ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ๑ เฟื้อง...”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามคลองที่ขุดขึ้นว่า คลองผดุงกรุงเกษม นับเป็นคลองที่สำคัญ เป็นคลองที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาหล่อเลี้ยงพื้นที่สองฟากคลอง ทำให้เหมาะแก่การทำสวนยิ่งขึ้น และอาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ขยายพื้นที่ออกไป มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือประมาณ ๕,๕๕๒ไร่ (กรมศิลปากร ๒๕๒๕ : ๕๗) บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่นอกเมืองของประชาชน และเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระนคร อย่างไรก็ดีหลังจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการคมนาคมทางเรือ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น