.
วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ภาษิต สำนวน เรื่องหมา น่าชวนคิด
ภาษิต สำนวน เรื่องหมา น่าชวนคิด
สุนัข หรือ หมา เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดแรกของมนุษย์ และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับมนุษย์มากที่สุด ดังนั้น ลักษณะหรืออุปนิสัยต่างๆของมันจึงถูกนำมาเปรียบเทียบให้เห็นในภาษิต สำนวน หรือคำพังเพยต่างๆอยู่เสมอ เมื่อเราพูดถึงหมา คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าของ รู้สึกว่าหมาเป็นเสมือนเพื่อนสนิท แม้จะพูดไม่ได้ แต่มันก็สามารถส่งผ่านความรู้สึกมาสู่ผู้เป็นเจ้าของได้ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า คำเปรียบเปรยพฤติกรรมของคนกับหมา มักจะออกมาในทางลบมากกว่าบวก และหากใครถูกด่า หรือประชดประชันว่าเป็นหมา หรือมีพฤติกรรมแบบหมา ก็มักจะโกรธ เพราะรู้สึกว่า ถูกดูถูกเหยียดหยาม และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยยอมกัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับความหมายของภาษิต สำนวน และคำพังเพยเสียก่อน ทั้งคำว่าภาษิต สำนวน และคำพังเพย ล้วนหมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน แต่ถ้าเป็น “ ภาษิต ” จะหมายถึง ถ้อยคำที่มีความหมายเป็นคติ เช่น กงเกวียนกำเกวียน ส่วน “ สำนวน ” หมายถึง ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง และ “ คำพังเพย ” จะหมายถึง ถ้อยคำที่กล่าวเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม เป็นต้น สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับ “ หมา ” ได้แก่
-หมาจนตรอก เป็นสำนวน หมายถึง คนที่ฮึดสู้อย่างสุดชีวิต เพราะจวนตัว และไม่มีทางหนีหรือหลบเลี่ยงต่อไปได้แล้ว เช่น ขโมยที่ถูกตำรวจล้อมจับ แล้วจนมุมไม่มีทางหนี จึงยิงต่อสู้แบบหมาจนตรอก ในที่สุดก็ถูกยิงตาย สำนวนนี้นำมาจากลักษณะของหมา ซึ่งส่วนมากเป็นหมาจรจัด เมื่อไปกินของชาวบ้าน แล้วถูกไล่ตีไปจนสุดตรอก มันไม่มีทางหนีต่อไปได้แล้ว มันก็จะหันกลับมาสู้แทน ดังนั้น เขาจึงเปรียบกับคนที่ตกอยู่ในสภาวะคับขัน เสี่ยงอันตรายจนไม่มีทางหลีกเลี่ยง หรือหลบหนีต่อไปได้แล้ว ต้องหันกลับมาสู้อย่างเต็มที่เพื่อป้องกันตัวเอง และเอาตัวรอด แม้จะไม่อยากทำก็ตามจะเรียกว่าสถานการณ์บังคับก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่หรือคนโบราณจึงมักสอนลูกหลานว่าอย่าไปเอารัดเอาเปรียบ หรือทำร้ายร่างกาย/จิตใจใคร กระทั่งเขาอับจนหนทาง หรือทนไม่ไหว เพราะถึงที่สุดแล้ว คนๆนั้น จากที่เคยหงอ กลัวเราก็อาจจะฮึดสู้ เพราะมันเหลืออดเหลือทนอีกต่อไปแล้ว และแม้แต่การตีหมา ไล่หมาจริงๆก็ตาม ก็ต้องเหลือทางให้มันได้หนีบ้าง มิฉะนั้น จะกลายเป็นเราเองที่ตกอยู่ในอันตรายแทน
-หมากัด อย่ากัดตอบ เป็นภาษิต หมายถึง อย่าลดตัวลงไปต่อสู้หรือต่อปากต่อคำกับคนพาลหรือคนที่มีศักดิ์ต่ำกว่า หรือ หากคนพาล คนไม่ดีมาด่าว่าหรือทำร้าย ก็ไม่ควรโต้ตอบกลับ เช่น คนขี้เหล้า มาขอเงิน แล้วเราไม่ให้ เขาก็มาด่าเราอย่างสาดเสียเทเสีย เราก็ถือเสียว่า หมากัด อย่ากัดตอบ เป็นการสอนเรา โดยเปรียบหมาว่าเป็นเช่นคนพาล หรือคนไม่ดี ถ้าคนเช่นนี้มาหาเรื่องกับเรา เราก็ไม่ควรไปตอแยหรือมีเรื่องด้วย เพราะทำไปก็มีแต่เสียมากขึ้น และโดยธรรมชาติของคน ก็คงจะไม่ไปกัดกับสัตว์ ซึ่งเราถือว่าอยู่ต่ำกว่าเราอยู่แล้ว และถ้าทำจริง ก็คงเป็น “ ข่าว ” แน่ เพราะหลักของข่าว กล่าวว่า “ หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาเป็นข่าว ” เนื่องจากมันผิดธรรมชาติ เป็นเรื่องแปลก แต่แปลกแบบนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเป็น เพราะน่าอาย มากกว่าดี ดังนั้น เขาถึงสอนมิให้มีเรื่องกับคนพาล คนไม่ดี เพราะยิ่งมีเรื่อง ยิ่งมีแต่เรื่องเสียหายเพิ่มขึ้น สู้หลีกเลี่ยงไปเสียจะดีกว่า ถือคติที่ว่า เสียน้อย ดีกว่าเสียมาก
-หมาขี้ไม่มีใครยกหาง เป็นคำพังเพย หมายถึง คนที่ชอบยกยอตัวเอง หรือคุยโอ้อวด เช่น นาย ข.เที่ยวบอกกับคนอื่นว่าตัวเองเป็นคนทำโครงนี้จนประสบความสำเร็จ เพราะจบด๊อกเตอร์มาทางนั้น คนเขาก็อาจจะว่า โธ่เอ้ย ! หมาขี้ไม่มีใครยกหาง คล้ายว่า นายข.ขี้คุย เพราะจริงๆแล้ว ลูกน้องของนายข.ช่วยกันทำจนสำเร็จต่างหาก นั่นคือ เป็นการนำธรรมชาติของหมาที่เวลามันจะขี้ มันจะยกหางตัวเองขึ้น โดยไม่มีใครต้องช่วยมันยก เขาจึงนำมาเปรียบกับคนที่มีดีหรือมีความสามารถจริง ว่าเขาไม่ต้องโอ้อวดว่าเขาเก่งจริง ทำจริงหรอก เพราะใครเก่งจริง คนเขาก็รู้เอง มีแต่คนที่ชอบยกยอตัวเอง เพราะไม่ดีจริง ไม่เก่งจริงเท่านั้นแหละ ที่ต้องโอ้อวด เพื่อให้คนอื่นเขารู้
-หมาถูกน้ำร้อน เป็นสำนวน หมายถึง คนที่มีความเดือดร้อน กระวนกระวาย วิ่งพล่านไปหาที่พึ่งต่างๆ เช่น นางค.วิ่งพล่านเป็นหมาถูกน้ำร้อน เพราะบ้านกำลังจะถูกยึด เป็นการเปรียบเทียบคนกับอาการของหมาเมื่อถูกน้ำร้อนลวก เนื่องจากสมัยก่อนบ้านเรือนไทย มักมีใต้ถุนสูง และหมาชอบไปขุดคุ้ยของกินใต้ถุนครัว บางครั้งไล่ไม่ไป คนรำคาญก็เลยเทน้ำร้อนราดลงไป หรือบางทีหมากัดกัน คนจะแยกหมา ก็สาดน้ำร้อนเข้าใส่ หมาที่ถูกน้ำร้อนสาดหรือลวกก็จะปวดแสบปวดร้อน จึงร้องเสียงดังและวิ่งพล่านไปมาด้วยความเจ็บปวด เขาจึงนำมาเปรียบกับคนที่ประสบความเดือดร้อน ว่ามีลักษณะต้องวิ่งวุ่นวายดังกล่าว
-เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด เป็นภาษิต หมายถึง การทำตามหรือประพฤติเลียนแบบผู้ใหญ่จะปลอดภัย ไม่ผิดพลาด เช่น ครูเขาสอนให้ทำสิ่งใด ก็ควรทำตาม เพราะเดินตามผู้ใหญ่ หมาย่อมไม่กัด ภาษิตนี้เป็นการเปรียบให้เราเห็นว่า หากเราเดินตามหลังผู้ใหญ่แล้ว หมามักจะไม่กัดเรา ทั้งนี้ เนื่องจากหมาอาจจะกลัวผู้ใหญ่ที่มีอาวุธที่จะไล่ตีมัน หากมันจะเข้ามาใกล้ หรือหมาอาจจะคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ จึงไม่กัดเราที่มากับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คือเป็นการสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน และมีมากกว่า ดังนั้น จึงสามารถให้คำแนะนำสั่งสอนที่เป็นประโยชน์ต่อเราได้ และช่วยให้เราไม่ต้องไปลองผิดลองถูกใหม่ เพราะท่านทำมาแล้ว
-ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ เป็นคำพังเพย หมายถึง ถ้าไม่มีอะไรเป็นเค้ามูลอยู่ ก็ย่อมไม่มีเรื่องเกิดขึ้น เช่น ที่เขาลือว่านาง ร.เป็นเมียน้อยนาย ฉ.น่าจะจริง เพราะไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้หรอก คำพังเพยนี้มาจากธรรมชาติอีกอย่างของหมาที่ชอบขี้ในบริเวณที่สกปรก หรือมีขยะมูลฝอย หากเป็นที่สะอาด มันมักไม่ไปขี้ ดังนั้น เขาจึงเปรียบ “ มูลฝอย ” กับ เค้ามูลที่น่าจะมีอยู่จริงหรือมีอยู่ก่อน ส่วน “ หมาขี้ ” ก็เปรียบกับเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้น สำนวนนี้จึงมีความหมายว่า เรื่องที่เกิดขึ้น หรือที่คนเขาพูดกันอยู่นั้น น่าจะต้องมีเค้ามูลอยู่บ้าง หาไม่แล้วคนคงไม่เอามาพูดกัน (ส่วนข้อเท็จจริงจะจริงหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป) ซึ่งสำนวนนี้ บางทีก็พูดกันเต็มๆว่า “ ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้ ไม่มีหนี้ เขาก็ไม่ทวง ”
-หมาหยอกไก่ เป็นสำนวน ที่เรียก อาการที่ชายหยอกล้อหญิงในทำนองชู้สาวเป็นทีเล่นทีจริง ตัวอย่าง เช่น หัวหน้า จ. ทำหมาหยอกไก่ กับเสมียน ส.อยู่เป็นประจำ สำนวนนี้ก็มาจากธรรมชาติของหมา ที่เห็นไก่ทีไร ก็มักจะเข้าไปหยอกล้อ ไล่กัดไก่เล่นๆเพื่อความสนุกของมัน ดังนั้น เขาจึงเปรียบผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ว่าเหมือน หมา มาทำหยอกล้อกับเด็กผู้หญิงรุ่นสาวที่เปรียบเหมือน ไก่ เป็นทีเล่นทีจริง ด้วยการจับไม้จับมือในเชิงผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก แต่จริงๆแล้วก็แฝงเจตนาไม่ค่อยบริสุทธิ์นัก ซึ่งเป็นลักษณะที่เราพบเห็นได้บ่อยในสถานที่ทำงาน ที่มีเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่เจ้าชู้ แต่ปัจจุบัน หมา ที่ชอบหยอก ไก่ ควรจะสังวรไว้ เพราะอาจจะเจอ ไก่ที่เป็นไข้หวัดนก ที่อาจจะทำให้หมาถึงตายด้วยไวรัส (การฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือฟ้องทางสายด่วนที่รัฐบาลเปิดขึ้นได้)
-หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว เป็นสำนวน หมายถึง การทำประชดหรือแดกดัน ที่ผู้ทำรังแต่จะเสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น คุณยกสมบัติให้เขาแบบนี้ เหมือนหุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว เขาก็ยิ่งชอบใจ เอาไปถลุงใช้เพลินไปเลย สำนวนนี้ มาจากความจริงที่ว่า โดยทั่วไปแล้วหมาชอบกินข้าว และแมวก็ชอบกินปลา ดังนั้น เมื่อหุงข้าวหรือปิ้งปลาให้ ทั้งหมาและแมวก็กินเพลิน มีความสุข แต่คนหุง คนปิ้งกลับเสียของเอง เปรียบเหมือนเราโกรธใคร แล้วให้ในสิ่งที่คนๆนั้นขอ เป็นการประชด ก็เท่ากับเข้าทางเขา และผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือ ตัวเราเอง เพราะไหนจะไม่หายโกรธแล้ว ยังต้องเสียของไปอีก เรียกว่าเป็นการประชด แดกดันอย่างไม่ถูกทาง และทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น
-หมาเดือนสิบสอง เป็นสำนวน เป็นคำค่อนขอด หรือแดกดันว่า ร่านในการประเวณี (ร่วมเพศ) ตัวอย่าง เช่น นางญ.ออกไปเที่ยวหาผู้ชาย ทำราวกับหมาเดือนสิบสอง สำนวนนี้มาจากการสังเกตธรรมชาติของหมาว่า มักจะติดสัด ผสมพันธุ์กันในเดือนสิบสอง ดังนั้น จึงนำมาเปรียบกับผู้ที่ชอบไปมาหาสู่กับเพศตรงข้ามอย่างขาดไม่ได้ว่า มีอาการเหมือนหมาเดือนนี้ ซึ่งใช้ว่าได้ทั้งหญิงและชาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น