๘ อักษร ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ และ ณ บอกอะไรบ้าง
หลังจากได้แนะนำคำต่างๆที่ขึ้นต้นด้วย ซ โซ่ ว่าซ่อนความหมายอย่างไรไปแล้ว ขอแจกแจงแถลงถึงเรื่องราวของอีก ๘ ตัวอักษร พยัญชนะของไทยให้ได้ทราบกันต่อไป ดังนี้
อักษรตัว ฌ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๒ ที่เป็นพวกอักษรต่ำ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คำเท่านั้นที่ใช้ตัวนี้นำหน้า ได้แก่ ฌาน (ชาน) หมายถึง ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่ เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์ หรืออาจจะหมายถึง ลักษณะการทำจิตให้สงบตามหลักทางศาสนาก็ได้ เช่น พระเข้าฌาน ฤษีเข้าฌาน แต่ถ้าเจอใครนั่งหลับหรือนั่งเหม่อใจลอย ไม่รับรู้อะไร เราก็มักจะเรียกล้อๆว่า เขากำลัง เข้าฌาน ส่วน เฌอ (เชอ) หมายถึง ไม้ หรือต้นไม้ และ เฌอเอม ก็หมายถึง ชะเอม ที่เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ที่เถามีรสหวาน และใช้ทำยาได้ ส่วน เฌอมาลย์ นางเอกของไทย ความหมายของชื่อ น่าจะหมายถึง นางไม้ ส่วน ฌ ที่คนไม่ค่อยชอบ ก็คงเป็น ฌาปนกิจ อันหมายถึง เผาศพ และ ฌาปนสถาน ที่หมายถึง ที่เผาศพ หรือที่ตั้งเมรุเผาศพ
สำหรับอักษร ญ นั้น เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๓ และเป็นพวกอักษรต่ำเช่นกัน ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน ในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ปั ญ ญา สั ญ ชาติ โคโล ญ เป็นต้น ซึ่งคำที่ขึ้นด้วย ญ ก็มีเพียงไม่กี่ตัวเช่นกัน คือ ญญ่าย (ยะย่าย) หมายถึง แตกจากหมู่ กระจัดกระจาย เช่น หนีญญ่ายพ่ายจแจ้น (จากจารึกสยาม) ญวน คือ ชนชาติและชื่อประเทศเวียดนามที่อยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญัตติ (ยัดติ)หมายถึง คำประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจกรรมของสงฆ์ร่วมกัน เช่น ญัตติทุติยกรรมวาจา หรือจะหมายถึง ข้อเสนอเพื่อลงมติ อย่างผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอความเห็นชอบ ก็ได้ นอกจากนี้ ยังหมายถึง หัวข้อโต้วาที ส่วนคำว่า ญาณ (ยาน /ยานะ) หมายถึง ความสามารถในการหยั่งรู้เป็นพิเศษ ถ้า ญาณทัสนะ (ยานะทัดสะนะหรือ ยานนะทัดสะนะ) หมายถึง ความรู้เห็น หรือ การเล็งเห็นไปในกาลข้างหน้าด้วยการอนุมานตามเหตุผลและความรู้ บางทีก็เรียกวิสัยทัศน์ ญาณวิทยา (ยานนะวิดทะยา) คือ ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยกำเนิดลักษณะและความถูกต้องแห่งความรู้ ตลอดจนวิธีหาความรู้ ( Epistemology ) ส่วน ญาณศาสตร์ (ยานนะสาด) ก็คือ วิชาพยากรณ์
นอกจากนี้ ก็ยังมีคำว่า ญาติ (ยาด) หมายถึง คนในวงงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ ส่วนคำว่า ญาติกา (ยาดติกา) หมายถึง ญาติ ถ้าพูดว่า ญาติดีกัน จะหมายถึง การคืนดีกัน ส่วน ญาติเภท (ยาติเพด) จะหมายถึง การแตกกันระหว่างญาติ ญาติสืบสายโลหิต เป็นคำที่ใช้ทางกฎหมาย หมายถึง ญาติที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด เช่น เป็นพี่น้องกัน ญาติธรรม หมายถึง กลุ่มผู้ร่วมนับถือในสิ่งเดียวกัน หรือความเชื่อเดียวกัน ญาติโกโหติกา เป็นภาษาพูด หมายถึง เหล่าเครือญาติ ญาติโยม เป็นคำที่พระเรียกอุบาสกอุบาสิกา ผู้มาร่วมทำบุญ ญาติมิตร หมายถึง ญาติและเพื่อนฝูง ถ้าเป็นคำสแลง จะหมายถึง ร่วมวงเล่นไพ่ ส่วนคำว่า ญิบ เป็นภาษาทางพายัพ หมายถึง สอง เช่น ญิบพัน แปลว่า สองพัน ญี่ เป็นคำภาษาโบราณ ที่ใช้เรียกลูกชายคนที่สองว่า ลูกญี่ คู่กับลูกหญิงคนที่สอง ว่า ลูกอี่ และ ญี่ปุ่น ก็คือ ชื่อประเทศและชนชาติหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกาะทางทิศตะวันออกของจีน ญาณี แปลว่า ผู้มีปัญญา ผู้มีความรู้ ญาดา ก็หมายถึง ผู้มีปัญญา หรือผู้มีความรู้เช่นกัน ญาณารณพ (ยานาระนบ)แปลว่า ทะเลแห่งความรู้ หมายถึง นักปราชญ์ หรือคนฉลาด เญยธรรม หรือ ไญยธรรม (เยยยะทำ หรือไยยะทำ) หมายถึง ธรรมที่ควรรู้
ส่วนอักษร ฎ นี้ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๔ ที่เป็นพวกอักษรกลาง ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กดในคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต เช่น มงกุ ฎ ก ฎ เป็นต้น คำที่ขึ้นต้นด้วย ฎ มีคำว่า ฎีกา ซึ่งมีหลายความหมาย ได้แก่ หมายถึง คำอธิบายขยายความ เช่น ฎีกาพาหุง เป็น ชื่อคัมภีร์หนังสือที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา หรือจะหมายถึง หนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อนิมนต์พระสงฆ์ก็ได้ ขณะเดียวกัน ฎีกายังหมายถึง ใบแจ้งการขอเบิกเงินจากคลัง ที่ผู้ทำราชการจะรู้จักกันดี และถ้าได้รับใบบอกบุญเรี่ยไร เราก็เรียก ใบฎีกา เช่นกัน แต่ถ้าทางกฎหมายจะหมายถึง คำร้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็น ศาลฎีกา หมายถึง ศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศไทย แต่ถ้าเป็นกริยา เช่น คดีนี้จะ ฎีกา หรือไม่ จะเป็นภาษาพูด หมายถึง ยื่นคำร้องขอหรือคำคัดค้านต่อศาลฎีกา ส่วน ฎีกาจารย์ คือ อาจารย์ผู้แต่งฎีกาหรืออาจารย์ผู้สอนหรืออธิบายอรรถ
พยัญชนะตัว ฏ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๕ ที่เป็นอักษรกลาง ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กดของคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเช่นกัน เช่น ปราก ฏ มกุ ฏ กษัตริยาราม เป็นต้น และเป็นพยัญชนะที่ไม่ปรากฏว่าเป็นตัวขึ้นต้นของคำใด
พยัญชนะตัว ฐ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๖ ของไทย เป็นพวกอักษรสูง ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กดของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น รั ฐ อั ฐ เป็นต้น ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว ฐ ได้แก่ ฐากูร (ถากูน) หมายถึง รูปเคารพ หรือเทพเจ้าที่นับถือ หรือใช้เสริมท้ายชื่อคนที่มีชื่อเสียง เช่น โควินทฐากูร (ชื่อผู้แต่งคัมภีร์กาพย์กลอน) ฐานียะ แปลว่า ควรแก่ตำแหน่ง หรือตั้งอยู่ในฐานะ มักประกอบท้ายศัพท์ เช่น ครูฐานียะ หมายถึง ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครู ฐายี แปลว่า ตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ มักใช้ประกอบท้ายศัพท์ ฐานปน (ถาปะนะ) หรือ ฐานปนา (ถาปะนา) หมายถึง การก่อสร้าง การแต่งตั้ง การซ่อมแซม การตั้งขึ้น ฐิติ (ถิติ) จะมีหลายความหมายได้แก่ การตั้งอยู่ การยืนอยู่ การดำรงอยู่ การเป็นไป ความมีชีวิตอยู่ การหยุดอยู่ ความมั่นคง ความอดทน ตำแหน่ง ที่อยู่ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และความแน่นอน
ส่วนคำว่า ฐาน ก็จะมีความหมายหลายอย่าง เช่นหมายถึง ที่ตั้ง หรือที่รองรับ เช่น ฐานทัพ ฐานพระพุทธรูป ฐานราก จะหมายถึง โครงสร้างตอนล่างสุดที่รองรับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ส่วน ฐานสิงห์ หมายถึง ฐานที่ทำเป็นรูปสิงห์แบก ถ้า ฐานะ (ถานะ)จะหมายถึง ตำแหน่งหน้าที่ ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม ฐานันดร หมายถึง ลำดับในการกำหนดชั้นบุคคลตามกำเนิด ฐานานุกรม เป็นลำดับตำแหน่งยศของพระสงฆ์ที่พระราชาคณะแต่งตั้ง ส่วนคำว่า ฐานานุรูป หมายถึง สมควรแก่ฐานะ ฐานานุศักดิ์ หมายถึง ตามควรแก่เกียรติศักดิ์ หรืออาจจะหมายถึงศักดิ์ที่พระราชาคณะมีอำนาจตั้งฐานานุกรมก็ได้ นอกจากนี้ ฐาน ในความหมายทางคณิตศาสตร์ ยังหมายถึง เส้นหรือพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นส่วนรองรับรูปเรขาคณิต เช่น ฐานสามเหลี่ยม ฐานของกรวย หรืออาจจะหมายถึง จำนวนที่ใช้เป็นหลักในการสร้างจำนวนอื่นๆโดยการยกกำลังหรือหาค่าของลอการิทึมได้ หรือคำว่า ฐาน จะแปลว่า เพราะ ก็ได้ เช่น เขาถูกทำโทษ ฐาน ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
พยัญชนะตัว ฑ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๗ ที่เป็นอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดแม่กดในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ษั ฑ (สัด) แปลว่า หก (๖) คำที่ขึ้นต้นด้วย ฑ นี้มี ฑังสะ (ตังสะ) มีความหมายว่า เหลือบ ฑาก (อ่านว่า ดากะ) หมายถึง ผักดอง หรือเมี่ยง ฑาหก (ทาหก) หมายถึง ผู้เผา คือ ไฟ ฑาหะ (ทาหะ) หมายถึง ความร้อนหรือไฟ
อักษร ฒ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๘ ที่เป็นพวกอักษรต่ำเช่นกัน ใช้เป็นตัวสะกดแม่กดในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น วั ฒ น์ วุ ฒิ เป็นต้น คำที่ขึ้นด้วยพยัญชนะตัวนี้ มีคำว่า เฒ่า หมายถึง แก่ มีอายุมาก แต่ถ้าพูดว่า เฒ่าแก่ จะหมายถึง ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายในของพระราชสำนัก หรือหมายถึงผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้นหมายก็ได้ บางแห่งก็ใช้ คำว่า เถ้าแก่ ส่วนคำว่า เฒ่าหัวงู จะหมายถึง คนแก่หรือคนมีอายุที่มีเล่ห์เหลี่ยม หรือกลอุบายหลอกเด็กหญิงในทางกามารมณ์ หรือจะหมายถึงคนแก่เจ้าเล่ห์ก็ได้ เฒ่าทารก หมายถึง คนแก่ที่ทำตัวเป็นเด็ก
และสุดท้าย ตัว ณ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๑๙ เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดแม่กนในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น คุ ณ บัณฑิ ต เป็นต้น คำที่ขึ้นต้นด้วย ณ ได้แก่ ณ (นะ) แปลว่า ใน หรือ ที่ เป็นคำบ่งเวลาหรือสถานที่ว่าตรงนั้นตรงนี้ เช่น คอนเสิร์ตเจ้าแม่กวนอิมพันมือ จัดแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถ้าใช้ นำหน้านามสกุล จะหมายความว่า แห่ง เช่น ณ อยุธยา ณ ระนอง ส่วนคำว่า ณรงค์ หมายถึง การต่อสู้ชิงชัย หรือแปลว่าการรบ การต่อสู้ก็ได้ (ตัดมาจากคำว่า รณรงค์) ส่วน เณร จะหมายถึง สามเณร เณรหน้าไฟ คือ สามเณรที่บวชเนื่องในพิธีเผาศพ เณรหางนาค คือ สามเณรที่บวชต่อท้ายพิธีบวชพระ ณัฐ หมายถึง นักปราชญ์ ผู้รู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น