นานาสัตว์ในสำนวนไทย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ
สำนวนไทยที่พูดถึงงูนั้นไม่ได้แยกไว้ว่าสำนวนไหนเป็นงูใหญ่หรืองูเล็ก จึงขอพูดถึงสำนวนที่เกี่ยวกับงูอย่างรวม ๆ กันไป สำนวนที่กล่าวถึงมะโรงมะเส็งโดยตรงคือ สำนวน “โกงมะโรงมะเส็ง” หรือ “ขี้โกงมะโรงมะเส็ง” กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาได้สันนิษฐานไว้ว่า สำนวนนี้ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้งกับปีมะโรงและปีมะเส็ง แต่น่าจะมาจากคำโบราณว่า “เกเรเร็งเส็ง” คำว่า “เร็ง” (ร-เรือสระเอะ-ง –งู) แปลว่าเร็วหรือถี่ คำว่า “เส็ง” แปลว่าพาลเกเรแกะกะ มีอีกคำหนึ่งที่คล้ายกันคือคำ “เส็งเคร็ง” แปลว่าเลว ไม่ดี คำว่า “เร็งเส็ง” อาจจะเป็นคำที่พูดกันมาแต่โบราณ หมายถึง เลว เมื่อนำมารวมกับคำ “เกเร” ก็เป็นคำว่า “เกเรเร็งเส็ง” หมายความว่า ประพฤติเกเร เลวมาก ต่อมาคำว่า “เร็งเส็ง” คงนำมาใช้ในความหมายว่า “โกง” ซึ่งมีเสียงคล้องจองกับคำว่า “โรง” ในคำว่า “ปีมะโรง” จึงกลายเป็นสำนวน “โกงมะโรงมะเส็ง” หมายถึงคดโกงกลับกลอกที่สุด
แม้งูบางชนิดจะไม่มีพิษ แต่ขึ้นชื่อว่างูแล้ว เรามักจัดมันอยู่ในพวกสัตว์อันตรายคนไทยชอบพูดซ้ำคำ บางครั้งซ้ำรูปคำ บางครั้งซ้ำความหมาย “เงี้ยว” หมายถึงงู เมื่อพูดถึงงูบางครั้งจึงพูดว่า “งูเงี้ยว” นอกจากนั้นเรายังพูดต่อด้วยถ้อยคำคล้องจองเป็นสำนวนว่า “งูเงี้ยวเขี้ยวขอ” หมายถึงสัตว์มีพิษเช่น งู เป็นต้น
การเล่นคำเล่นจังหวะและเล่นเสียงสัมผัส ยังมีปรากฎอีกสำนวนว่า “งูพิษมิตรคด” มิตร หมายถึงเพื่อน แต่บางครั้งเพื่อนก็คิดคดทรยศต่อเพื่อนได้ เพื่อนที่คิดคด จึงเปรียบเสมือนงูพิษ สำนวนว่างูพิษมิตรคดจึงหมายถึงคนชั่วไม่ควรไว้วางใจ นอกจากนั้น ยังมีสำนวนที่กล่าวเป็นการเตือนใจไว้ว่า “อย่าลากงูตามหลัง” หมายถึงอย่าคบคนชั่วเป็นเพื่อนนั่นเอง
งูเป็นสัตว์ร้าย เมื่อพบงูเราจึงหาทางกำจัด วิธีการกำจัดงูที่มักทำกันทั่วไป คือ การตี คนโบราณสอนไว้ว่า “อย่าตีงูข้างหาง” หรือ “อย่าจับงูข้างหาง” เพราะงูอาจหันมาฉกกัดเอาได้ สำนวนว่าตีงูข้างหาง จึงหมายถึง ทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรจะเกิดอันตรายได้ นอกจากนั้นคนโบราณท่านยังสอนไว้อีกว่า ตีงูต้องตีให้ตาย เพราะเชื่อกันว่า งูเป็นสัตว์ที่มีความอาฆาตพยาบาทรุนแรง ถ้าทำให้บาดเจ็บแต่ไม่ถึงตาย มันจะกลับมาแก้แค้นภายหลัง ดังสำนวนว่า “ตีงูให้หลังหัก” หมายถึงการทำสิ่งใดแก่ศัตรูโดยไม่เด็ดขาด จริงจัง ย่อมจะได้รับผลร้ายภายหลัง
นอกจากนั้นยังมีสำนวนเกี่ยวกับการตีงูอีกสำนวนหนึ่ง คือ การตีงูจนตายแต่เป็น “ตีงูให้กากิน” ขยายความได้ว่า เมื่อเราตีงู งูอาจจะกัดผู้ตี การตีงูให้ตายเป็นการทำบาป ซากงูก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องตกเป็นอาหารของแร้งกา สำนวนนี้จึงหมายถึง การลงแรงทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนซ้ำบางครั้งอาจเกิดโทษด้วย แต่ประโยชน์ที่ได้จากการกระทำนั้นกลับไปตกแก่ผู้อื่น การขว้างสิ่งต่าง ๆ เป็นการปาสิ่งนั้นออกไปให้พ้นตัว แต่การขว้างสิ่งของที่มีความยาว เช่น เชือกให้ออกไปไกลตัวจะทำให้ลำบาก เพราะปลายเชือกอาจตวัดมาโดนตัวได้ ยิ่งเป็นการขว้างสิ่งมีชีวิต เช่น งูด้วยแล้ว ยากที่จะขว้างให้พ้นไปได้ง่าย ๆ ปกติเมื่อนึกถึงงู เรามักจะนึกถึงความดุร้าย ความชั่วร้าย ความไม่ดี ดังนั้นสำนวนว่า “ขว้างงูไม่พ้นคอ” จึงหมายถึงปัดเรื่องร้ายออกไปไม่พ้นตัว หรืออาจหมายถึง ทำอะไรแล้วผลร้ายย้อนกลับมาสู่ตนเองได้
งูเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาว ปกติหัวงูกับหางงูจะอยู่กันคนละทาง แต่เมื่อหัวงูหันมาทางหางภาพที่เห็นคือเส้นของลำตัวงูที่มาต่อกันเป็นวง เกิดเป็นสำนวนว่า “งูกินหาง” ซึ่งหมายถึงวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น บางครั้งอาจหมายถึง พัวพันกันยุ่งเหยิง หรือเกี่ยวโยงกันไปเป็นทอด ๆ
บางคนเชื่อว่าตาของงูมีอำนาจ เมื่องูมองเหยื่อ เช่น กบ เขียด จะเหมือนมีพลังสะกดสัตว์เหล่านั้นให้อยู่กับที่ หรืออาจเป็นเพราะสัตว์เหล่านั้น ตกใจ ตกตะลึง ไม่แน่ใจว่างูที่กำลังจ้องเป๋งมาที่ตนเองนั้นจะมาไม้ไหน งูก็ใช้โอกาสนั้นฉกกัดเหยื่อได้โดยง่าย บางคนจึงเปรียบงูกับการมีเล่ห์เหลี่ยม พลิกแพลง เจ้าเล่ห์เพทุบาย ความหมายในแง่นี้ปรากฏอยู่ในสำนวน “เฒ่าหัวงู” ซึ่งใช้ในความหมาย คนแก่เจ้าเล่ห์ หรือคนอายุมากที่มีเล่ห์กลมีอุบายในการหลอกเด็กสาว ๆ ส่วนมากสำนวนเฒ่าหัวงูใช้ในเชิงชู้สาว เมื่อพูดถึงงูงู ทำให้นึกถึงสำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งเราไม่ค่อยนำมาใช้บ่อยนัก คือ “งูเห่านอนซ่อนเศียร” เป็นการเปรียบงูกับคนชั่ว ซ่อนเศียร คือ ซ่อนพิษร้าย ซ่อนความชั่วร้ายเอาไว้ สำนวนนี้จึงหมายถึงคนชั่วซ่อนความร้ายกาจเอาไว้
มีคำเกี่ยวกับงูที่คนไม่ค่อยรู้จักกันอยู่คำหนึ่งคือ “เฆาะงอกับงู” เฆาะ (ฆ ระฆังสระเอาะ) เป็นลายสักโบราณมีตัวอักษร ฆ ระฆัง และง งู มีลายอุณาโลม ๙ (คล้ายเลขเก้าไทย) อยู่ข้างบนลักษณะของรูปอุณาโลมเป็นลายขดคล้ายงู การสักตัวอักษร ฆง (ฆ ระฆัง ง งู มีลายอุณาโลมอยู่ข้างบน)นี้ จึงเรียกกันทั่วไปว่า เฆาะงอกันงูเชื่อกันว่าเป็นการสักเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน
เมื่ออยู่ยงคงกระพันแล้วจะกลัวอะไร บางคนอาจไม่กลัวตายกล้าไปล้วงคองูเห่า สำนวนว่า “ล้วงคองูเห่า” หมายถึง อุกอาจ ล่วงล้ำ กล้าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเอาสิ่งของต่าง ๆ ของผู้มีอำนาจโดยไมเกรงกลัว พูดง่าย ๆ ก็คือ การกระทำการล่วงอำนาจของผู้ที่เหนือกว่าได้
เมื่อเห็นของที่มีลักษณะหลายแบบหลายอย่างปนกันอยู่ดูไม่เข้ากัน เป็นคนละพวกกัน เรามักจะเรียกว่า “หัวมังกุฏท้ายมังกร” แต่สำสวนนี้เป็นสำนวนที่ใช้กันผิดเพี้ยนจนเป็นความเคยชินและคิดว่าถูกต้อง อันที่จริงควรใช้ว่า “หัวมังกุท้ายมังกร” เพราะมังกุเป็นสัตว์ในนิยาย แต่จะมีรูปร่างอย่างไรไม่มีหลักฐานบ่งบอกไว้ ทราบกันแต่เพียงว่าสมัยโบราณมีเรือมังกุ ซึ่งกาญจนาคพันธุ์นักปราชญ์ทางภาษาสันนิษฐานว่า คงเป็นเรือที่มีการทำหัวเรือเป็นมังกุซึ่งเป็นสัตว์ในนิยายส่วนท้ายเรือทำเป็นรูปมังกร เรียกเรือลักษณะแบบนี้ว่า เรือหัวมังกุท้ายมังกร ต่อมาสำนวนนี้จีงหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะผสมของแบบที่แตกต่างกันไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน อักษราก็เลยขอนำสำนวนนี้มาอยู่ในกลุ่มของสำนวนที่เกี่ยวกับงูไปด้วยเลย
ชึ้นชื่อว่างู ไม่ว่าจะเป็นงูตัวเล็กหรืองูตัวใหญ่ ก็ล้วนแต่เป็นอันตราย ต้องระมัดระวัง ต้องบอกว่า ขออย่าได้พบพานงูเงี้ยวเขี้ยวขอเห็นจะดีที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น