.

ยินดีต้อนรับสู่ นานาจัง ขีดๆเขียนๆ แวะมาอ่านนานาสารพัน รวมถึงฟังเพลงเพราะๆได้คะ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถนนวิทยุ


ถนนวิทยุ



        ถนนวิทยุ เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ ๔ (แยกวิทยุ) ในท้องที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนสารสิน (แยกสารสิน) และถนนเพลินจิต (แยกเพลินจิต) จากนั้นข้ามคลองแสนแสบเข้าสู่ท้องที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี และไปสิ้นสุดที่ถนนเพชรบุรี (แยกวิทยุ-เพชรบุรี) ชื่อถนนมาจากสถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่านคือ สถานีวิทยุแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของสวนลุมพินี ซึ่งต่อมาบริเวณนี้เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เหลือเพียงเสาอากาศ เป็นเสาเหล็กสามเหลี่ยมโปร่ง สูงประมาณ ๖๐ เมตร และอาคารสถานีซึ่งเป็นตึกชั้นเดียว แต่ในปัจจุบันได้มีการรื้อเสาและตัวอาคารออก เพื่อจัดทำเป็นบริเวณสวนลุมไนท์บาร์ซาร์

        ก่อนการตั้งสถานีวิทยุแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นนั้น เคยมีสถานีวิทยุเฉพาะส่วนราชการทหารเรือ ซึ่งจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้งขึ้น โดยใช้เครื่องรับส่งของบริษัทเทเลฟุงเก้น แบบประกายไฟฟ้า (Spark) โปรดเรียกเครื่องรับส่งนี้ว่า ราดิโอเทเลกราฟ (Radiotelegraph) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ บัญญัติศัพท์ภาษาไทยให้ใหม่ว่า “วิทยุ” มาจากภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้ว่า "วิชชุ" แปลว่า แสงไฟฟ้า หรือสายฟ้า ซึ่งหมายถึงกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่เคลื่อนไปตามอากาศโดยไม่ต้องใช้สาย และอาจเปลี่ยนเป็นเสียงหรือรูปได้ 

        ต่อมา พลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระบิดาแห่งวิทยุกระจายเสียง) ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมได้ทรงริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเริ่มทดลองส่งกระจายเสียง ณ ตึกทำการไปรษณีย์ ปากคลองโอ่งอ่าง ชื่อ “สถานีวิทยุ ๔ พีเจ” และในพ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ย้ายสถานที่ทำการส่งกระจายเสียงมาตั้งเป็นการถาวร ณ สถานีวิทยุ ตำบลศาลาแดง ให้ชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่ศาลาแดง ๗ พีเจ” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิดสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ณ ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ และเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมถนนเพลินจิตกับถนนพระราม ๔ ผ่านสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่ศาลาแดง ๗ พีเจ จึงให้นามถนนตามสถานที่สำคัญแห่งนี้ว่า “ถนนวิทยุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น